บทเรียนจากประสบการณ์การลงทุนของ CrisisMan
“โลกการเงิน” คำนี้ช่างห่างไกลจากโลกของเด็กหนุ่มที่เพิ่งเรียบจบจากสายวิศวะ แต่เมื่อใจมันเรียกร้อง อะไรก็ฝืนไม่อยู่ ขอต้อนรับสู่บทความที่บอกเล่าบทเรียนจากประสบการณ์การลงทุนของ CrisisMan
การศึกษาเริ่มต้นจากการลงทุนสไตล์ VI หรือ Value Investor ซึ่งเป็นคำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นแนวการลงทุนที่ต้องศึกษาแนวโน้มธุรกิจ งบการเงิน แล้วมาดูโอกาสในอนาคตของหุ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ากว่าจะได้หุ้นที่เรียกว่าดีแต่ละตัวใช้เวลานาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการศึกษาแนวทางนี้สอนว่า Story ของหุ้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตมานาน เพราะราคาหุ้นก็เพิ่มมาเยอะ แต่การที่หุ้นนั้นจะยังเรียกได้ว่าน่าสนใจ คือ กำไรต้องเติบโตตามราคาไปด้วย
หลังได้เข้าทำงานในสายการเงินกับ FINNOMENA ได้ประมาณ 2 ปี ก็เข้าสู่ปี 2019 อันเป็นปีที่น่าสนใจมาก เริ่มปีมาด้วยผลพวงของตลาดร่วงอย่างหนักตั้งแต่ปลายปี 2018 ซึ่งต่อมาตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นตลอดไตรมาสแรกของปี ทั้งที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจหดตัว แล้วเป็นเพราะอะไร? นั่นเพราะตัวเลขที่ออกมาหดตัว กลับหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ นั่นเทียบเคียงได้กับการที่ตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดไว้ และในที่สุดก็เข้าใจว่าตลาดหุ้นไม่ใช่ตลาดที่อยู่กับความจริง แต่เป็นตลาดที่อยู่กับความคาดหวัง
เวลาในปี 2019 ผ่านมาจนถึงปลายไตรมาสที่ 3 ในระหว่างนั้นตลาดการเงินทั่วโลกก็เผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เมื่อมีข่าวสองฝ่ายทะเลาะกันที ตลาดก็ร่วงที แต่ผ่านไปสักพักมีข่าวดีเข้ามา ตลาดก็ฟื้นตัวกลับมาที่เดิม เป็นเช่นนี้สลับกันไปมา โดยที่ผลกระทบยังไม่สะท้อนออกมาเลยหรือบางข่าวก็เป็นเพียงคำขู่ ตรงนี้ก็ยอมรับว่ามันน่ากลัว แต่บางครั้งตลาดร่วงแบบกลัวเกินเหตุ มันสะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่สายตาสั้น ซึ่งใครที่สายตายาวก็มีโอกาสคว้าสิ่งที่ตลาดมองไม่เห็นได้มากกว่า
และผลกระทบก็ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านยุโรปนอกจากจะลดดอกเบี้ยแล้ว ยังกลับมาใช้ QE อีกครั้ง จากนั้นตลาดหุ้นที่วิ่งอย่างอ่อนเปี้ย ก็กลับมาวิ่งเป็นกระทิงอีกครั้ง จำได้ไหมครับว่าปี 2018 ตลาดหุ้นร่วงเนื่องจากอะไร? นอกจากสงครามการค้าแล้ว ตลาดยังกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย จะเห็นว่าตลาดการเงินนับตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติปี 2008 เสพติดมาตรการกระตุ้นและสภาพคล่องอย่างมาก ซึ่งอาการเสพติดก็จะคงอยู่กับโลกการเงินไปอีกนาน
ไตรมาสที่ 4 เป็นอีกไตรมาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกวิ่งกันใหญ่ (ยกเว้นพี่ไทย) และหุ้นกลุ่มที่โดดเด่นลากตลาดก็หนีไม่พ้นกลุ่ม Megatrend อย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และเหตุผลคงหนีไม่พ้น Story ที่สร้างกำไรให้เติบโตอย่างมาก แต่ Story ที่แกร่งขนาดนี้มักเป็น Signature ของหุ้นที่มีธุรกิจซึ่งครองอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีสัดส่วนรายได้จากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Google, Apple หรือแม้กระทั่ง Amazon แต่แน่นอนว่าราคาหุ้นเหล่านี้มักมาพร้อมความคาดหวังจากตลาด แต่ถ้ามั่นใจใน Story อันมีศักยภาพก็อย่าได้หวั่นไหว แล้วจะมั่นใจได้อย่างไร?
คงหนีไม่พ้นความขยัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องติดตามตลาดอยู่หน้าจอตลอดเวลา เพียงแค่ติดตามสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น GDP, ยอดค้าปลีก, การส่งออก และเน้นลงมาที่แนวโน้มธุรกิจ โอกาสในอนาคต รวมไปถึงความคาดหวังของตลาด ซึ่งจุดนี้ต้องอาศัยอ่านเวปบอร์ดลงทุนที่มีทั้งมุมมองเชิงบวกและลบ
ลองเดี๋ยวนี้เลย…มันต้องเจอทั้งผิดและถูก และไม่ว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นจะถูกหรือผิด ให้จดบันทึกไว้ด้วยนะ แล้วเดี๋ยวประสบการณ์จะเริ่มบอกว่าอะไรควรหรือไม่ อ้อ…แล้วก็กลางปี 2019 เป็นช่วงที่กำลังต้องการอะไรสักอย่างมาเป็น Template ของการลงทุน แล้วก็โชคดีที่พบกับหนังสือ Big Debt Crises จาก Ray Dalio เป็นหนังสือการลงทุนที่อยากให้นักลงทุนได้ลองอ่านผ่านตากันสักรอบ สุดท้ายนี้…ขอบคุณที่ตามอ่านกันจนจบ และอย่าลืมจัดพอร์ตการเพื่อกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนด้วยนะครับ