ในช่วงทศวรรษหน้านี้ เป็นไปได้ว่าเราจะเริ่มเห็นความพยายามตัดขาดการเชื่อมโยงกับ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจ โดยมีเทคโนโลยีเป็นจุดศูนย์กลางของความพยายามครั้งนี้
ทางฝั่งจีนจะเริ่มมุ่งมั่นพยายามตัดขาดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากฝั่งตะวันตก ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ก็คงไม่ยอมเสียท่าทีให้
ขณะที่เรากำลังเริ่มต้นปี 2021 นี้ นี่คือภาคส่วนของเทคโนโลยีที่เราเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างประเทศ
ในปี 2018 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่ากว่า 5.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีผู้เล่นหลักคือจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อุตสาหกรรมนี้ถือว่าสำคัญมาก ๆ ต่อทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจ จึงทำให้มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์
แต่อย่างไรก็ดี หลัก ๆ แล้วอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องพึ่งพิงเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มักถูกมองข้าม โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่า 4.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019
เหตุผลที่ระบบการผลิตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทำงานได้ดีเสมอมาในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ นั่นเป็นเพราะระบบมีการแบ่งแยกแรงงานการผลิตอย่างชัดเจน (Divisions of Labour) ผลคือเรามีบริษัทที่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
ทุก ๆ ส่วนของระบบและหลาย ๆ ประเทศได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ถูกลงและการพัฒนาที่เร็วขึ้น ส่งผลให้เรามีสินค้าที่คุณภาพสูงแต่ราคาเป็นมิตร
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะให้เกิดระบบการผลิตเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการค้าเสรีและเสรีภาพในการสมาคม แปลง่าย ๆ ว่าจะบริษัทต้องมีอิสระในการเซ็นสัญญากับบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก
ทว่าปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์กำลังจะเข้ามาแทรกแซงระบบนี้
หนึ่งสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกเพิ่งเข้าใจก็คือปัญหาคอขวดนั้นเกิดจากการที่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งกลายเป็นผู้เล่นใหญ่ ซึ่งสถานะนี้เกิดจากการแบ่งแยกแรงงานการผลิตดังที่กล่าวข้างต้น บริษัทไหนเก่งอะไรก็ทำสิ่งนั้นไป เราได้เห็นกันแล้วว่าทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นพยายามปิดกั้นการเข้าถึงบางส่วนของระบบการผลิตเพื่อจุดประสงค์ด้านภูมิรัฐศาสตร์
ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้แก่สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหภาพยุโรป และไม่นานมานี้ก็มีจีนด้วย การที่สหรัฐฯ ปิดกั้นไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ได้นั้นกำลังส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้สั่นคลอน นักลงทุนและทีมบริหารจะต้องหาทางออกกันต่อไปในความท้าทายนี้
ข้อมูลจาก International Federation of Robotics (IRF) ชี้ว่าในปี 2019 ตลาดหุ่นยนต์สร้างรายได้แตะ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในตลาดนี้ก็มีทั้งระบบหุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้กระจายตัวไปทั่วโลก ด้วยสัดส่วน 62% ในเอเชีย 21% ในยุโรป และ 17% ในอเมริกา
ในปี 2021 การแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะยังดำเนินต่อไป ฐานการผลิตจะย้ายจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย หรืออาจจะกลับไปยังสหรัฐฯ นั่นจึงทำให้ต้องมีการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างระบบการผลิตใหม่ ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะต้องมีการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) เป็นวงกว้าง ซึ่งสิ่งนี้จะกระทบกับตลาดแรงงาน
ในช่วงทศวรรษหน้านี้ ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเยอะ (ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี อิตาลี โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ค) สามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพราะมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานน้อย ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนประชากรวัยกลางคนเยอะ (สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา) จะต้องค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง โดยจะต้องมีการฝึกฝนแรงงาน และสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบในสังคม
ประเทศที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุดคือประเทศที่มีสัดส่วนประชากรอายุน้อยที่ไม่ได้รับการศึกษาสูงเท่า และมีรัฐบาลที่มีอำนาจจัดการไม่เพียงพอ เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินเดีย ที่อาจจะโดนกระทบค่อนข้างเยอะ ในขณะที่อินโดนีเซีย บราซิล และเม็กซิโก ก็ดูไม่พร้อมสำหรับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง
องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้คาดการณ์ไว้ว่า 56% ของตำแหน่งงานใน 5 ประเทศอาเซียน อันได้แก่กัมพูชา อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกทดแทนด้วยระบบ Automation
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่าในปี 2019 ตลาดโทรเวชกรรม (Telemedicine) ทั่วโลกมีมูลค่าราว ๆ 4.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในปี 2026 สู่ระดับ 1.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
เทคโนโลยีด้านสุขภาพและเวชกรรมนั้นถือว่าอยู่ท่ามกลางสมรภูมิระหว่างประเทศ และโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ประเด็นนี้หนักขึ้นไปอีก เพราะประเทศไหนก็ตามที่สามารถพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้เป็นประเทศแรก ก็จะมีอำนาจในทางการต่อรองมากขึ้น
เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยด้านการติดต่อสื่อสารอยู่แล้ว แต่มันก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเท่าไรนักนอกเหนือไปจากการใช้เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น อาจเป็นเพราะการนำไปประยุกต์ใช้นั้นค่อนข้างช้า และหลายคนยังเข้าใจว่ามีข้อจำกัดด้านการเก็บข้อมูลอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดเก็บข้อมูลก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะหลาย ๆ คนก็ใช้นาฬิกาข้อมือวัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อดูว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บางคนก็ใช้วัดระดับฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสำคัญในเม็ดเลือดแดงเพื่อตรวจจับโรคโลหิตจาง
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการที่ผู้ป่วยมีความอ่อนไหวมากต่อการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอาการหรือขั้นตอนการรักษา ส่วนใหญ่แล้วอยากจะเก็บเป็นความลับมากกว่า นั่นหมายความว่าในปี 2021 เป็นต้นไป ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) จะมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยรู้สึกวางใจ
แม้ว่าขนาดของอุตสาหกรรมควอนตัมคอมพิวเตอร์จะยังเล็กอยู่มาก แต่ก็มีการนำไปใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม หลัก ๆ ในปัจจุบันก็มีด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) ยานยนต์ การผลิต วิศวกรรมโยธา น้ำมันและก๊าซ
ส่วนใหญ่มองว่าอุตสาหกรรมที่กำลังนำ QC ไปใช้ในอัตราเร่งคือด้านวัสดุศาสตร์ เคมี เภสัชศาสตร์ และยา ซึ่งจะนำไปใช้ในการขนส่งยามากกว่าจะเป็นการค้นพบยาตัวใหม่ ๆ โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนคือการหาจุดสมดุล (Optimisation) อีกปัจจัยคือการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing)
จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้แซงหน้าประเทศอื่น ๆ อย่างขาดลอยในแง่ของงบสนับสนุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์
รูปที่ 1: จำนวนงบประมาณที่รัฐบาลของแต่ละประเทศลงทุนใน Quantum Technology
ที่มา: Statista
หน่วยงานข่าวกรองฝั่งประเทศตะวันตกต่างแสดงความไม่สบายใจต่อการประกาศตัวว่าจะเป็นที่หนึ่งในด้าน QC ของประเทศจีน หลายคนมองว่านี่คือการร่วมมือกันระหว่างทหารและพลเรือนในด้านนวัตกรรม การวิจัย และการพัฒนา กองกำลังของจีนเชื่อว่าสงครามครั้งต่อไปจะชนะได้ด้วยการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ว่าจะอยู่ในขั้น “การทดลอง” ก็ตาม
หากจีนสามารถครอบครองตำแหน่งผู้นำในด้าน QC ได้ จะทำให้จีนมีข้อได้เปรียบด้านการปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงรุกและการเข้ารหัสข้อมูล อาวุธที่ล้ำหน้าจะช่วยเพิ่มตัวเลือกด้านภูมิรัฐศาสตร์และการต่อสู้ให้กับจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝั่งตะวันตกกลัว ความหวาดหวั่นนี้จะยิ่งทำให้ประเด็นนี้น่าจับตามองมากยิ่งขึ้นในปี 2021
เนื้อหาต้นฉบับโดย Kim Catechis
Head of Investment Strategy, Martin Currie
เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin
แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ
แหล่งข้อมูล
Advance, Article, FINNOMENA Franklin Templeton, Franklin Templeton Outlook, Infographic, Knowledge, Short Content, หุ้นเทคโนโลยี, เทคโนโลยี