โดนัลด์ ทรัมป์ 'แรดเทา'

สี จิ้นผิง เคยบอกเอาไว้ว่า การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ เหมือนจีนกำลังเผชิญกับ แรดเทา ที่เป็นภัยคุกคายอยู่ตลอดเวลา หากชะล่าใจ ปล่อยปละละเลย สุดท้ายจะนำมาซึ่งปัญหาลุกลามใหญ่โต และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่เข้มข้นกว่าเดิม

วันนี้แรดเทาตัวนั้นกำลังตื่นมาคึกคะนองอีกครั้ง แถมดุดันมากขึ้นด้วยในยุค Trump 2.0 จากนโยบายอันแข็งกร้าวในการตั้งกำแพงภาษี Reciprocal Tariffs ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการบดขยี้จีนให้แหลกเพียงชาติเดียว ล้มล้างระบบการค้าโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง


ความหมายของ The Gray Rhino 

คำว่า  ‘แรดเทา’ หรือ The Gray Rhino ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยครั้งแรกโดย มิเชล วัคเกอร์ (Michele Wucker) นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือ The Gray Rhino ในปี 2016 ซึ่งนิยามว่าแรดเทา คือ การเผชิญกับอันตรายตรงหน้าที่เราพอจะมองเห็นไกล ๆ แต่กลับนิ่งนอนใจกับความเสี่ยงนั้น จนสุดท้ายแรดตัวนั้นกลับวิ่งพุ่งเข้ามาทำร้ายเราอย่างรวดเร็ว กว่าจะไหวตัวทัน ก็ถูกพุ่งชนจนเจ็บเจียนตาย

ในกรณีของจีนกับสหรัฐอเมริกา สี จิ้นผิง หยิบยกคำว่า ‘แรดเทา’ หรือที่ออกเสียงในภาษาจีนว่า ‘ฮุยซีหนิว’ มากล่าวหลายครั้ง ซึ่งมักจะเปรียบเปรยคู่กับคำว่า Black Swan หรือ หงส์ดำ ที่เป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่สร้างผลกระทบรุนแรง 

สี จิ้นผิง มักย้ำเตือนถึงความเสี่ยงจากปัญหาแรดเทาที่เกิดจาก โดนัลด์ ทรัมป์ โดยพูดมาเสมอว่าจีนจะต้องพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่มาได้ทุกเมื่อ เช่น ช่วงต้นปี 2018 ที่ทรัมป์เริ่มทำ Trade War กับจีนรอบแรก ผู้นำแดนมังกรกล่าวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า 

เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกหลายอย่างที่คาดไม่ถึง มีปัจจัยภายนอกที่อ่อนไหวและซับซ้อน จงอย่าชะล่าใจ ต้องเร่งควบคุมความเสี่ยงอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี งานหนักของทุกคนคือเราจะต้องเฝ้าระวังอย่างสุดชีวิต เพื่อคอยจับตา ‘หงส์ดำ’ ภัยมืดที่มองไม่เห็น และมุ่งสกัด ‘แรดเทา’ ภัยคุกคามที่จ้องจะพุ่งชนได้ทุกเมื่อ

ในสมัยของ Trump 1.0 สี จิ้นผิง หยิบยกคำว่าแรดเทามาพูดอีกหลายครั้งในหลากวาระ เช่น การประชุมสภาประชาชนปี 2019 และการกล่าวสุนทรพจน์วันขึ้นปีใหม่ 2020 สะท้อนให้เห็นว่านี่เป็นภัยคุกคามใหญ่ที่จีนไม่เคยลืม


ความดุดันของแรดเทา 2.0

แรดเทาตัวนี้ดุดันมากขึ้นในยุค Trump 2.0 เริ่มต้นเปิดฉากด้วยนโยบายอันแข็งกร้าว และการตั้งทีมงานสายเหยี่ยวมารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล นำโดย

  • เจดี แวนซ์ รองประธานาธิปดี ที่เป็นกำลังสำคัญในนโยบาย Make America Great Again
  • มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อรัสเซียและจีน
  • สก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปภาษี

 

และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาด สงครามการค้าระอุเดือด เมื่ออเมริกาประกาศใช้ Reciprocal Tariffs เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ประกาศก้องว่าเป็น Liberation Day วันปลดแอกของชาติ ด้วยการเก็บ Tariff  10% สำหรับทุกสินค้าที่นำเข้าสู่อเมริกา และเพิ่ม Tariff อีก 10-50% สำหรับ 60 ประเทศที่ทรัมป์เรียกว่าเป็นผู้ละเมิดทางการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลมากที่สุด 

สำหรับจีนโดน Tariff ในรอบแรกสูงถึง 34% ก่อนจะเกิดการตอบโต้ไปมารายวัน ทำให้อัตราภาษีล่าสุดที่สหรัฐเรียกเก็บจากจีนพุ่งขึ้นไปถึง 145% แล้ว แม้ว่าทรัมป์จะใจดีชะลอการขึ้นภาษี 90 วันให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ไม่ใช่กับจีน โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของจีนที่ตอบโต้อเมริกา ถือเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความเคารพ

เท่านี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายอันแท้จริงของทรัมป์ คือการเตะตัดขาจีน ผ่านการล้มล้างระบบการค้าโลกที่ปัจจุบันมีจีนเป็นศูนย์กลางในฐานะโรงงานโลก


ทรัมป์เกลียดอะไรจีนนักหนา

การเดินหมากที่พุ่งเป้าไปแค่จีน ไม่ใช่การต่อสู้ในทุกแนวรบกับชาติอื่น ๆ แถมยังมีท่าทีเป็นมิตรมากขึ้นกับรัสเซียด้วยซ้ำ คำถามคือมีอะไรในใจทรัมป์ ทำไมเขาจึงเลือกยุทธศาสตร์นี้ในการต่อสู้

บทวิเคราะห์จาก BBC โดยจอห์น ซัดเวิร์ธ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทวีปอเมริกาเหนือ แสดงทัศนะไว้ว่าสงครามการค้ารอบนี้เป็นการต่อสู้ในดินแดนที่คุ้นเคยของทรัมป์นั่นคือดวลเดี่ยวระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะหากจำกันได้ วาทะกรรมเด็ดที่ส่งให้ทรัมป์คว้าชัยชนะประธานาธิบดีสมัยแรก ก็คือการป่าวประกาศต่อต้านจีน พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวทีหาเสียงว่า การที่จีนกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาถดถอย ส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศทรุดตัวลง และทำให้ชนชั้นแรงงานของสหรัฐฯ ต้องสูญเสียรายได้และศักดิ์ศรี

สงครามการค้าครั้งนี้อาจมีความหมายมากกว่าตอบโต้ไปมาเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับทรัมป์ นี่เป็นเรื่องที่ค้างคาจากในช่วงวาระแรกของดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

เราไม่มีเวลามากพอที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องในตอนนั้น แต่ตอนนี้เรากำลังเร่งทำมันอยู่

คำสัมภาษณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังเปิดศึกขึ้นภาษีปี 2025

ในอีกมุมมอง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา เคยเขียนบทวิเคราะห์เรื่อง ทรัมป์ 2.0 และจีน ระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของทรัมป์ เนื่องจากตอนนี้สหรัฐฯ ไม่ได้แข็งแกร่งพอจะเปิดศึกหลายแนวรบ โดยเฉพาะในสงครามที่ลากยาวมองไม่เห็นทางจบอย่างรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องหันมาโฟกัสที่การจัดการจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามระยะยาวอันดับหนึ่ง

สุนทรพจน์ของทรัมป์ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรครีพับลิกัน พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ตอนนี้จีนไปลงทุนตั้งโรงงานรถยนต์จำนวนมากในเม็กซิโก แต่ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี โรงงานเหล่านี้จะต้องมาตั้งในสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานมหาศาล แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่ได้ต้องการจะกีดกันการลงทุนจากจีน และไม่ได้มีความกังวลเรื่องความมั่นคงจากการมาตั้งฐานการผลิตขายรถยนต์จีนให้ผู้บริโภคชาวอเมริกัน ทว่าจุดประสงค์ของเขาคืออยากบีบให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับมาลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อให้ประเทศกลับมาได้เปรียบในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอีกครั้ง

จะเห็นว่าทรัมป์มองทุกอย่างเป็นเรื่องของการเจรจา พร้อมที่จะตกลงแลกเปลี่ยนยื่นหมูยื่นแมว สงครามการค้าของทรัมป์จึงมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้จีนมานั่งโต๊ะเจรจาและตกลงผลประโยชน์กับสหรัฐฯ ให้ทรัมป์เอาไปคุยโม้โอ้อวดได้ เหมือนตอนรัฐบาลทรัมป์ 1.0 ที่บรรลุข้อตกลงเฟส 1 กับจีน ซึ่งจีนสัญญาจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ จำนวนมหาศาล แต่บังเอิญเกิดโควิดขึ้นเสียก่อน

อย่างไรก็ดี แม้ภาพออกสื่อของทรัมป์จะชัดว่าเขาดุดันต่อจีน แต่ท้ายที่สุดแล้วของบทสรุปก็ยังคาดเดาได้ยาก เพราะทรัมป์เองไม่ได้มีจุดยืนเชิงอุดมการณ์ เขาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามผลประโยชน์ที่มองว่าจะได้รับ ไม่แน่หากเจรจากันได้ เราอาจเห็น 2 มหาอำนาจของโลก จบด้วยการจับมือคืนดี

เหมือนพล็อตละครหลังข่าวที่แรกพบเกลียดเข้ากระดูก แต่สุดท้ายรักกัน Happy Ending…

Wealth Health Check