WEB 3.0 คืออะไร? วิวัฒนาการของการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนและไร้ตัวกลาง?

หากกล่าวถึงเทคโนโลยี ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Blockchain, Smart Contract และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการเงินแบบเดิม ทำให้เกิดเป็น Decentralized Finance (DeFi) เป็นบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำไปประยุกต์ใช้กับงานศิลปะ หรือ ของสะสมต่าง ๆ เกิดเป็น Non-Fungible Token (NFT) ที่ได้มอบสิทธิความเป็นเจ้าของ (Ownership) ให้แก่ผู้ถือครองอย่างแท้จริง จนไปถึงมีการนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ให้กับอุตสาหกรรมเกม เกิดเป็นเกมใหม่ ๆ อย่าง AXS, GALA ที่ทำให้การ Play-to-Earn ในอุดมคติกลายเป็นความจริงขึ้นมา

ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำมาใช้เพื่อพัฒนา World Wide Web หรือ Website ที่เรียกกันว่า Web 3.0 ถือเป็นแนวทางของ Website ในอนาคต ที่จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะมาแชร์กันในครั้งนี้

วิวัฒนาการของเว็บไซต์ (Website)

โดยก่อนอื่นเราขออนุญาตเริ่มจากการเล่าถึงวิวัฒนาการของเว็บไซต์ก่อน เพื่อให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับลักษณะของแต่ละรูปแบบ และทราบถึงข้อกำจัดในการใช้งานต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้

WEB 1.0

Web 1.0 เป็นเว็บไซต์ในช่วงยุคเริ่มต้นราวปี 1990 – 2000 ที่สร้างขึ้นจาก ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) เป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นระบบข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ World Wide Web โดยได้มีการออกแบบเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ซึ่งเป็นรากฐานของเว็บไซต์ได้แก่ HTML, URL และ HTTP

Web 1.0 จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบสื่อสารทางเดียว (One Way Communication) โดยผู้สร้างเนื้อหา หรือ เจ้าของเว็บ จะเป็นผู้กำหนดส่วนของเนื้อหาทั้งหมดให้แก่ผู้ใช้งาน หรือ ผู้บริโภค รับรู้ข่าวสารได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ และข้อมูลที่มีการนำเสนอมานั้นจะมีลักษณะแบบคงที่ (Static) เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถทำการอัปเดตได้นอกจากเจ้าของ หรือผู้สร้างเนื้อหา ส่งผลให้เกิดข้อกำจัดทั้งในเรื่องของการสื่อสาร และการใช้งานระหว่างกัน จนได้มีการเริ่มพัฒนาต่อเป็น Web 2.0 ขึ้นมา

WEB 2.0

Web 2.0 เป็นการพัฒนาให้สามารถทำได้ทั้งอ่าน และเขียนเพื่อโต้ตอบกันได้อย่างอิสระเป็นแบบสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) และข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนอนั้นจะมีการพัฒนาเป็นแบบ Dynamic สามารถอัปเดตข่าวสารได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้บริโภคในการสร้างสรรค์เนื้อหา Content ต่าง ๆ หรือ พูดคุยโต้ตอบระหว่างกันบนเว็บไซต์ได้ ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานมากมายบนอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดเป็นสังคมออนไลน์ Social Network และมีข้อมูลเป็นจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาสู่อินเทอร์เน็ต เป็นเหตุให้จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่าง Facebook (Meta), Google เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยดูแลจัดการข้อมูลทั้งหมด และเชื่อมต่อผู้คนต่าง ๆ เข้ามาใช้งานได้อย่างสะดวก เป็นต้น

แต่ทว่าปัญหาตามมาทีหลัง เช่น ตัวกลางเป็นคนดูแลข้อมูล จะทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมของผู้ใช้งานทั้งหมด ซึ่งสามารถนำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้แก่ การขายข้อมูลให้แก่องค์กรต่าง ๆ, การขายโฆษณาต่าง ๆ บนพื้นที่เว็บ เพื่อสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาลให้แก่ตนเอง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุของการต่อยอดพัฒนาแนวคิด Web 3.0 ที่จะลดทอนบทบาทของตัวกลางออกไป และมอบสิทธิการดูแลควบคุมข้อมูลให้แก่ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

WEB 3.0

Web 3.0 คือแนวคิด หรือรูปแบบของเว็บไซต์ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมาในอนาคต โดยเราจะแบ่งแนวคิดนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ แนวคิดมุมมองในอดีต และมุมมองในปัจจุบัน

แนวคิดมุมมองในอดีต

อ้างอิงข้อมูลในรายงาน Paper เมื่อปี 2001 ของ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี มีมุมองเกี่ยวกับ Web 3.0 เป็นเทคโนโลยีหรือแนวความคิดที่จะพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์ ที่เนื้อหามีความเกี่ยวข้องกันทั้งภายในเว็บ และจากเครือข่ายทั่วโลก ทำให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เชื่อมโยงระหว่างกันแบบเครือข่าย และมีการพัฒนาในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) ที่จะเข้าช่วยเหลือในส่วนการอธิบายข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด และครอบคลุมตรงกับความต้องการของผู้ใช้อย่างสมเหตุผลมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้เขายังได้ทำการก่อตั้งองค์กรเว็บไซต์สากล (World Wide Web Consortium หรือ W3C) ซึ่งเป็น Community ที่อุทิศตนในการพัฒนาเรื่องมาตรฐานสากลของเว็บไซต์ ซึ่งได้มีการนำเสนอแนวคิดที่อาจสามารถปฏิวัติลักษณะของเว็บไซต์ และจะมีความสอดคล้องเหมือนกับแนวคิดมุมมองในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

  • Decentralized (มีการกระจายอำนาจผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากส่วนกลางในการโพสต์ข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์, ไม่มี Node ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุม (เซิร์ฟเวอร์) ส่งผลให้ไม่เกิดปัญหา Single Point of Failure)
  • Bottom-up Design (การออกแบบพัฒนาโค้ดที่คำนึงถึงผู้ใช้งานส่วนใหญ่ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ แทนที่การใช้งานโค้ดแบบที่เขียนได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญ หรือ กลุ่มคนส่วนน้อย)
  • Consensus (มีการตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใสที่ทุกคนต้องยินยอมและเห็นพ้องกัน เพื่อให้การทำงานทั้งหมดเป็นไปในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน)

แนวคิดมุมมองในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก Dr. Gavid Wood เป็นทั้งอดีต CTO ของ Ethereum และผู้ก่อตั้ง Web 3.0 Foundation ที่เป็นกำลังพัฒนาแนวทางของอินเทอร์เน็ตในยุคต่อไป โดยเขาได้อธิบายแนวคิด Web 3.0 ว่า เป็นวิสัยทัศน์ของรูปแบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตที่จะไม่มีเซิร์ฟเวอร์, เป็นเว็บไซต์ที่มีการกระจายอำนาจ และเป็นอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถควบคุมข้อมูล อัตลักษณ์ตัวตนทางโลกดิจิทัล และทำให้เรากำหนดทิศทางตนเองได้อย่างแท้จริง

องค์ประกอบของ WEB 3.0 เป็นอย่างไร?

WEB 3.0 คืออะไร? วิวัฒนาการของการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนและไร้ตัวกลาง?

เราจะขออ้างอิงองค์ประกอบของ Web 3.0 จาก Web 3.0 Foundation ที่ได้แสดงข้อมูลของ Technology Stack ของเว็บไว้ให้ โดยแบ่งออกเป็น 5 Layers ได้แก่

  • Layer 0 เป็นส่วนพื้นฐานของ Stack เทคโนโลยีของ Web 3.0 ที่ประกอบไปด้วยวิธีการสื่อสารของ Nodes ต่าง ๆ และวิธีการติดตั้งโปรแกรมในระดับ Lowest Level
  • Layer 1 เป็นส่วนที่ทำหน้าทั้งในส่วนของการจัดเก็บ, แจกจ่าย และการโต้ตอบข้อมูลระหว่าง Nodes ด้วยกัน
  • Layer 2 เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุน Layer 1 ด้วยการเพิ่มความสามารถฟังก์ชันต่าง ๆ อย่างเช่น การทำ Scaling, การจัดเก็บข้อมูลแบบเข้ารหัส (Encrypted Messaging) และ Distributed Computing (เป็นการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเข้าด้วยกันบนเครือข่ายเข้าเป็นกลุ่ม เพื่อแบ่งปันข้อมูลและประสานพลังการประมวลผล)
  • Layer 3 เป็นส่วนเกี่ยวกับภาษาโปรแกรมมิ่ง และ Libraries ที่รวบรวมชุดฟังก์ชันต่าง ๆ เพื่อสำหรับให้นักพัฒนาเข้ามาใช้พัฒนาตัว Applications ได้อย่างเหมาะสม
  • Layer 4 เป็นส่วนบนสุดของ Stack ที่ได้รวบรวมโปรแกรมต่าง ๆให้ผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่ใช่นักพัฒนาเข้ามาใช้งานโดยตรงกับ Blockchain ได้

WEB 3.0 มีประโยชน์อย่างไร?

Open and Permissionless

Web 3.0 นั้นจะให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือ บริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระปราศจากตัวกลางเข้ามาคอยควบคุม และทำการ Censorship การเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ เช่น บริการทางการเงินที่บางประเทศนั้นไม่อนุญาตให้มีการเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองได้ เป็นต้น

ความปลอดภัยและสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูล

Web 3.0 นั้นมีการใช้งานเทคโนโลยีเบื้องหลังของคริปโตฯ ต่าง ๆ เช่น Bitcoin, Ethereum, Polkadot เป็นต้น ส่งผลให้ระบบการเก็บรักษาข้อมูลนั้นมีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้ และมีการกระจายอำนาจจากตัวกลางที่ควบคุมข้อมูล จึงทำให้ผู้ใช้งานมีสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลตนเองอย่างเต็มที่

WEB 3.0 เกี่ยวข้องอย่างไรกับคริปโตฯ?

หากอ้างอิงข้อมูลจากภาพ Technology Stack ของ Web 3.0 เราจะเห็นได้ว่าภายใน Layers ต่าง ๆ ที่เป็นเบื้องหลังของฐานเว็บไซต์นั้น จะอาศัยเทคโนโลยีของคริปโตฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในการนำมาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างเช่น

  • Layer 1 ในส่วนของ Zero/low Trust Interaction Protocols จะมีการอธิบายวิธีการที่ทำให้ Nodes ในระบบที่ไม่รู้จักกันสามารถทำงานโต้ตอบกันได้ และมีการคำนวณความน่าเชื่อถือข้อมูลที่จากแต่ละ Nodes ได้ ซึ่งได้รับอิทธิพลวิธีการมาจาก Bitcoin และ Ethereum
  • Layer 2 ในส่วนของ Plasma Protocols จะเป็นการอธิบายวิธีการ Scaling ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรองรับข้อมูล มีลักษณะการสร้าง Tree of Blockchains ที่สามารถทำการแบ่ง Chain ลูกออกมาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลวิธีการมาจาก Loom Network และ OmigeGO

กล่าวโดยสรุป Web 3.0 ยังเป็นแนวคิดของรูปแบบเว็บไซต์ในอนาคต แต่ด้วยพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาปรับใช้เป็นพื้นฐานในการสร้าง Web 3.0 ได้ ซึ่งจะทำให้แนวคิดในอุดมคติที่วางเอาไว้สามารถทำให้กลายมาเป็นความจริงได้ ส่วนการพัฒนาและการเติบโตของ Web 3.0 จะส่งผลดีต่อคริปโตเคอเรนซีตัวไหน หรือส่งผลดีต่อธุรกิจใดบ้าง เพราะธุรกิจนั้นอาจจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของได้ บทความหน้าเราจะมาขยายความเพิ่มเติมกันอีกครั้ง

Zipmex

TSF2024