แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

เงินสำรองฉุกเฉิน ต้องมีเท่าไรถึงจะพอ

เขียนโดย พี่หมอนักลงทุน

ในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทำให้หลายคนรู้ถึงความจำเป็นของการมีเงินสำรองฉุกเฉิน ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับมันก่อน

Section 1: เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร

ก็คือเงินออมของเราประเภทหนึ่ง หลังจากที่พี่หมอเคยเกริ่นเรื่องสมการการออม ที่ว่า รายรับ – เงินออม = รายจ่ายไปแล้ว , เงินออมตัวแรกที่ทุกคนควรมีก็คือ เงินออมในเงินสำรองฉุกเฉินนั่นเอง ซึ่งเงินสำรองฉุกเฉินนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้เกิดผลประโยชน์จากการลงทุนให้ได้ดอกผล (เราจะไม่ได้ร่ำรวยจากเงินส่วนนี้) แต่เป็นเงินที่สำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น เวลาที่เราตกงาน ถูกให้ออกจากงาน ระหว่างรอหางานใหม่ คนในครอบครัวเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายที่อื่นๆ ที่อาจมาโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน เป็นต้น เสมือนเงินที่มีไว้ประกันความเสี่ยง ให้เรามีใช้ยามจำเป็น ไม่ต้องไปหยิบยืม กู้ยืมใคร เรื่องนี้สำคัญมาก  เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นลูกหนี้

Section 2: มีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหรดี

ก่อนอื่นต้องเข้าใจจุดประสงค์ของมันก่อน ว่ามันมีไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเรื่องฉุกเฉินในแต่ละเรื่องมีความรุนแรงไม่เท่ากัน เราต้องเป็นคนประเมินความรุนแรงเองว่าหนักหนาสาหัสแค่ไหน ใจความสำคัญคือมีให้มากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของเราอย่างน้อย 6-12 เดือน (ตัวเลขนี้ปรับได้แล้วแต่บุคคล) โดย ให้น้องๆ คำนวณค่าใช่จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ต่อเดือนก่อน เช่น

  • ภาระหนี้สินต่อเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน/คอนโด 20,000 บาท
  • ค่าผ่อนรถยนต์ 7,000 บาท
  • ค่าน้ำมันรถยนต์ 3,000 บาท
  • ค่าโทรศัพท์ 500 บาท
  • ค่าตอบแทนบุพการี 10,000 บาท
  • ค่าใช้กิน ค่าจิปาถะอื่น คิดวันละ 300 X 30 วัน = 9,000 บาท

รวมต่อเดือนประมาณ 49,500 บาท เป็นต้น ทั้งนี้จะคำนวณได้แม่นยำมากขึ้น เมื่อเราทำบัญชีรายรับรายจ่าย

พอได้ตัวเลขกลมๆ 50,000 บาท มาแล้ว เราก็ทยอยเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้ 6-12 เท่า ก็คือ 300,000 – 600,000 บาทนั่นเอง

ตัวเลขเงิน 6-12 เดือนอาจปรับได้ตามความมั่นคงทางการเงินของเรา ตามอาชีพ พื้นฐานมาจากภายใน 6-12 เดือน เราน่าจะหางานใหม่ เพื่อให้รายได้คงเดิม กล่าวคือ อาชีพข้าราชการ มีความมั่นคงสูง ตกงานยาก แต่ก็จำเป็นต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ดี อาจปรับลดเป็น 3-6 เดือนได้ (แต่พี่หมอก็อยากแนะนำให้เป็น 6-12 เดือนอยู่ดี) อาชีพพนักงานเอกชน มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้าได้มาก ยิ่งในช่วงที่บริษัทเกิดวิกฤติเช่นช่วงนี้ ควรคงไว้ที่ 6-12 เดือน กลุ่มอาชีพต่อมา คืออาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น ค้าขาย, Freelance ซึ่งคาดการณ์รายได้ได้ยาก พี่หมอแนะนำให้สำรองไว้ 12-18 เดือนเลย (เกินดีกว่าขาด)

Section 3: เก็บไว้ที่ไหน อุ่นใจ คล่องตัว

ขึ้นชื่อว่าเงินสำรองฉุกเฉินก็จริง แต่ถ้าให้เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยก็ดูจะต่ำเกินไป พี่หมอขอแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 2 ตัว ที่มีสภาพคล่องสูง คือ

1. เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ที่ฝากถอนได้ทุกวัน เช่น Me By TMB เป็นบัญชีเงินฝากดิจิทัลที่ปัจจุบันให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.6% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษเมื่อฝากมากกว่าถอนในเดือนนั้น (เงินในบัญชีมากขึ้นกว่าเดือนก่อน) ข้อดีของ Me By TMB มีสภาพคล่องสูง อยากใช้เงินวันไหน ถอนได้ทันที ข้อเสียเพียงเล็กน้อยคือ ถ้าเราได้ดอกเบี้ยตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะถูกหักภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ

2. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) จัดเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในการจัดระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม อยู่ในระดับที่ 1 จาก 8 ระดับ มีสภาพคล่องสูง T+1 กล่าวคือ แจ้งถอนวันนี้ ได้เงินอีก 1 วันทำการ แต่คล่องน้อยกว่าเงินฝาก เพราะ ถอนวันนี้ ได้เงินทันที  ในส่วนกองทุนรวมตลาดเงิน พี่หมอขอแนะนำ 2 กอง คือ PHATRA MP (เป็น FINNOMENA Pick) และ TMBTM ครับ (โปรดศึกษารายละเอียดการลงทุนเพิ่มเติม)

Section 4: กล่าวสรุป

บทความนี้พี่หมออยากให้น้องๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็นที่ต้อง มีเงินสำรองฉุกเฉิน ไม่ว่าอาชีพเราจะมั่นคงเพียงใด (ยุค COVID-19 อาชีพแพทย์ก็ได้รับผลกระทบด้านรายได้เช่นกัน) ต้องไม่เอาตนเองไปตั้งอยู่บนความเสี่ยง 

น้องๆ ค่อยๆทยอยสะสมจากเงินออมที่ได้ต่อเดือน จนเต็มวงเงินที่ต้องการของเงินสำรองฉุกเฉิน เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ไป ก็ต้องเติมใหม่ให้เต็มดังเดิม ที่สำคัญไม่เอาเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ดาวน์รถยนต์ ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อของที่อยากได้ เหล่านี้ต้องออมแยกต่างหาก

พี่หมอหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับทุกคน ดังความตั้งใจของ Page ที่จะนำความรู้ด้านการเงินมาถ่ายทอด ด้วยภาษาที่ง่ายๆครับ

พี่หมอนักลงทุน
facebook.com/investdoctor/

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ

TSF2024