Quantable Podcast EP20 : 4 ข้อผิดพลาดของการลงทุนอย่างเป็นระบบที่ทุกคนต้องพบเจอ
“วิธีการลงทุนที่ดีที่สุดในโลก” ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้นไม่มีอยู่จริง บางคนอาจจะออกแบบกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเยอะที่สุด แต่รอบในการเทรดเข้าออกก็ไม่ได้บ่อยมาก แถม Max DD% ก็สูงอีก นั่นทำให้คนที่ชอบเทรดเร็วหรือไม่ชอบความผันผวนอาจจะไม่ชอบกลยุทธ์นี้ก็ได้ แม้กระทั่ง Cryptocurrency ที่ผลตอบแทนสูงมากในช่วงที่ผ่านก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้คือสินทรัพย์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์หรือกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบใดก็ตามจะมีพฤติกรรมเฉพาะตัวเสมอ ฉะนั้นจะตัดสินด้วยเหตุผลบางประการหรือการประเมินบางอย่างคงไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เต่าเดินช้า ไม่ทันใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเต่าดีหรือไม่ดีแต่นั่นคือพฤติกรรมเฉพาะของเขา
Quantable ใน EP เก่า ๆ ของเรานำเสนองานวิจัย ข้อสังเกตุมากมายในเชิงวิทยาศาสตร์ ในเชิงตัวเลข กับกลยุทธ์ที่หลากหลาย สินทรัพย์ที่หลากหลาย และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้หลายท่านมีไอเดียที่ดียิ่งขึ้นในการนำไปต่อยอดด้านการลงทุนของตนเองซึ่งนั่นก็เป็นจุดประสงค์หลักของเราเช่นกัน
การลงทุนอย่างเป็นระบบคือสิ่งที่ทำได้ยากในทางปฎิบัติ ?
แม้จะมีระบบหรือวิธีการลงทุนที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน หรือไปซื้อใครมาด้วยราคาแพงเท่าไหร่ก็ตาม หากเราไม่เข้าใจข้อดี ข้อจำกัด หรือแก่นแท้ของวิธีการที่เราใช้ ในท้ายที่สุด เราจะเป็นคนเดินจากลากับกลยุทธ์เหล่านั้นออกมาเอง ยิ่งถ้าเป็นระบบที่คนอื่นสอนหรือทำมาขาย เรายิ่งจะมีโอกาสสูงมากในการหันหลังให้กับมัน ในบทความนี้ของเราจึงอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวบางอย่างในเชิง “จิตวิทยา” ของการลงทุนอย่างเป็นระบบแบบเห็นภาพมากที่สุดครับ
1. นักลงทุนส่วนใหญ่มักไม่มองแค่สัญญาณซื้อขายแต่พิจารณาปัจจัยอื่นอยู่เสมอ
หัวข้อนี้อ่านผ่าน ๆ ก็เหมือนจะดี เพราะการดูแค่สัญญาณซื้อขาย Buy Sell โดยไม่นำปัจจัยอื่นมาวิเคราะห์เลยจะดีได้อย่างไร แต่หากลองย้อนกระบวนความคิดตั้งต้นของการออกแบบกลยุทธ์ วิธีการ ระบบการลงทุน นั่นคือเราต้องการที่จะจับพฤติกรรมบางอย่างของตลาด ต้องการสร้างโอกาสจากช่องว่างที่มีอยู่ แปลว่าเราจะต้องวิจัยอะไรหลายอย่างมากอยู่แล้ว ก่อนจะได้เงื่อนไขการตัดสินใจที่เด็ดขาดแบบวัดได้ ตรวจสอบได้ เพื่อให้เรา Action ได้ทันท่วงทีกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการมัวแต่ยึกยักตัดสินใจช้าให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเลยจากผลทดสอบเก่า ๆ ที่เราเคยนำเสนอไปแล้ว
(Data & Template สำหรับงานวิจัยนำมาจากwww.siamquant.com)
จากภาพประกอบเป็นระบบการลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้านราคาและปัจจัยพื้นฐานมาออกแบบ จะสังเกตุเห็นว่ามีสัญญาณซื้อหรือ Buy Signal ตั้งแต่ราคาประมาณ 10 บาท แล้วราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนมา Peak ประมาณ 45 บาทและเริ่มแกว่งตัวกรอบกว้างจนมีสัญญาณขายหรือ Sell Signal ช่วง 30 แปลว่าเราคืนกำไรไปพอสมควรถ้านับจากราคาสูงสุดจนถึงสัญญาณขายที่ 30 บาท นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความเจ็บปวดสำหรับหลายคน แม้จะได้กำไรกว่า 300 % แล้วจากสถานะนี้ แต่มันเคยได้กำไรถึง 450% เลยนะ!!
ประเด็นหนึ่งที่เป็นกันเยอะตามหัวข้อนี้คือเราจะพยายามหาปัจจัยอื่น ๆ มาวิเคราะห์ “หน้างาน” จนทำให้นอกแผนของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาที่มีสัญญาณขายออกมาชัดเจนแล้ว แต่กำไรของบริษัทยังออกมาเติบโตก้าวกระโดด ดูจาก ROE ก็ดีขึ้น PE Ratio ก็ดูถูกจนน่าสนใจ EPS หรือ Net Profit ก็เติบโตขึ้นทุกไตรมาสจะขายตามสัญญาณทำไม งบดีให้ซื้อเพิ่ม ! ยิ่งราคาลงแปลว่าได้ของถูก ! หลังจากนั้นราคาก็ล่วงลงมาถึง 20 บาทในขณะที่งบไตรมาสถัดไปก็ยังคงดีอยู่
2. ไม่ใช่ทุกสัญญาณจะได้ผลดีตลอดเวลา
ตัวอย่างนี้มีสัญญาณซื้อที่ยอดดอยพอดี ราคาขึ้นจาก 8 บาท แล้วมาเกิดสัญญาณซื้อตอนประมาณ 24 บาท เราก็ทำตามระบบไปเพราะเราไม่มีทางรู้อนาคตว่าจะได้หรือจะโดนในไม้นี้ มันอาจจะไป 80 บาทก็ได้ แต่เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือซื้อแล้วราคาแกว่งอยู่ 1 เดือนเต็ม ๆ หลังจากนั้นก็ลงจนเกิดสัญญาณขาย พอเรามาย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่อยากที่จะทำตามระบบเลย เพราะสัญญาณซื้อที่ดีไม่น่าจะพาไปซื้อตรงยอดดอย แต่ในความเป็นจริงทุกสัญญาณที่เกิดขึ้น มันตรงตามเงื่อนไขทั้งหมดที่เราทำการบ้านมาเป็นอย่างดีแล้ว ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบเรื่องนี้ได้ 100% เลยครับ
(Data & Template สำหรับงานวิจัยนำมาจากwww.siamquant.com)
3. ราคาขึ้นมาเยอะมาก มีสัญญาณซื้อ แต่รอให้ย่อหน่อย
ข้อนี้เหมือนหลุมดำที่ใครก็มักจะตกกันอยู่บ่อย ๆ เวลาที่สินทรัพย์นั้นขึ้นมาเยอะแล้ว ต่อให้มีสัญญาณซื้อเข้ามา หลายคนก็ลังเลที่จะตามเลยทันที ยิ่งถ้าก่อนหน้านี้เข้าไปแล้วติดดอยแบบตัวอย่างที่แล้ว เราอาจจะละเลยสัญญาณที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ในความเป็นจริงโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเหมือนในครั้งก่อนหรือไม่ ถ้าละเลยสัญญาณแล้วมันขึ้นไปไกลเราจะทำอย่างไร
(Data & Template สำหรับงานวิจัยนำมาจากwww.siamquant.com)
จากภาพประกอบสังเกตุได้ว่า Buy Signal เกิดตอนราคาประมาณ 15 บาท แต่ราคาขึ้นมาจาก 5 บาทแปลว่าขึ้นมาแล้ว 200% ต่อให้เงื่อนไขครบงบดีเราก็ลังเลอยู่ดี ส่วนใหญ่มักจะรอให้ราคาปรับฐานแล้วค่อยหาจังหวะเข้าไปรับเอง แต่ตัวอย่างนี้หลังจาก Buy Signal ที่ 15 บาทหุ้นก็วิ่ง Move เดียวไปถึง 70 บาทภายในปีเดียว ทำให้คนที่รอ เงยคอดู ตกรถไปตาม ๆ กัน
4. เปลี่ยนม้ากลางศึกหรือเปลี่ยนระบบกลางทาง
คนเราทุกคนต้องการตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่แล้วครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าระบบที่เราออกแบบมาจะดีแค่ไหน แต่เราอดไม่ได้ที่จะมีการเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นอยู่เสมอ สมมติมีหุ้นหนึ่งตัวราคาขึ้นดีมากแต่ระบบเราไม่มีสัญญาณซื้อ สิ่งที่เราจะทำก็คือไปดูในระบบหรือกลยุทธ์อื่น ๆ ว่าหุ้นตัวนี้มีสัญญาณหรือไม่ การทำแบบนี้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องอาจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเราสามารถพัฒนาแก่นจากข้อสงสัยและการหาคำตอบได้ แต่การพยายามจะ “กินทุกเม็ด” ทำให้มีแนวโน้มสูงมากที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปมาระหว่างทาง ทั้งที่ความเป็นจริงแต่ละกลยุทธ์ก็ต่างกัน ข้อดีข้อจำกัดก็ต่างกันอีก ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เหมือนธาตุไฟเข้าแทรก แล้วมั่วในท้ายที่สุด
(Data & Template สำหรับงานวิจัยนำมาจากwww.siamquant.com)
จากภาพประกอบเป็นสามระบบที่รายละเอียดต่างกัน ทำให้สัญญาณซื้อขายก็ไม่เหมือนกัน แต่หากนับดูผลตอบแทนของพอร์ต ความเสี่ยงในระยะยาวทั้งสามแบบอาจจะเท่ากันก็ได้ แต่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของนักลงทุนเองทำให้เราอาจจะพลาดหรือหนักหน่อยคือลงทุนมั่วจนเกิดความเสียหายไปเลยก็ได้
ทุ่มเท ทุ่มเท ทุ่มเท
การเหนือกว่าคนอื่นในทุก ๆ เรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝน และทำความเข้าใจในสิ่งนั้นเป็นระยะเวลายาวนาน แต่การจะทำอย่างนั้นได้อย่าง “มีความสุข” เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เราต้องการอะไร และทุ่มเทพลังงานไปไขว่คว้าเอามันมาให้ได้ ถ้าเป้าหมายทางการเงินของเราเปรียบเหมือนเหรียญทองโอลิมปิก สิ่งที่เราต้องทำในฐานะนักกีฬาคือ “เข้าสนามซ้อมเป็นคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้าย” ขอให้ทุกคนโชคดี ได้เหรียญทองในเกมส์ชีวิตของคุณเองนะครับ
ZIPMEX
ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี
App Spotify
https://finno.me/spotify
App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast
Apple podcast
https://finno.me/applepodcast
App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud
Podbean
https://finno.me/podbean
Youtube
https://finno.me/youtubepodcast