กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พลังแฝงที่เติบโตตามระยะเวลาทำงาน
เมื่อสมัยที่ผมทำงานห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ผมได้รับเงินเดือนเริ่มต้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่หน่อยนึง ได้ประมาณ 9,xxx บาท มีปรับฐานเงินเดือนประจำปี ทำอยู่ได้ 5 ปีกว่าๆ เกือบ 6 ปี เงินเดือนตอนนั้นประมาณ 12,xxx บาท แล้วได้ลาออกไป ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินแสนมาก้อนนึง (ผมเลือกหัก 5.5% สูงที่สุดที่เลือกได้) ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง จากที่ทำงานไปวันต่อวัน ใช้เงินหมดไปเดือนต่อเดือน ไม่เหลือเงินเก็บ หมดไปกับค่าครองชีพ กลายเป็นได้รับเงินก้อนจากกองทุนสำรองฯ ถ้าหากวางแผนการเงินดี สามารถมีเงินสำรองสำหรับตอนเกษียณ หรือนำไปลงทุนอื่นๆก็ทำได้
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund จะหักเงินเดือนจากลูกจ้างส่วนหนึ่งเรียกว่า”เงินสะสม” และนำเงินจากนายจ้างมาสมทบอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า”เงินสมทบ” จำนวนเท่าๆกัน เป็นประจำทุกเดือน แล้วนำไปลงทุนอีกทีนึงผ่านทาง บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมื่อเวลาผ่านไป เงินส่วนนี้จึงงอกเงยขึ้น เติบโตขึ้นตามการลงทุน เปรียบเสมือนพลังแฝงที่เติบโตขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน ยิ่งทำระยะยาว 10 ปีขึ้นไปยิ่งเห็นผลมากขึ้น สามารถรับเงินส่วนนี้ได้เมื่อลาออกหรือเกษียณโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เช่น เงินสะสมได้รับ 100% เงินสมทบได้รับ 30% เมื่อทำงานครบ2 ปี ได้รับ 50% เมื่อทำงานครบ 3 ปี ได้รับ 100% เมื่อทำงานครบ 5 ปี เป็นต้น หรือหากย้ายบริษัทเปลี่ยนที่ทำงานใหม่สามารถย้ายกองทุนสำรองฯมาบริษัทใหม่ได้ นำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ยังมีกองทุนอื่นที่ทำงานคล้ายกับกองทุนสำรองฯ อีก เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
กองทุนสำรองฯ จัดเป็นสวัสดิการที่ดีมาก (สนับสนุนการออมและนำไปลงทุนพร้อมๆกัน ถือได้ว่าผลตอบแทนเป็น100% ซึ่งถือว่าสูงมาก) ควรนำมาพิจารณาประกอบในการสมัครงานด้วย นอกเหนือจากเงินเดือน นี่คือประสบการณ์การลงทุนครั้งแรกของผม และเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจในการออมการลงทุนรูปแบบต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นการรู้จักกับ FINNOMENA รู้จักกับกองทุนรวม สินทรัพย์ประเภทต่างๆ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้มีเงินเดือนน้อยทุกท่านเพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน
เจฟ โรเล็กซ์