Testimonial: บทสัมภาษณ์ คุณโทมัส-พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด

ตอนนี้คุณโทมัสทำงานอะไรอยู่บ้าง?

ตอนนี้ผมทำกิจการส่วนตัวครับ เป็นกิจการทางด้านอิเล็กทรอนิค และมีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับออนไลน์ด้วย มีอ่านข่าวเดลี่รีพอร์ทตอนเช้า และเป็น Speaker ตามอีเว้นท์ทั่วไปครับ

เป้าหมายการลงทุนของคุณโทมัสคืออะไร?

ผมมองว่าเป็นการจัดการสินทรัพย์อย่างหนึ่งนะครับ เพราะว่าผมทำธุรกิจ ผมไม่มีเวลา ผมเคยลงทุนในหุ้นเอง จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนนั้นพอร์ตนี่บวกเยอะมาก บวกแบบบ้านเป็นหลังนะครับ ทีนี้เรารู้จังหวะซื้อแต่เราไม่รู้จังหวะขาย พอเวลามันลงเนี่ย เราขายออกไม่เป็น ก็เลยเข้าเนื้อนิดนึง เลยเรียนรู้ว่าการลงทุน จะดูเฉพาะตอนได้ไม่ได้ พอเวลามันขาดทุนก็ไม่รู้จะขายยังไง ก็เลยต้องคิดใหม่แล้วเรื่องการดูแลเงิน เงินกว่าจะหามาได้มันก็เหนื่อยอยู่แล้ว และความรู้เราก็มีจำกัด ผมรู้เฉพาะในประเทศไทย แถมรู้หุ้นไม่กี่ตัว และรู้ก็ไม่ได้รู้จริง ไม่มีเวลาไปดูงบการเงินของเขา ไม่มีเวลาวิเคราะห์อย่างที่มันควรจะเป็น เลยกลายเป็นว่าการลงทุนเนี่ยก็ใช้เงินเยอะเหมือนกันกลับไม่มีเวลาไปนั่งดู เวลาจะซื้อจะขายไม่เข้าใจจังหวะเลย คอยฟังเขามาแล้วลงตามเขา ก็เลยพบว่าสุดท้ายการใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่ามาบริหารจัดการให้น่าจะดีกว่า 

เพราะอะไรคุณโทมัสถึงตัดสินใจเลือกลงทุนกับ FINNOMENA?

เริ่มจากรู้จักคุณแบงค์ก่อน (Mr.Messenger) ติดตามมาโดยตลอด และเชื่อว่าน่าจะดี ก็เลยมาลงทุนใน FINNOMENA ครับ

คุณโทมัสมองว่า FINNOMENA แตกต่างจากการลงทุนที่อื่น ๆ อย่างไร?

ผมมีอีก 3 แห่งที่ลงทุนอยู่ อย่างผมลงทุนกับธนาคารก็เป็นเพราะบัตรเครดิต ถ้าเราเป็นบัตรระดับบน ๆ เขาก็จะให้รักษาระดับไว้ว่าต้องเท่าไร ๆ พอเราลงทุนด้วยแล้วเนี่ยต้องบอกว่ามันถูกจำกัดด้วยกองทุนที่ต้องเป็นของเขา จากประสบการณ์ของผมนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ได้กว้างมาก พอต้องลงทุนในเฉพาะกองทุนของเขาเนี่ย ผมว่าโลกมันแคบไปครับสำหรับโลกการลงทุน คือผมว่าตอนนี้การจะทำอะไรมันต้องไม่มีกรอบ อย่างการลงทุนมันควรจะสามารถลงทุนในกองทุนที่อื่นได้อีก จริง ๆ สินทรัพย์ผมที่อยู่กับทางธนาคารมีเยอะ เวลามาเจอกันทีไรก็จะขายแต่กองทุนของธนาคารตัวเองอย่างเดียว แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างความมั่งคั่งให้มันเติบโตขึ้นจริง ๆ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยประทับใจเท่าไร 

คือเราก็ไม่ได้ว่าคนที่เขามาคุยกับเราหรอก เข้าใจว่าเขาก็มี KPI แต่ถ้าองค์กรเขาให้พนักงานเน้น KPI ว่าต้องขายให้ได้เยอะ ๆ เนี่ย แล้วมันจะการันตีได้อย่างไรว่าสินทรัพย์ของเราโตขึ้นจริง ๆ ถ้าจะให้ผมสบายใจมันไม่ควรที่จะเป็นในลักษณะนี้ มันควรจะเป็นการคุยกันว่ากองทุนตัวไหนน่าเข้า เข้าแล้วมีจังหวะขายอะไรตอนไหน ถ้าเราเชื่อว่ามันดีเราก็จะให้อำนาจเขาในการดูเลยว่าควรจะเข้าจะออกเมื่อไร ผมลงทุนกับธนาคารมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ยังไม่ได้ขายออกเลย เพราะยังติดดอยอยู่แบบนั้น ซึ่งทางเขาก็เป็นคนแนะนำเอง ช่วงก่อนโควิดก็มีการเข้ามาคุย แทนที่จะเป็นการเข้ามาซ่อมพอร์ต คือให้เราต้องซื้อเพิ่มเพื่อไปถัวเฉลี่ย จุดนี้เป็นอะไรที่ผมไม่ประทับใจเลย ส่วนที่อื่น ๆ เวลามาเจออย่างแรกก็ต้องการจะให้เราลงไม้ใหญ่ ๆ เหมือนลงทีเดียวได้ผลงานเยอะ ๆ ทำนองนี้ แต่ก็มีข้อดีนะคือเขาก็มี IPO อะไรมาให้บ้าง แต่ว่าวิธีการแนะนำยังไม่ค่อยประทับใจ ต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราเองไม่เก่งเหมือนกับ อย่างเช่น ทีมผู้ดูแลจาก FINNOMENA หรือทีมนักลงทุนยังไงเขาก็เก่งกว่าเราอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็พอมีความรู้บ้างครับว่าอะไรควรลงอะไรไม่ควรลง เวลาผู้ดูแลจากที่อื่นมาแล้วไม่ได้รับการอธิบายอะไรเลย ผมว่ามันเหมือนว่าเราต้องรับความเสี่ยงของเราไปเอง ถ้าเราซื้อแล้วขาดทุนก็ว่ากันไม่ได้นะ

แต่ที่ FINNOMENA ผมอยากจะให้รักษาคุณภาพแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เห็นพอร์ตตอนนี้เป็น 10,000 ล้านแล้ว ก็กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นลูกค้ารายทั่ว ๆ ไป แล้วก็จะโดนปฏิบัติเหมือนที่อื่น ๆ ที่เคยโดนมา ก็ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เก็บคุณภาพนี้ไว้ เพราะมันเป็นคุณภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ FINNOMENA ที่มันแตกต่างจากที่อื่น และผมก็รู้สึกว่าโชคดีที่เจอ FINNOMENA ผมไม่อ้อมค้อมนะ ผมเป็นคนที่พูดอะไรก็ตรงไปตรงมา คืออยากให้ลูกค้าทุกคนที่มาเจอผู้ดูแลจาก FINNOMENA แล้วรู้สึกว่าโชคดีจังที่ได้มาเจอ มากกว่าความรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนไปเป็นที่อื่น สำหรับผมว่ายากนะที่จะเปลี่ยนจาก FINNOMENA ไปเป็นที่อื่น เพราะว่าได้รับการดูแลที่ดี อย่างพอร์ตผมเข้าไปดูบางอันขาดทุนบางอันได้กำไร รวม ๆ แล้วกำไร กำไรน้อยบ้างมากบ้างแต่มันมีการพูดคุยกันตลอด และมีการวิเคราะห์ให้ฟังตลอด แบบนี้มันทำให้เรารู้สึกดี

อยากให้ฝากอะไรถึงนักลงทุนท่านอื่นสักนิด ที่เป็นผู้เริ่มต้น หรือกำลังเดินอยู่บนเส้นทางการลงทุน ควรจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง?

ผมว่าการลงทุนตอนนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วครับ เมื่อก่อนเราดูพื้นฐานได้ แต่ตอนนี้ผมคิดว่ารูปแบบการลงทุน และการเคลื่อนไหวของกองทุนเปลี่ยนไปเยอะมาก และหุ้นกลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามา และเราทำความเข้าใจไม่ทันมันก็เยอะมาก เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือโลกมันก็เปลี่ยนไปเยอะมากจากที่เมื่อก่อนบริษัทพวกขายน้ำมันอะไรอย่างนี้จะครองโลกครองตลาด ตอนนี้กลายเป็นบริษัทขายน้ำมันยังต้องไปกู้ยืมเงินมาจ่ายเงินปันผล โลกมันเปลี่ยนไปเยอะมากจนมันอาจใช้ความรู้เดิม ๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิธีที่อาจจะดีที่สุดในการเอาชนะเงินเฟ้อ และสร้างสินทรัพย์ของตัวเองให้เติบโตก็คือการเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของเราให้ดี ถ้าเรามีเวลาดูเองผมว่ามันก็ดีนะ เงินเราอย่างไรเราดูเองก็น่าจะใส่ใจได้มากที่สุด แต่ถ้าต้องทำธุรกิจเหมือนผม ไม่มีเวลา และไม่ได้เชี่ยวชาญ ผมว่าอาจจะเป็นความเสี่ยงที่มากเกินไปในการที่เราจะไปจัดการเองทุกอย่าง บางครั้งอะไรที่มันแน่นอน โลกสมัยนี้มันก็ไม่มีอะไรแน่นอนแล้ว การอัปเดตข้อมูลให้ทันการณ์น่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นกว่า

อ่านเรื่องราวความประทับใจจากนักลงทุนท่านอื่น ๆ ได้ที่ https://www.finnomena.com/testimonials/