Quantable Podcast EP11 : กลยุทธ์ MACD ในคริปโตกับผลลัพธ์ที่แตกต่างของค่าธรรมเนียม

ช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมานั้นหัวข้อการสนทนาของนักลงทุนรวมถึงเทรดเดอร์หลายคนน่าจะหนีไม่พ้นเรื่องของผลตอบแทนที่ค่อนข้างเยอะของสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเช่น Bitcoin ที่ปรับตัวขึ้นมากว่า 700 % จากต้นปี 2020 จนไปทำจุดสูงสุดที่ 1,800,000 บาทก่อนเกิดการปรับฐานครั้งสำคัญ อย่างที่ทุกคนจะทราบกันดีว่าสินทรัพย์ไหนก็ตามเมื่อราคาปรับตัวขึ้นจะลงทุนอย่างไร เล่นยาวเล่นสั้น หรือแม้กระทั่งเดย์เทรดซื้อขายรายวันก็ยังมีโอกาสได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่หลายสิ่งที่เราลืมนึกถึงไปเลยก็คือเรื่องของต้นทุนในการทำธุรกรรม

หากเราได้กำไรจากการลงทุนไม่ว่าจะมากหรือน้อย เรามักจะหลงลืมดูเรื่องต้นทุนในการทำธุรกรรมหรือค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย เพราะมีผลต่อพอร์ตเรามากแบบที่นึกไม่ถึงเลยทีเดียวครับ เวลาที่เราทำธุรกิจซื้อของมาขายต่อ การผลิตของเพื่อมาขายต่อ เรากังวลและให้ความสำคัญมากกับเรื่องต้นทุน ทำทุกทางเพื่อให้ต้นทุนถูกลง แต่ยามเทรดกลับมองข้ามประเด็นนี้ไป บทความนี้ของเราจะมาขยายความและทำการบ้านเรื่องนี้ให้ทุกคนดูครับ

ยิ่งซื้อขายบ่อยเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียมยิ่งสำคัญ

ในการทดสอบของเราครั้งนี้ขอหยิบเครื่องมือง่าย ๆ ที่หลายคนรู้จักกันดีมาเป็นสัญญาณซื้อ สัญญาณขาย ก็คือเครื่องมือที่ชื่อว่า Moving Average Convergence Divergence (MACD) โดยมีสมมติฐานและเงื่อนไขดังนี้ครับ

  1. เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
  2. ช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ 1/1/2015 – 31/12/2020
  3. สัญญาณซื้อขาย = MACD > Signal , MACD < Signal
  4. สินทรัพย์ที่ทำการทดสอบ  BTC , ETH
  5. ค่าธรรมเนียม = 0.25 % , 0 %

ถ้าอยากรู้กันแล้วว่าผลการทดสอบนั้นแตกต่างกันแค่ไหน ตามมาดูกันเลยครับ

ซื้อขายบิทคอยน์แบบเสียค่าธรรมเนียม

จากภาพประกอบจะเห็นได้ชัดเลยว่า สินทรัพย์ที่เติบโตสูงและเป็นขาขึ้นอย่าง Bitcoin จะใช้วิธีการไหน ท่าไหน ก็สามารถทำให้พอร์ตเติบโตได้ อย่างกลยุทธ์การดู MACD Cross Signal เป็นสิ่งที่หลายคนรู้จัก เคยศึกษา เคยใช้ประกอบการตัดสินใจมาแล้ว เราจึงหยิบมายกตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม่ได้มีเจตนาชี้นำว่าใช้วิธีการนี้แล้วจะดีในอนาคตนะครับ

ผลลัพธ์ที่ได้คือจากเงิน 1 ล้านบาทขยับไปเป็น 35 ล้านภายใน 6 ปี คิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้น 81 % มีการเทรดทั้งหมด 80 ครั้ง ผลกำไรต่อครั้งโดยเฉลี่ย 20 % ขาดทุนต่อครั้ง 6.7 % และข้อสำคัญคือกว่า 80 รอบที่ทำการเทรดซื้อขาย ๆ เราเสียค่าธรรมเนียมไป 3.3 ล้านบาท!!!

ซื้อขายบิทคอยน์แบบไม่เสียค่าธรรมเนียม

ไม่น่าเชื่อเลยว่าเมื่อเราไม่ต้องเสียต้นทุนการทำธุรกรรมหรือค่าธรรมเนียมในการซื้อขายผลลัพธ์จะแตกต่างกันขนาดนี้ จากเงิน 1 ล้านบาทเท่ากันกลายมาเป็น 52.8 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 94 % จำนวนการเทรด 80 ครั้ง กำไรโดยเฉลี่ยต่อครั้ง 21 % ขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้ง 6.2 % ทั้ง ๆ ที่ใช้สัญญาณซื้อขายเดียวกัน จำนวนเงินเท่ากันแต่ทำไมพอณืตถึงโตต่างกันได้มากขนาดนี้

สาเหตุก็เป็นเพราะว่า ในทุกครั้งที่เราเข้าไป Action ในตลาด จะซื้อจะขาย จะกำไรหรือขาดทุน เราจะถูกหัก Value บางส่วนเล็ก ๆ จากพอร์ตของเราเสมอ นั่นทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นตลอดครับ

  1. เวลากำไรก็ถูกหัก Value บางส่วนออกไป
  2. เวลาขาดทุนก็ถูกหัก Value บางส่วนออกไป

ซึ่งในส่วนนี้ไม่นับการลงทุนผ่านกองทุนรวมนะครับ เพราะลงทุนผ่านกองทุนคือการที่เราให้ผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการพอร์ตให้เรา ซึ่งการดูแลเหล่านั้นมีต้นทุนบ้างอยู่แล้ว ในกรณีนี้หมายถึงการเทรดด้วยตนเองเท่านั้น

เมื่อเรา Run Model นี้ไปเรื่อย ๆ เวลากำไรถูกดึงเงินออก เวลาขาดทุนก็ถูกดึงเงินออก แม้ครั้งแรกอาจเป็นเงินที่ไม่เยอะ แต่เมื่อหลายครั้งมากขึ้น เราเทรดบ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น การทบต้นของเงินก็จะน้อยกว่าการไม่เสียต้นทุนหรือเสียต้นทุนถูกกว่าอยู่แล้วครับ

ซื้อขายอีเธอเรียมแบบเสียค่าธรรมเนียม

อีเธอเรียมคืออีกหนึ่งเหรียญที่ปรับตัวขึ้นแรงมากในปีที่ผ่านมา แรงกว่า Bitcoin ด้วยซ้ำแต่หลายคนมักไม่ค่อยพูดถึง หากนับจากช่วงต้นปี 2020 อีเธอเรียมปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดก่อนการปรับฐานกว่า 1,500 % เรามาดูผลลัพธ์กันครับว่าถ้าเราเป็นสายเทรดโดยใช้ MACD และ Signal โดยที่เสียค่าธรรมเนียมกับไม่เสียค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันมากแค่ไหน

จากเงินหนึ่งล้านบาท กลายเป็น 273 ล้านภายใน 6 ปี คิดเป็นผลตอบแทน 155 % ต่อปี ผลกำไรเฉลี่ยต่อครั้ง 50 % ขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้ง 9.18 % และเสียค่าธรรมเนียมถึง 34.8 ล้านบาท !!! หากนำค่าธรรมเนียมนี้มาคิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าพอร์ตจะอยู่ที่เกือบ 13 % เลยทีเดียว

ซื้อขายอีเธอเรียมแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม

ส่วนพอร์ตที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายนั้นผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ถ้านับแค่เงินในพอร์ตนั้นต่างกันถึง 103 ล้านหรือกว่า 37 % ครับ

ทุกปัจจัยล้วนมีผลต่อการพอร์ตลงทุนเราเสมอ

ทุกองค์ประกอบที่เราเคยหยิบมาคุยกันไม่ว่าจะเป็นสัญญาณซื้อ สัญญาณขาย การวางเงิน การบริหารพอร์ต การกระจายความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งการคุมต้นทุนของเราให้น้อยที่สุด ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้พอร์ตของเราแตกต่างกับนักลงทุนท่านอื่น ๆ อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเลือกให้ดีนะครับ ทุกการตัดสินใจในวันนี้คือผลลัพธ์ที่แตกต่างของเราในวันพรุ่งนี้เสมอครับ

ZIPMEX


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

TSF2024