เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมากมายที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาด และ Sentiment ของนักลงทุนส่วนใหญ่จากเหตุการณ์ stETH กับ USDD ที่เกิดหลุดการตรึงมูลค่าอ้างอิง และความกดดัน MicroStrategy หลังจากที่ราคา Bitcoin ปรับลงไปถึงช่วงบริเวณ 21,000 BTC/USD ซึ่งเป็นเหตุให้เราจะมาทำความเข้าใจในเหตุการณ์ทั้ง 3 เรื่องกันว่า แต่ละเรื่องนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุน และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างไร
เหตุการณ์ stETH ส่งผลกระทบต่อ Ethereum ได้อย่างไร
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคา Ethereum ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องของการทดสอบระบบ Ethereum 2.0 บน Testnet ที่ชื่อว่า Ropsten ไปได้ด้วยดีแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการล่วงลงของราคา Ethereum ครั้งนี้ก็คือเหรียญ stETH หรือ Staked Ethereum
โดยจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาเครือข่าย Ethereum 2.0 ที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบจาก Proof-of-work ไปเป็น Proof-of-stake เพื่อยกระดับศักยภาพในการดำเนินงาน และรองรับธุรกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมากในอนาคต
นอกจากนี้ Ethereum 2.0 ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมเป็น Validator Nodes ในการช่วยตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่ายได้ด้วยการนำเอาเหรียญ ETH มา Staked ในระบบเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 32 ETH คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับราคา ETH ในขณะนั้น) ถือว่าจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงในการจะเข้ามาเป็น Validator ของผู้ใช้งานทั่วไป จึงทำให้เกิดโซลูชั่นอย่างแพลตฟอร์ม Lido Finance ขึ้นมาช่วยแก้ไขข้อจำกัดตรงนี้
Lido Finance จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยการรวบรวมเหรียญ ETH จากผู้ใช้งานที่เข้ามาฝาก หลังจากนั้นทาง Lido ก็จะนำไปฝากบนเครือข่าย Ethereum 2.0 ให้ และจ่าย Staking Reward ให้ตามสัดส่วนที่ผู้ใช้งานนำเอา ETH มาฝาก ซึ่งผู้ฝากจะได้รับเหรียญ stETH แทน ETH ในอัตรา 1:1 พร้อมกับมีการอิงมูลค่าเอาไว้ให้ใกล้เคียงกับ 1 ETH และจะสามารถแลกคืนเป็น ETH ได้ก็ต่อเมื่อหลังการเครือข่ายได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น Ethereum 2.0 เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
จากภาพเป็นข้อมูล On-chain ของกองทุน Almeda ที่ได้มีการขาย stETH ออก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://news.coincu.com/98421-overview-steth-depeg-and-celsius/
สิ่งที่ไปกระตุ้นในช่วงแรกแก่นักลงทุนที่ถือครอง stETH ให้แห่เทขายก็คือกองทุน Almeda (กองทุนของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์คริปโตฯ FTX ) ได้เทขาย stETH /ETH เป็นจำนวนประมาณ 50,000 เหรียญบนแพลตฟอร์ม Curve ในราคาขาดทุน ส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนที่มองว่า Smart Money อาจเห็นอะไรบางอย่างไม่ดีเกิดขึ้นหรือเปล่าจึงเป็นเหตุให้ขายออกมาก่อน ถือเป็นการจุดชนวนให้นักลงทุนเริ่มเทขาย stETH ตามออกมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น จนทำให้ราคา stETH เกิดหลุดมูลค่าอ้างอิงกับ ETH อย่างมีนัยสำคัญขึ้น
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://coinmarketcap.com/currencies/steth/steth/eth/
หลังจากกระแสการขาย stETH ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็ส่งผลต่อราคา stETH บนแพลตฟอร์ม DeFi ที่รองรับการใช้งานเหรียญ โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์ม Celsius ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการฝากและกู้ยืมคริปโตฯ รูปแบบ Centralized Finance (CeFi) ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกือบ 20 % ต่อปี จึงทำให้มีนักลงทุนเป็นจำนวนมากเข้ามาฝากเพื่อให้ Celsius นำเอาเหรียญต่าง ๆ เป็นไปสร้างผลตอบแทน ซึ่งเหรียญ stETH ก็เป็นหนึ่งในนั้น
โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Coindesk ที่ได้มีการบอกว่า ทาง Celsius นั้นที่มีการนำเอาเหรียญ stETH เป็นจำนวนเกือบ 500 ล้านเหรียญไปวางค้ำประกันเพื่อกู้ยืม Stablecoin ออกมา และหลังจากเหตุการณ์ที่ราคา stETH เกิดหลุดมูลค่าอ้างอิง ส่งผลให้อาจเกิดจากบังคับขายเหรียญ stETH ที่ทาง Celsius วางค้ำไว้ผนวกกับแรงขายจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต่างก็เริ่มตื่นตระหนกตาม ซึ่งทำให้ภาพรวมราคาของ stETH ปั่นป่วนทั้งตลาด
จากภาพเป็นข้อมูลทาง Dune analytics ของเหรียญ stETH บนแพลตฟอร์ม Curve
จากภาพเป็นข้อมูลทาง Dune analytics ของเหรียญ stETH บนแพลตฟอร์ม 1inch
จนต่อมามีข่าวจากทางนักวิเคราะห์ของ Nansen ที่รายงานเกี่ยวกับ Celsius ว่าได้มีการโอนย้ายเหรียญ stETH บางส่วนไปยังแพลตฟอร์ม FTX โดยมีการสันนิษฐานกันว่าเป็นการนำออกมาไปขายก่อน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบเนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมแบบ Off-chain และในระยะเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนทาง Celsius ได้ออกประกาศงดให้บริการการถอน แลกเปลี่ยน และโอน ระหว่างบัญชีเป็นการชั่วคราว โดยให้เหตุผลมาจากความผันผวนของตลาดคริปโตฯ และรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่เข้าใช้งานไว้ตลอดจนไปถึงการบริหารความเสี่ยงของแพลตฟอร์ม
เปรียบเสมือนระเบิดอีกหนึ่งลูกหลังจากเกิดการจุดชนวนครั้งแรกจากกองทุน Almeda ส่งผลให้นักลงทุนที่ลงทุนบน Celsius ต่างหมดความเชื่อมั่น และกังวลในพฤติกรรมอันไม่โปร่งใส จนต้องเทขายทั้งเหรียญ CEL (เหรียญของแพลตฟอร์ม Celsius) และ stETH ตามออกมา
ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้นักลงทุนที่เหลือในตลาดต่างก็กังวล และกลัวเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับเคส Luna ทำให้เกิดสภาวะ Panic เทขาย ETH ออกมากันก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยง และถือเงินสดเอาไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ให้คลี่คลายก่อนนั่นเอง
USDD เกิดหลุดมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผลักดันราคาเหรียญ TRX ลงดิ่งอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เหรียญ Stablecoin คือ USDD ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นบนเครือข่าย Tron มีลักษณะเป็น Algorithmic Stablecoin ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเคส UST ของ LUNA โดยมีการอาศัยใช้งานตัวอัลกอริทึมในการบริหารจัดการ และตรึงมูลค่าเหรียญ USDD ให้ใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอาไว้ผ่านกลไก Mint & Burn ระหว่างเหรียญ USDD กับ TRX บนเครือข่าย
- หาก USDD มีมูลค่ามากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทางกลไกก็จะมีการสร้าง USDD เพิ่มเข้ามาในระบบ (เพื่อเพิ่มปริมาณ Supply อันเป็นการช่วยลดราคา) และจะมีการเผา TRX ในมูลค่าที่เท่ากันออกจากระบบ
- ในทางตรงกันข้ามหาก USDD มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระบบก็จะเผา USDD ออกจากระบบ (เพื่อลดปริมาณ Supply ลงอันเป็นการช่วยดันราคา) และจะมีการสร้าง TRX มาชดเชยในมูลค่าเท่ากัน
จากเหตุการณ์ที่ USDD หลุดมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัย และยังไม่สามารถปรับกลับขึ้นไปได้จึงทำให้ระบบพยายามเผา USDD พร้อมกับสร้าง TRX ออกมาเป็นจำนวนมากจนส่งผลเสียต่อราคา TRX ซึ่งด้วยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในช่วงตลาดขาลงบวกกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นนั้นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างก็ขาดความเชื่อมั่น และยากต่อการช่วยผลักดันราคา USDD และ TRX ให้กลับมาได้
แต่ว่าทาง Tron ก็ได้มีการจัดตั้ง Tron DAO Reserve ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ Luna Foundation Guard (LFG) ของเครือข่าย LUNA ในการดูแล และบริหารเงินสำรองเพื่อที่จะช่วยพยุงราคา USDD ควบคู่กันไป
ความแตกต่างระหว่างเคสของ LFG กับ Tron DAO Reserve
จากเคสของ LFG ในอดีตที่เกิดขึ้นกับ UST ในอดีต จึงทำให้ทาง Tron DAO ได้เอาสิ่งต่าง ๆ มาแก้ไขคือการเก็บสำรองเงินทุนในเหรียญต่าง ๆ นอกเหนือจาก Bitcoin
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://tdr.org/ (ณ วันที่ 14.6.2022)
จากภาพเป็นเหรียญต่าง ๆ ที่ทาง Tron DAO ได้ทำการเก็บสำรองเอาได้แก่ TRX, BTC, USDT และ USDC เพื่อนำใช้ช่วยรักษาเสถียรภาพราคา USDD เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่ามากประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของ USDD ที่มีอยู่ 723 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่หลายเท่าตัว
โดยหากพิจารณาเฉพาะ Stablecoin อย่าง USDT กับ USDC นั้นมีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และความมั่นใจแก่นักลงทุนที่ถือครอง USDD ได้
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://tdr.org/ (ณ วันที่ 14.6.2022)
จากภาพแสดงการเปรียบเทียบสัดส่วนของเหรียญ Stablecoin ต่าง ๆ โดยเฉพาะของ USDD ที่มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันอยู่มากถึง 316 % หากเทียบกับเหรียญอื่นที่จะมีอยู่ประมาณ 100-120 %
นอกจากนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์ทาง Justin Sun ก็ได้ทวีตถึง เรื่องที่ทาง Tron DAO ได้นำเงินสำรองออกมาใช้งานอย่างเช่น การนำเงินสำรองไปซื้อ TRX กลับคืนบน Binance เพื่อป้องกันกลุ่มนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short เหรียญ TRX เอาไว้ และมีการเพิ่มปริมาณ USDC เข้ามาเก็บสำรองไว้อีกเป็น 500 ล้านเหรียญในวันที่ 14 มิถุนายน 2022 จึงทำให้ปัจจุบันทาง Tron DAO สำรอง USDC ไว้ถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ตามภาพประกอบด้านบน) เป็นต้น
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://twitter.com/justinsuntron/status/1536690372201562112
จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาจะทำให้เราเห็นว่า ทาง Tron DAO Reserve เองนั้นก็ได้มีการออกมาป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มความที่ และไม่ต้องการที่จะให้ซ้ำรอยกับเคส UST ของ LUNA โดยบทสรุปจะไปในทิศทางใดนั้นเราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป
ความกดดันของ MicroStrategy ต่อการถือครอง Bitcoin ในช่วงเวลานี้
MicroStrategy บริษัทผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งนักลงทุนรายใหญ่ที่ได้เข้ามาลงทุนใน Bitcoin อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงข้อมูลที่ทางบริษัทได้มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2022 ทาง MicroStrategy ได้มีการถือครอง Bitcoin เป็นจำนวนราว 130,000 BTC และมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,700 BTC
ภายใต้สถานการณ์ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลขาลง และกระทบต่อราคา Bitcoin ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความมั่งคั่งของ MicroStrategy
จากภาพเป็นข้อมูลของทาง Bloomberg ที่ชี้ให้เห็นถึงมูลค่าของ Bitcoin ที่ทาง MicroStrategy ถือครองอยู่ โดยจากเดิมที่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากที่ Bitcoin ปรับลงมาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2022 จนมีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทนั้น Unrealized Loss เป็นจำนวนเงินเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่สิ่งที่นักลงทุนในตลาดจับตามองสถานการณ์ของ MicroStrategy คือ การที่ทางบริษัทนั้นได้มีการกู้ยืมเงินเป็นมูลค่า 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับทางธนาคาร Silvergate และมีการนำเอา Bitcoin มาวางค้ำไว้เป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาใช้ซื้อ Bitcoin เพิ่ม และใช้ในธุรกรรมอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท
อ้างอิงจากข้อมูลที่ทางบริษัทเคยเปิดเผยไว้ในการประชุม Conference Call เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หาก Bitcoin นั้นปรับราคาลดลงต่ำกว่า 21,000 เมื่อไหร่แล้วนั้น ทางบริษัทอาจถูกเรียกให้วางหลักประกันเพิ่มได้ ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดหากบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้เกิดบังคับขายหลักประกันก็คือ Bitcoin ออกมาจนกระทบต่อราคา Bitcoin ให้ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญได้
ล่าสุดทางบริษัทออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า แม้ราคา Bitcoin จะผันผวนในขณะนี้ แต่ MicroStrategy ยังไม่ได้ถูกเรียกให้วางหลักประกันเพิ่มแต่อย่างใด สำหรับวงเงินกู้ยืมจากธนาคาร Silvergate และบริษัทยังมีความพร้อมที่จะวาง Bitcoin เพิ่มเติมได้อยู่ตลอดเพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกันให้เป็นไปตามเงื่อนไข
นอกจากนี้ทาง Michael Saylor ที่เป็น CEO ของบริษัทได้ออกมาทวีตว่า ทางบริษัทได้มีคาดการณ์ถึงความผันผวนที่จะเกิดขึ้นพร้อมทั้งยังได้มีการวางแผนบริหารจัดการโครงสร้างงบดุลอย่างเหมาะสมที่จะช่วยให้บริษัทสามารถถือ Bitcoin ผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://twitter.com/saylor/status/1536695409648836609
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เรายังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า บริษัทนั้นจะมีมาตรการอย่างไรต่อการบริหารทั้งเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการจัดการหลักประกันอย่างเหมาะสมตามให้สามารถผ่านพ้นจากสถานการณ์ที่กดดัน และบีบคั้นในช่วงเวลานี้ไปได้
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุนผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลรวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้