หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2008 ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็ได้ปรับตัวขึ้นมหาศาล นักลงทุนหลายคนที่เข้ามาลงทุนในช่วงนั้นสามารถเปลี่ยนฐานะตัวเองจากคนธรรมดากลายเป็นผู้ที่มี Wealth หรืออาจจะมี Financial Freedom กันเลยทีเดียว แล้วเรื่องราวที่หอมหวานเช่นนี้ก็ย่อมเป็นที่ต้องการของหลายต่อหลายคน ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจในเรื่องของการลงทุนทยอยกันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนครับว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงที่พบนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะสินทรัพย์ทุกชนิดแม้จะอยู่ในภาวะ Bull Market แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาจะมีแต่ขึ้นอย่างเดียวไม่มีลง ระหว่างนั้นบอกได้เลยว่าสวิงกันจนเวียนหัวเหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกาเลยครับ จนทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมีกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความสนใจและพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในบ้านเราเพราะมองว่ามีความปลอดภัย ไม่ซับซ้อนเหมาะสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจการลงทุนแต่อาจจะยังไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร แต่ยังอยากที่จะเก็บออมและลงทุนในสินทรัพย์ที่ตัวเองเชื่อมั่นในระยะยาว สิ่งนั้นมีชื่อเรียกว่า DCA หรือ Dollar Cost Average ครับ

DCA คืออะไร

DCA ย่อมาจาก Dollar Cost Average คือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยที่เราสามารถกำหนดการลงทุนของเราเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคา ณ ตอนนั้นจะเป็นเช่นไร นั่นเท่ากับว่าเราใช้เงินก้อนเท่ากันทุกงวดซื้อสินทรัพย์ที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เราสามารถซื้อสินทรัพย์ในจำนวนที่มากขึ้นเมื่อราคาปรับตัวลดต่ำลงและจะซื้อได้น้อยลงเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนนี้ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนเลยครับว่าต้องการลงทุนงวดละเท่าไหร่ทำให้พนักงานประจำหรือผู้มีรายได้สม่ำเสมอสามารถวางแผนการเก็บออมของตนเองได้เป็นอย่างดีครับ

DCA ไม่ใช่เครื่องมือแต่มันคือกลยุทธ์

หลายคนจะเข้าใจว่า DCA คือ Function ที่เราจะต้องไปตั้งค่าให้ตัดเงินเท่าไหร่ ตัดเงินวันไหนและนำไปซื้อสินทรัพย์ใดบ้าง แต่ในความเป็นจริง DCA เป็นเพียงกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งเท่านั้นที่ใครก็สามารถส่งคำสั่งซื้อด้วยตัวเองได้เลย มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดเหมือนกลยุทธ์อื่น ๆ ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเชื่อมั่นในสินทรัพย์ชนิดใดในระยะยาว เราสามารถประยุกต์ใช้การ DCA ในสินทรัพย์นั้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin

เราสามารถ DCA ใน Bitcoin ได้หรือไม่ ถ้าหากเทียบกับ DCA ในตลาดหุ้นผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

สำหรับนักลงทุนหลายท่านน่าจะเคยอ่านบทวิจัยเกี่ยวกับการ DCA ในตลาดหุ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ถ้าพูดถึงการ DCA ในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin ล่ะครับ ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร รวมถึงมีความแตกต่างกับ DCA ในตลาดหุ้นหรือไม่ บทความนี้ของ ZIPMEX จะมาทดสอบให้ดูครับ

เราทำการตั้งสมมติฐานขึ้นมาเล่น ๆ แบบนี้ครับ สมมติว่าเรามีเงินสดที่ตั้งใจจะลงทุนในสินทรัพย์สักหนึ่งชนิดเป็นจำนวน 1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนมากพอประกอบกับไม่มีเวลาติตตามข่าวสารการลงทุนตลอดเวลา จึงตัดสินใจที่จะใช้การลงทุนแบบ DCA เท่ากันทุก ๆ เดือน เดือนละ 1 หมื่นบาท แต่ยังลังเลอยู่ว่า จะ DCA ในสินทรัพย์อะไรดี ระหว่างตลาดหุ้นไทย หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin ทาง ZIPMEX จึงพาทุกคนย้อนเวลากลับไปสัก 5 ปีเพื่อดูว่าหากเริ่มต้นในวันนั้นผลลัพธ์ในวันนี้จะเป็นอย่างไร

  • เงินทุนทั้งหมด 1 ล้านบาท ทยอยแบ่งลงทุนทุกเดือน ๆ ละ 1 หมื่นบาท
  • เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2015 – ปัจจุบัน
  • สินทรัพย์ดิจิทัลเราเลือก Bitcoin เนื่องจากได้รับความนิยมมากกว่าเหรียญชนิดอื่น ๆ และมี Market Cap ใหญ่ที่สุด
  • ตลาดหุ้นเราเลือกดัชนี Set50 มาทำการทดสอบ
  • ค่า Fee ในการซื้อขายอยู่ที่ 0.20 %
  • เรามาดูผลลัพธ์กันครับ

DCA ในตลาดหุ้น

(เส้นสีเขียวด้านบนคือกราฟเงินทุนของเรา (Equity Curve) เส้นสีแดงตรงกลางคือความผันผวนของพอร์ต (Drawdown) ส่วนด้านล่างสีส้มคือช่วงเวลาที่พอร์ตเราไม่มีการเติบโต (Longest Drawdown))

จากรูปภาพจะสังเกตุได้ว่าในช่วงแรก ๆ ของการทยอยลงทุน เนื่องจากเราใส่เงินทีละ 1 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับพอร์ตของเรามันเป็นเพียง 1 % เท่านั้น ทำให้กราฟเงินทุนหรือ Equity Curve มีการขยับน้อยมาก เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้นน้ำหนักที่เราใส่ลงไปในหุ้นเริ่มเพิ่มมากขึ้น กราฟเงินทุนก็จะผันผวนมากขึ้น โดยที่พอร์ตนี้มีช่วงเวลาที่เงินทุนเติบโตสูงสุดเกือบ 1,100,000 บาท แต่พอมาเจอกับเหตุการณ์โรคระบาดในปี 2020 พอร์ตเราก็เริ่มติดลบเรื่อย ๆ จนมาต่ำสุดที่ 800,000 บาท และค่อย ๆ ตีตื้นกลับมาจบที่ 922,782 บาท ใช้เวลาลงทุนแบบ DCA 5 ปีกับอีก 6 เดือนครับ

(จากรูปด้านบนคือผลตอบแทนของการลงทุนแบบ DCA ในตลาดหุ้น แบบเดือนต่อเดือน)

DCA ใน Bitcoin

เส้นสีเขียวด้านบนคือกราฟเงินทุนของเรา (Equity Curve) เส้นสีแดงตรงกลางคือความผันผวนของพอร์ต (Drawdown) ส่วนด้านล่างสีส้มคือช่วงเวลาที่พอร์ตเราไม่มีการเติบโต (Longest Drawdown))

ผลลัพธ์ของการ DCA ใน Bitcoin นั้น ช่วงแรกก็มีความคล้ายคลึงกับพอร์ตตลาดหุ้น แต่ด้วยความที่สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ และ Bitcoin มีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 จนถึงต้นปี2018 นั่นเลยทำให้พอร์ตรวมของเราเติบโตเป็นอย่างมากโดยขึ้นไปสูงสุดถึง 14,000,000 บาท !! แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือปี 2018 Bitcoin ถูกเทขายจากจุดสูงสุดพอสมควร ระหว่างทางเราก็ต้องมีวินัยปฎิบัติตามแผนการ DCA ตลอดด้วยนะครับ
Maximum Drawdown หรือ การลดลงจากจุดสูงของกราฟเงินทุน ลดลงมาเหลือ 3,000,000 บาท!! ผันผวนเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาใช่ไหมครับ และด้วยความที่ราคา Bitcoin มีการเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง พอร์ตก็มาจบที่ 8,000,000 บาทโดยประมาณ ใน 5 ปีกับอีก 6 เดือน

(จากรูปด้านบนคือผลตอบแทนของการลงทุนแบบ DCA ใน Bitcoin แบบเดือนต่อเดือน)

เหตุผลที่เรานำผลการทดสอบมาให้ทุกท่านดูนั้นไม่ได้ต้องการชี้ประเด็นเรื่องของจำนวนเงินหรือการเติบโตของพอร์ตที่มากมายขายฝันขนาดนั้นนะครับ แต่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อมีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันคือ
การลงทุนแบบ DCA เป็นเพียงกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งเท่านั้น หากเราต้องการใช้วิธีนี้สำหรับลงทุนในระยะยาวควรคำนึงถึงชนิดของสินทรัพย์และความเสี่ยงที่เราต้องการจะเลือกลงทุนด้วย (ซึ่งตัว Asset มีผลมาก ๆ ครับ)

เราอยากให้นักลงทุนทุกคนเห็นความสำคัญของการออม เนื่องจาก DCA ทำให้เราจำเป็นต้องกันเงินในทุกเดือนเพื่อมาลงทุนซึ่งมันคือวินัยที่ดี ไม่เช่นนั้นเราคงซื้อของอย่างอื่นจนเงินหมดไปแล้วครับ
อยากให้ทุกคนโฟกัสเรื่องการลงทุนแบบระยะยาว ไม่ว่ากลยุทธ์จะเป็นเช่นไร การที่เราวางโจทย์ด้านการลงทุนแบบ Long Term Investment ผลลัพธ์ที่เราได้มักจะดีเสมอ

ประเด็นหลักที่เราอยากจะบอกก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม เช่น Bitcoin มีความเสี่ยงและความผันผวนเสมอครับ แม้ผลตอบแทนจะเยอะแค่ไหนแต่ระหว่างทางแกว่งไปแกว่งมาแบบนี้หัวใจเราวายก่อนพอดี ฉะนั้นเมื่อเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว เลือกสินทรัพย์ที่เราเชื่อมั่นแล้ว เราต้องคอยบริหารความผันผวนของพอร์ตรวมถึงความผันผวนของจิตใจอยู่ตลอดเวลาที่เราลงทุนครับ

Zipmex

ที่มาบทความ: https://zipmex.co.th/learn/dca-in-bitcoin-vs-stock

TSF2024