Quantable Podcast EP5 :  “อยากลงทุนแนว Quant ควรเริ่มจากไหน ศึกษาอะไรก่อนดี?”

การลงทุนแนว Quantitative แม้จะแพร่หลายมาในประเทศไทยหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน ในบทความนี้ของเราจึงอยากจะมาแชร์เกี่ยวกับแนวทางการศึกษาของสาย Quant หรือการลงทุนแนว Quantitative ว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงจุดไหน หรือควรศึกษาจากอะไรก่อนดี เพื่อให้คนที่สนใจสามารถไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นครับ

ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของสาย Quant

คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ขึ้นชื่อว่า Quant ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าพื้นฐานเรื่องตัวเลข เรื่องการคำนวณสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวัด การประเมินผล ล้วนแล้วแต่ต้องใช้คณิตศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงไปครับ เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงเพียงแค่เบสิคแบบไม่เกินความรู้ชั้นมัธยมปลาย แต่ที่สำคัญคือ Logic หรือการคิดแบบ Logic และที่สำคัญคือ “ลำดับการดำเนินการทางคณิตศาสตร์” เช่น บวก ลบ คูณ หาร อะไรมาก่อนมาหลังเพราะในการเขียน Code เพื่อวัด เพื่อหาค่าบางอย่างถ้าเราไม่แม่นเรื่องนี้อาจจะเหนื่อยพอสมควร
ส่วนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาอังกฤษก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญเพราะความรู้ ตำรา ในสายนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ หากเราขาดความเข้าใจตรงจุดนี้ก็คงศึกษาความรู้ในสายนี้ได้ยากพอสมควรครับ

พื้นฐานด้านสถิติศาสตร์ ทักษะที่สองก็แอบยากอีกรึเปล่าเนี่ย อิอิอิ แต่ความเป็นจริงไม่ได้ยากขนาดนั้นครับ เนื่องจากการทดสอบโมเดลต่างๆ มันจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขหรือ Ratio ฉะนั้นการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถิติจะช่วยให้เราประเมินผลลัพธ์ได้ดีและยังเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

ความรู้ด้านการลงทุน อันนี้ชัดเจนมากๆ เพราะหากต้องการจะผันตัวเองมาศึกษาและลงทุนในสาย Quant แค่ตัวเลขไม่พอแน่นอน แต่ต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค การบริหารพอร์ต การบริหารความเสี่ยง และจิตวิทยาการลงทุน จึงจะสามารถตั้งสมมติฐานที่ถูกต้อง พูดง่ายๆคือตั้งโจทย์ถูก ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ

ความรู้ด้านการออกแบบกลยุทธ์และการทดสอบโมเดล แม้จะมีความรู้ด้านการลงในเบื้องต้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำมาสร้างเป็นกลยุทธ์ที่ครบทุกองค์ประกอบ บางคนก็เรียกว่าระบบเทรด ฉะนั้นเราจะต้องสามารถออกแบบวิธีการเข้าซื้อ ขายออก การตัดขาดทุน การคัดสินทรัพย์เข้าตะกร้า วิธีการจัด Rank น้ำหนักการลงทุนและอีกมากมาย อีกทักษะนึงคือความรู้เรื่องการทดสอบโมเดล ว่าจะทดสอบอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร วัดผลอย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นการทดสอบ Data แบบ In-Sample and Out-of-sample , การทดสอบ Factor ที่มีจำเป็นจริงๆในกลยุทธ์นั้น เป็นต้น

ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และ Coding เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาหนักใจของใครหลายๆคน ยิ่งถ้าไม่ได้เรียนสายนี้มาโดยตรงด้วย ในช่วงแรกของการเรียนรู้ตอบแบบไม่โกหกกัน ก็เรียกได้ว่าแอบยากอยู่ครับ แต่ผมเชื่อว่ามันก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่เคยทำ ไม่เคยลอง อย่างทุกคนขับรถครั้งแรกก็ดูยากดูงงไปหมด พอผ่านไปสักพักก็จะเริ่มชินมือมากขึ้น แต่ข้อดีคือคนไทยใจดีครับถามอะไรไปก็มีคนมาช่วยกันตอบช่วยกันแชร์ ตอนผมเริ่มศึกษาสาย Quant ใหม่ๆเมื่อ 10 ปีก่อน ผมคิด Indicator ขึ้นมาใช้เอง แต่เขียน Code ทดสอบไม่ค่อยเก่งก็เลยถามเข้าไปเว็บไซต์แห่งหนึ่งให้คนอื่นช่วยสอน เค้าก็ใจดีสอนให้ครับ ไม่ต้องกังวลไปครับทุกคน

เว็บไซต์ที่ให้ความรู้การลงทุนแนว Quant

SiamQuant เนื้อหาและความรู้จากเว็บไซต์นี้บอกได้เลยว่าครบถ้วนมากๆในสาย Quant มีทั้งบทความเกี่ยวกับแนวคิดการลงทุน กลยุทธ์ต่างๆ การทำระบบ การนำปัจจัยต่างๆมาทดสอบ เป็นต้น ผู้ก่อตั้งชื่อคุณมด มนสิช จันทนปุ่ม หรือพี่มดแมงเม่าคลับนั่นเอง ใครที่ยังใหม่แต่สนใจสายนี้ถ้าพอมีเวลาผมแนะนำให้เข้าไปที่เว็บไซต์แมงเม่าคลับก่อน ไล่ออกบทความเก่าๆ มาจนถึงปัจจุบัน บอกได้คำเดียวว่าครบจบในที่เดียว
ThaiQuants สำหรับคนที่สนใจด้านทดสอบระบบ เขียน Code เว็บไซต์นี้เหมาะมากๆ ครับ มีทั้งเนื้อหาแบบบทความ เนื้อหาแนว VDO ประมาณแบบ Code บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้ายกันเลยทีเดียว เว็บไซต์ก่อตั้งโดย ดร.ชาคริต ที่จบด้าน Simulation และ Optimization มาโดยตรงครับ ลองเข้าไปศึกษากันดูนะครับ

Chaloke Dot Com นักลงทุนในไทยน่าจะรู้จักคุณลุงโฉลกกันทุกคน ยิ่งถ้ามือเก๋าๆหน่อยคงจะรู้จัก CDC PnT กันบ้างไม่มากก็น้อย หลายคนอาจเถียงว่า คุณลุงโฉลกนี่สายดูกราฟเพียวรึเปล่า แต่ในความเป็นจริง เซียนเทคนิคอลหลายคนในไทยล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ CDC แทบทั้งสิ้นเพราะยุคนั้นสอนแบบลงสูตรคำนวณกันเลยทีเดียว เพราะในท้ายที่สุดทุกคนที่ใช้ก็จะนำไปต่อยอด พัฒนาระบบเทรด เป็นแนว Quantitative เป็นระบบเขียวแดงที่ทุกคนเห็นกัน “เขียวแดงดูง่าย แต่แนวคิดไม่ง่าย” นะครับ ยุคนั้นส่วนใหญ่ใช้ Meta Stock ทดสอบกัน แม้จะได้ไม่ครบทุกองค์ประกอบเช่นเรื่องการลงทุนเป็นพอร์ตแต่ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้อยู่เพื่อลำลึกความหลัง เหมือนคนชอบฟังแผ่นเสียงนั่นแหละครับ

หนังสือแนะนำ ในส่วนของหนังสือที่ผมแนะนำ ที่คิดว่าน่าจะปูพื้นฐานความคิดด้านการออกแบบกลยุทธ์การลงทุนแนว Quantitative ผมหยิบมา 3 เล่มที่ผมชอบส่วนตัวนะครับ จริงๆแอบเลือกยากเพราะหนังสือที่ชั้นมีเป็นพันเล่มเลย ให้หยิบมา 3 เล่มนี่หนักใจ อิอิอิ ไปเล่มที่หนึ่งกันเลยดีกว่า

1. How to Make Money in Stocks

เล่มนี้ถือเป็นแนวการลงทุนสายผสมหรือ Hybrid ของ William J. O’Neil เจ้าของคอนเส็ป CANSLIM อันโด่งดัง ซึ่งจะพูดถึงแนวทางในการคัดหุ้นโดยใช้ Factor ทั้งพื้นฐานและเทคนิค ฯลฯ พร้อมยกตัวอย่างแบบละเอียดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีมุมของการบริหารความเสี่ยง การตัดขาดทุน จิตวิทยาการลงทุน ครบครับ

2. Trade Like a Stock Market Wizard

หนังสือแนว Hybrid จากแชมป์เทรดหุ้นจากสหรัฐฯ คุณ Mark Minervini บางคนที่อ่านแล้วจะบอกว่าคล้ายๆกับ How to Make Money in Stocks แต่ในมุมมองของผมคือสิ่งที่เค้าค้นพบจากตลาดคือเรื่องเดียวกัน มองเห็น Factor คล้ายๆกันจากการทำวิจัยและประสบการณ์หลายปี ไม่มีจะเป็นเรื่องของ Growth , Momentum , Value , Size เป็นต้น อีกทั้งยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและจิตวิทยาการลงทุนอีกด้วย เป็นของดีที่ต้องมีติดบ้านไว้ครับ

3. The Winning Investment Habit of Warren Buffett & George Soros

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายๆคน ในหนังสือจะยก Topic ต่างๆ ขึ้นมา แล้วอธิบายในมุมของกลยุทธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เหมือนกันคือแก่นของวิธีคิด อุปนิสัยและความเชื่อ หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เรารู้ว่า “จุดร่วม” ของสองเทพด้านการลงทุนคืออะไร

4. คเณิร์ตศาสตร์ เรียนเลขไปทำไม.. ใครรู้บ้าง

หากชีวิตนี้อยากจะลองเป็นเด็กเนิร์ดกับเค้าดูบ้างสักครั้ง ผมขอแนะนำเล่มนี้เลยครับ ทำไมน่ะหรอ?? ส่วนตัวยกให้เล่มนี้เป็นประตูสู่คณิตศาสตร์แบบนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันเลยครับ และที่สำคัญเขียนโดยคนไทย คือคุณ พรพุฒิ สุริยะมงคล เคยทำงานด้านเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์สิงคโปร์ จะมาเล่าให้คุณฟังถึงภาพกว้าง, แนวคิดของเบื้องหลังสมการต่าง ๆ ให้เข้าใจกันอย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Logarithm, จำนวนเฉพาะ, Exponential หรือ ความน่าจะเป็น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นรากฐานของการคิดและพัฒนาเชิง Quantitative อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเล่มนี้ จะเปรียบเหมือนติวเตอร์วัยรุ่น ที่คอยตบบ่าสอนคุณในร้านกาแฟช่วงวันหยุดเลยทีเดียว

5. ADVANCES in FINANCIAL MACHINE LEARNING : Marcos Lopez de Prado

หากเล่มที่แล้วเหมือนพี่ ๆ ติวเตอร์ในร้านกาแฟ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุน มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาและนักพัฒนาระบบเทรดให้กับหลายกองทุนที่เป็น Quant fund ดัง ๆ หลายเจ้าเลยครับ ต้องบอกก่อนว่าเล่มนี้ Advance สมชื่อจริง ๆ เหมาะกับผู้ที่เคยเขียนโปรแกรมมาแล้ว หรือเข้าใจ concept ในการเขียนภาษา Python เพราะในเล่มมีโค้ด Python สอนเลย พร้อมกับการนำเรื่อง Machine Learning มาประกอบด้วย เช่นการทำ ML asset allocation, backtest system, feature importance, Labeling method ไปจนถึงเรื่อง quantum computer ในตอนท้ายกันเลย

โดยผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นเรื่อง Meta Labeling Method นะครับแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะนำโค้ดไปรันได้เลยนะครับ เพราะเป็นโค้ดที่เรียกว่า function เท่านั้น คือจะมีการบอกว่า คิดอะไรขึ้นมาได้ ใช้งานอย่างไร และนำไปเขียนโค้ดอย่างไรครับ

สุดท้ายนี้การเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆนั้นยากเสมอครับ ยากตั้งแต่ตัดสินใจเริ่ม ยากตอนเรียนรู้ ยากตอนลงมือทำ ต้องขอโทษด้วยที่บอกว่ายาก เพราะยุคนี้เรามีแต่แข่งกันสื่อสารอะไรให้ “ง่าย” ให้เข้าใจง่าย ให้ย่อยง่าย แต่ผมว่าการบอกถึง Fact และสื่อสารในแบบกลางๆ น่าจะดีสุดในมุมมองของผม เพราะง่ายไปก็ไม่ได้อะไร จับต้องไม่ได้ ยากไปคนก็ไม่เอาด้วย ทางสายกลางนี่แหละครับ คุยแบบกลางๆ ยากง่ายพอดีๆน่าจะเหมาะสมที่สุดครับ

ZIPMEX x FINNOMENA


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

TSF2024