วันนี้เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับกูรูจากแคมเปญ GURUPORT ท่านที่ 6 “คุณนิมิต วิทย์ศลาพงษ์” หรือ DaddyTrader เจ้าของพอร์ต Long Term Defensive Plus
คุณนิมิตเป็นเจ้าของเพจและเว็บไซต์ www.daddytrader.guru ซึ่งมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการลงทุนสายเทคนิค บทความยอดฮิตของ DaddyTrader บนเว็บไซต์ FINNOMENA คือ อ่านกราฟแท่งเทียน ไม่ต้องใช้ความจำ ทำอย่างไร? ที่มียอดคลิกอ่าน ณ ปัจจุบันเกือบ 200,000 ครั้งแล้ว
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับคุณนิมิตให้มากขึ้น เกี่ยวกับเส้นทางและมุมมองการลงทุนของเขา อะไรทำให้เขากลายเป็น DaddyTrader อย่างทุกวันนี้?
“เราเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เรียน ป. โท เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้เข้ามาลงทุนก็คืออยากได้ตังค์ (หัวเราะ) สามสี่พันเอาไปกินขนม ก็มีความสุขแล้วครับ”
เราคงเคยได้ยินกันมาตลอดว่า เริ่มลงทุนลองตลาดช่วงแรกๆ เนี่ย ต้อง “เสียค่าเล่าเรียน” ก่อน แน่นอนว่าคุณนิมิตก็หนีไม่พ้นกรณีนี้
“ต้องบอกว่า พอร์ตช่วงแรกที่เล่น เงินเก็บพังไปหมดเลย หุ้นตัวละ 3 บาท เหลือ 16 สตางค์ ก็เจ๊งไปเลย หลังจากนั้น ก็มีความฮึดว่าไม่ได้แล้ว ต้องมีความรู้ ตอนแรกที่เล่นเนี่ยคือไม่มีความรู้เลย ซื้อหนังสือพิมพ์หุ้นแล้วมานั่งอ่าน ช่วงนั้นไม่ค่อยมีหนังสือดีๆ เกี่ยวกับหุ้นในประเทศไทย เลยต้องซื้อหนังสือต่างประเทศอ่าน เราชอบและดันไปถูกโฉลกกับการลงทุนประเภทวิเคราะห์ทางเทคนิค ดูกราฟ ก็ศึกษามาเรื่อยๆ ถ้ามีวิทยากรจากต่างประเทศมาก็จะไปเรียนกับเขา แล้วก็มีศึกษาเองด้วยส่วนหนึ่ง”
เห็นเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค หลายคนอาจจะสงสัยว่า คุณนิมิตเริ่มต้นด้วยการลงทุนแนวเทคนิคอล (Technical) ก่อนเลยหรือเปล่า? จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคุณนิมิตบอกว่า อันที่จริงได้ลองลงทุนเชิงพื้นฐาน แต่ว่าไม่เข้ามือ ก็เลยเปลี่ยนแนว
“ตอนเรียนป. โท บริหารธุรกิจ (MBA) ก็คิดว่าการลงทุนในหุ้นสามารถดูพื้นฐานได้ แต่อาจจะเพราะยังไม่มีความรู้ ยังไม่เจอหนังสือดีๆ ช่วงนั้น ถ้าเป็นช่วงนี้ละก็ง่ายมาก หากมีใครขอให้ช่วยแนะนำหนังสือดีที่ควรอ่านถ้าจะลงทุนในระยะยาว เราก็จะบอกว่า ไปอ่านหนังสือ The Intelligent Investor เล่มนี้คือแนะนำจริงๆ เราน่าจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ถ้าได้อ่านนะ วันนี้ก็ไม่มี DaddyTrader แล้ว (หัวเราะ) เพราะไม่ต้องมาสนใจการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว จะเป็นแนวพื้นฐานไปเลย แต่ตอนแรกเราลงทุนพื้นฐานแล้วไม่เวิร์คไง เลยต้องหาทางมาลงทุนด้านเทคนิค”
คุณนิมิตเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนี้ก็มีคนเข้ามาแนะนำเทคนิคเยอะแยะ แนะนำวิธีใช้งานนู่นนี่นั่น แต่ปรากฏว่า หนังสือที่อ่านกับสิ่งที่กูรู หรือผู้เชี่ยวชาญสมัยก่อนบอกนั้นกลับไม่ตรงกัน
“เราเลยสนใจอยากรู้ จึงศึกษาไปเรื่อยๆ จนค่อนข้างมั่นใจในตัวเองระดับหนึ่ง ว่าแนวทางที่เราใช้อยู่น่าจะทำเงินได้ โชคดีว่าที่ผ่านมาสามารถทำเงินได้จริงๆ แต่อาจเป็นเพราะว่าโชคดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ สิบกว่าปีแล้วที่หุ้นเป็นขาขึ้น ดีมาตลอด แต่ระหว่างที่หุ้นขึ้นหรือลงก็ตาม มันก็มีพฤติกรรมที่หุ้นลงหนักๆ เหมือนกันในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราก็ยังรอด เลยค่อนข้างมั่นใจว่าแนวทางเทคนิคที่เราใช้อยู่นั้นน่าจะใช้ได้
จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ใช้แนวทางเทคนิคอย่างเดียว มีแนวทางผสมผสานด้วย อย่างการใช้ Futures, Options แล้วก็จะมีกลยุทธ์บางอย่างที่ไม่ได้พึ่งพาเรื่องทิศทางราคา หรือว่าเรื่องชาร์ต (Chart) อย่างเดียว ต้องมีหลายๆ อย่างผสมกัน”
ในมุมมองของคุณนิมิต การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นมีข้อดีตรงที่นักลงทุนมีชาร์ตกราฟ อินดิเคเตอร์ซึ่งมีข้อมูลทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด เดี๋ยวนี้ยิ่งง่ายกว่าสมัยก่อนมาก เพราะมีโปรแกรมและเครื่องมือพร้อม ทุกโบรกเกอร์มีให้หมด นอกโบรกเกอร์ก็ยังมีเครื่องมือให้พร้อม ข้อมูลหาง่ายและ Real Time ฉะนั้นเราจึงสามารถดูและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้
“ไม่ได้ว่าสายพื้นฐานนะ แต่เราไม่มีความถนัดในด้านพื้นฐาน ทำให้เวลาเราไปวิเคราะห์ทางพื้นฐานแล้วมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ พอเราไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เราก็จะไม่ชอบมัน ก็ต้องหาทางอื่น มันก็มีสองทางไง คือวิเคราะห์ทางพื้นฐาน หรือ วิเคราะห์ทางเทคนิค พอพื้นฐานเราดูแล้วว่าเราไม่ค่อยถนัด ได้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีเท่าไร เราก็เลยเลือกทางเทคนิค”
ในตลาดนั้นมีอินดิเคเตอร์ตัวใหม่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่สิ่งที่คุณนิมิตใช้เป็นประจำบนหน้าจอกราฟนั้นกลับเรียกได้ว่าเป็นอินดิเคเตอร์ “คลาสสิก” สะท้อนให้เห็นว่า เทรดเดอร์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินดิเคเตอร์เยอะแยะเสมอไป
“ก็จะมี Exponential Moving Average (EMA) แล้วก็ใช้ Moving Average กับ MACD ดู Volume แล้วก็ RSI อย่างอื่นก็ไม่ค่อยได้ใช้ครับ”
ประสบการณ์การทำงานของคุณนิมิตนั้น เริ่มมาจากการทำธุรกิจส่วนตัวหลังเรียนจบ ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางมาสู่การทำงานในตลาด Futures ถึง 7 ปี จึงกระโดดเข้ามาในสายหลักทรัพย์บ้าง ถึงอย่างนั้น เนื่องด้วยมีความรู้และประสบการณ์ด้าน Futures อย่างแน่นหนา พอได้ทำงานในสายหลักทรัพย์ก็ไม่ได้ทำด้านหุ้น แต่ไปทำแผนก TFEX ซื้อขายล่วงหน้า ดูแลหน้าตาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ออกมาแล้วเข้ากันกับผู้ใช้งาน
“ได้มีโอกาสได้ย้ายไปอีกโบรกเกอร์หนึ่ง อยู่ในกลุ่มอนุพันธ์ (Derivatives) เหมือนเดิม ไปทำ Structured Notes คือเอาหุ้นกู้กับ Options มาผสมกัน แล้วนำไปขายให้กับนักลงทุน อาจจะเคยได้ยิน ELN (Equity-Linked Note) กัน นั่นละคือ Structured Notes ครับ
เราได้โอกาสที่ดีในการทำงาน เมื่อเรามีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์เยอะเกี่ยวกับ Futures เป็น 10 กว่าปี ก็ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในบริษัท TFEX ที่เป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ครับ”
ประมาณ 3 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีคนที่เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนสายเทคนิคเท่าไร รุ่นน้องของคุณนิมิตที่เขียนเพจเกี่ยวกับภาษีและกองทุนก็ได้มาชักชวนคุณนิมิตให้เขียนบทความเปิดเพจ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ ‘DaddyTrader’
“เราก็เลยสนใจ อยากลองเขียนบ้าง อยากถ่ายทอดความเข้าใจในศาสตร์นี้ว่า เราเข้าใจแบบนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น เราก็เลยลองเขียน”
ด้วยความที่เคยเจอกับการขาดทุนตอนที่ลงทุนช่วงแรกๆ มาแล้ว แนวทางที่คุณนิมิตใช้มาจนทุกวันนี้ คือการลงทุนแบบคิดถึงความเสี่ยงก่อนผลตอบแทน เรียกได้ว่าเป็นหลักการเฉพาะตัวเลย
“โดยเฉลี่ยที่เทรดมา กำไรประมาณ 15-16% ต่อปี มันไม่ได้เป็นผลตอบแทนที่เยอะหรอก แต่มันเป็นผลตอบแทนที่เราพอใจ บางคนอาจจะทำผลตอบแทนได้มากกว่านี้นะ แต่จุดที่เรายึดถือเนี่ย คือเราเคยเจ๊งมาก่อน อันไหนที่ไม่ชัวร์ อะไรที่มีแนวทางหรือแนวโน้มที่จะเสียตังค์เนี่ย เราจะไม่เอา
บางทีก็จะมีหุ้นผีบอกหรือหุ้นเพื่อนบอกมา เราต้องมาเช็กกราฟและประเมิน บางทีมันอาจจะดีก็ได้แหละ แต่ช่วงเวลานั้นเราไม่พร้อมจะเสียเงิน อาจจะมีโอกาสได้ตังค์ก็ได้ แต่เราไม่เอา เช็กให้ชัวร์ก่อนดีกว่า”
พอร์ตของคุณนิมิตนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเน้นเป็นแนวเทคนิค ส่วนพอร์ตที่ลงทุนระยะยาวนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจาก LTF RMF ซึ่งมีทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และ REITs คุณนิมิตเลยลองจัดสัดส่วนดู
“จริงๆ แล้วถ้าไม่มี REITs ก็จะจัดเป็นหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% แบบง่ายที่สุดเลย ก็ไม่ต้องไปซีเรียส เพราะในระยะยาว ผลตอบแทนมันดีอยู่แล้ว”
ทางด้านกิจวัตร สิ่งที่อาจทำให้ประหลาดใจคือคุณนิมิตนั้นแม้จะเป็นเทรดเดอร์ แต่ก็ไม่ได้ดูกราฟบ่อย ไม่ได้เข้าไปดูหุ้นตลอดเวลา วันหนึ่งดูประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือไม่ก็ดูเมื่อเห็นข่าวที่อาจกระทบต่อหุ้น นอกจากดูกราฟแล้วก็มีการอ่านหนังสือหุ้น โดยไม่ได้อ่านแค่เอาเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังตั้งใจอ่านเพื่อเข้าใจมุมมองของผู้เขียนด้วย
“เดี๋ยวนี้จะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือที่สอนการเดา หรือการคาดการณ์ว่าราคาจะขึ้นหรือลง กลุ่มที่เริ่มอ่านก็จะเป็นหนังสือกลุ่มแนวความคิด แนวไอเดีย คนที่เทรดเก่งๆ เขามีแนวความคิดหรือมุมมองอะไรอย่างไร เช่น เราเคยมีเวลาอ่านหนังสือ Trading in The Zone เขาก็จะมีให้ไอเดีย หรือถ้าสมมติว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการให้ทิศทาง การเก็งทิศทาง เราก็จะดูว่าคนนี้ คนที่เก่งนี้ ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น”
แล้วถ้าอย่างนี้ ใครคือไอดอลการลงทุนหรือนักเขียนที่คุณนิมิตชื่นชอบเป็นพิเศษ?
“ถ้าเป็นสายพื้นฐานเนี่ย เราจะติดตามคนหนึ่ง คิดว่าคนนี้เก่งมาก ดูหุ้นหลายๆ ตัวที่เขาถืออยู่ Performance มันดี ชอบคุณนิติ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของโอสถสภา คนนี้เก่งมาก
“ถ้าสายเทคนิค เราได้มีโอกาสได้ทำงานตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วได้เจอวิทยากรคนหนึ่งที่มาสอนไอเดียในการเทรด คือคุณต้าน ปณต จิตต์การุญ เราก็รู้สึกชื่นชม เขาเก่งมาก”
ด้วยประสบการณ์ด้านการลงทุนอันยาวนาน บวกกับหลักการที่แข็งแกร่ง วันนี้คุณนิมิตมาพร้อมกับพอร์ต Long Term Defensive Plus พอร์ตกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหลายสินทรัพย์
“สิ่งที่แนะนำเนี่ย แนะนำบนพื้นฐานของตัวผมเองเลยนะครับ อย่างที่เมื่อกี้บอก เราไม่ชอบความเสี่ยง เวลาที่เราเห็นราคาขึ้นๆ ลงๆ เหวี่ยงๆ เนี่ย เราก็จะไม่ชอบ เราก็พยายามหาจุดสมดุล ก็ต้องมีทรัพย์สินมาแชร์ความเสี่ยงกัน เรื่องหุ้นนั้นด้วยความที่เราไม่ได้เป็นนักลงทุนพื้นฐานที่ดี ฉะนั้นก็เลยเลือกหุ้นไม่เก่ง ไม่ได้มองว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี จะเข้าไปในอุตสาหกรรมอะไร หรือว่าจะใช้ธีมไหนดี ถ้าเกิดเราไม่ได้เลือกหุ้นเก่ง มันก็มีทางหนึ่งที่เวลาเราซื้อหุ้นแล้ว เราจะได้เป็นคนกลางๆ เผลอๆ ค่อนไปทางสูงของห้องด้วย นั่นก็คือการซื้อกองทุน Passive”
ความพิเศษของกองทุน Passive ในมุมมองของคุณนิมิตคือ สมมติว่ามีคนอยู่ 100 คน ถ้าเราเลือกกองทุนประเภท Passive อย่างไรเราก็ไม่สอบตก แต่ก็ไม่ได้เป็นคนที่ 1 ที่ 2 เช่นกัน เป็นแค่คนกลางๆ คุณนิมิตก็เลยเลือกตรงนี้ เพราะในระยะยาวนั้นผลตอบแทนก็พิสูจน์มาแล้วว่ายั่งยืน
ส่วนชื่อ Long Term Defensive Plus นั้นมีที่มา คำว่า Long Term ถูกนำมาใช้เพราะการที่พอร์ตมีหุ้น ทำให้ไม่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น ส่วน Defensive นั้นมีอยู่ในชื่อเพราะพอร์ตมีสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ไม่เสี่ยงมาก นั่นก็คือตราสารหนี้ ส่วน Plus นั้นก็คือการเพิ่มสินทรัพย์อย่าง REITs เข้ามาเพื่อสร้างกระแสเงินสด
“จากเดิม ถ้าใครเป็นพวก Defensive ก็จะมีหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% แต่ว่าตอนนี้ตราสารหนี้ถูกแบ่งออกไปมาลงทุนใน REITs บ้าง ตัวนี้ก็จะบวกผลตอบแทนขึ้นมา
“ต้องบอกว่ากองทุนประเภท REITs หรือกองทุนอสังหาฯ มันตอบโจทย์เรามากเลย เพราะว่ามันให้ผลตอบแทน และเราน่าจะเป็นคนที่ลงทุนกองพวกนี้ตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่ก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อีก คือซื้อพวก CPNREIT (ก่อนหน้านี้คือ CPNRF) ตั้งแต่ 8-9 บาท เราเล่นพวกนี้มาโดยตลอด ตอนนี้เราเห็นราคาใกล้ ๆ 30 บาท ส่วน SPF ซื้อมาตั้งแต่ 7-8 บาทตอนที่มันลงไปเยอะๆ แต่ตอนที่ซื้อก็ไม่ได้สนใจราคาว่ามันถูกหรือแพง เราเห็นว่ามันให้กระแสเงินสดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เป็นสินทรัพย์ที่ดี ยังไงคนก็ต้องเข้ามาเช่า ตอนที่เราซื้อเราอยากได้แค่ 7-8% ต่อปี ก็มานั่งลองคำนวณกระแสเงินสด แล้วลองคิด IRR (Internal Rate of Return)
ต้องยอมรับว่าตอนนี้ถ้าใครมาซื้อ ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 6% กว่าๆ ยังมีอีกหลายตัวที่ระยะยาวก็ยังทำกระแสเงินสดได้ ฉะนั้นผลตอบแทนตัว REITs ค่อนข้างมั่นคง และจะมาช่วยถ่วงดุลตราสารหนี้ที่บางทีก็มีดอกเบี้ยสูงบ้างต่ำบ้าง พออยู่ในพอร์ตแล้วเนี่ย รวมๆ กันในระยะยาว ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ออกมาดี ระดับ 7-8% ค่อนข้างมั่นใจ และคาดหวังได้ครับ”
พอร์ต Long Term Defensive Plus เปิดให้ลงทุนแล้ว หากผู้ใดสนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงชื่อรับบริการจัดพอร์ตได้ที่นี่ https://www.finnomena.com/port/daddytrader
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต