
“วันนี้จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ในฐานะวันที่อุตสาหกรรมอเมริกันถือกำเนิดใหม่ และวันที่อเมริกาทวงคืนโชคชะตาของตนเอง”
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่า “ภาษีศุลกากรคือคำที่สวยที่สุดในพจนานุกรม” และทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ก็ประกาศขึ้นภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก โดยให้เหตุผลว่า “ทั้ง 2 ประเทศเอาเปรียบสหรัฐฯ”
เบื้องหลังสงครามภาษี
ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากประเทศคู่ค้าผ่านการขาดดุลการค้าที่สูง และการที่อุตสาหกรรมการผลิตย้ายออกนอกประเทศ โดยเขามองว่าเป็นผลจากข้อตกลงการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงสินค้าราคาถูกจากจีนและเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะการขาดดุลการค้าเกิดจากโครงสร้างของการออมและการลงทุน รวมถึงการขาดดุลงบประมาณที่สูงถึง 5.5% ของ GDP ซึ่งหากทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง เขาจำเป็นต้องปรับนโยบายการคลัง ไม่ใช่แค่เพิ่มภาษีศุลกากร
สงครามที่ไม่มีผู้ชนะ
การขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์กำลังสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อเขาตั้งภาษีขั้นต่ำ 10% และยังเก็บภาษีสูงกว่านั้นกับประเทศคู่ค้าใหญ่อย่างจีนและสหภาพยุโรป
โดยผลกระทบดังกล่าวไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและหนี้สินทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อคาดการณ์ผลกระทบโดยใช้ “Computable General Equilibrium” (CGE) ซึ่งเป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้คำนวณผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด พบว่าภาษีใหม่ของทรัมป์จะทำให้ GDP ของสหรัฐฯ หดตัวลง 1.45% หรือประมาณ 438,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15 ล้านล้านบาท) และครัวเรือนในสหรัฐฯ จะมีรายได้เฉลี่ยลดลงถึง 3,487 ดอลลาร์ต่อปี
นอกจากนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอย่างเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 75% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ส่งผลให้ GDP ของเม็กซิโกหดตัวลง 2.24% และแคนาดาลดลง 1.65%
ด้านประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดย GDP ของเวียดนามลดลง 0.99% และสวิตเซอร์แลนด์ลดลง 0.32% ขณะที่บางประเทศที่ได้รับภาษีศุลกากรต่ำกลับได้ประโยชน์ เช่น นิวซีแลนด์ (+0.29%) และบราซิล (+0.28%)
ผลกระทบโดยรวมจากสงครามการค้านี้อาจทำให้ GDP โลกหดตัวลงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) หรือ -0.43% สะท้อนให้เห็นว่า “สงครามการค้าไม่มีผู้ชนะ”
นอกจากนี้ มาตรการภาษีของทรัมป์กำลังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก สินค้าที่เคยผลิตในประเทศค่าแรงถูกกำลังมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งการย้ายฐานผลิตอาจใช้เวลาหลายปีและทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก
ในระยะสั้น ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทต่าง ๆ อาจเลือกย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ หรือลงทุนในเทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อชดเชยแรงงานต้นทุนสูง
อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตอาจทำได้ยาก เพราะสหรัฐฯ กำลังขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางให้นโยบายของทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวัง
แรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะภาษีที่สูงขึ้น รัฐบาลหลายประเทศต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะทั่วโลกซึ่งมีมูลค่าถึง 318 ล้านล้านดอลลาร์ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นหากประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
อีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือ “การแทรกแซงค่าเงิน” หากทรัมป์เลือกใช้นโยบายลดค่าเงินดอลลาร์เพื่อทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองโลก
แม้ว่าจะยังไม่มีสกุลเงินใดที่สามารถแทนที่ดอลลาร์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ หันไปใช้สกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
โลกเปราะบางกว่าเคย
นโยบายภาษีของสหรัฐฯ กำลังทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกไม่มั่นคง ในอดีตสหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำในการส่งเสริมการค้าเสรี แต่วันนี้กลับเลือกใช้มาตรการปกป้องการค้า ซึ่งอาจกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน และนำไปสู่การลดลงของเงินลงทุนทั่วโลก
หากสถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รัฐบาลทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
หนึ่งในปัญหาหลักของมาตรการภาษีของทรัมป์คือความไม่แน่นอน มีการประกาศขึ้นภาษี แล้วก็เลื่อนออกไป จากนั้นกลับมาประกาศใหม่ ก่อนจะยกเลิกบางส่วน ซึ่งสร้างความสับสนให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน
นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นกลยุทธ์ที่จงใจใช้เพื่อบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้ายอมเจรจาด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าทรัมป์อาจไม่มีแผนที่ชัดเจน และกำลังดำเนินนโยบายแบบวันต่อวัน
จุดชนวนสงคราม(การค้า)โลก?
ท้ายที่สุด มาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจสร้างความเสียหายมากกว่าผลดี หากประเทศคู่ค้าตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน อาจเกิด “สงครามการค้าระดับโลก” ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่าทรัมป์จะอ้างว่าเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ลดการขาดดุลและฟื้นฟูภาคการผลิต แต่แนวทางของเขาอาจไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และอาจจบลงด้วยการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจมากขึ้น
อ้างอิง: The Conversation U.S., Reuters, The Guardian, King’s College London