สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

สำหรับคนไทยทุกๆ คนที่คิดถึงพ่อ วันนี้ FINNOMENA ขอเล่าเรื่องราวคำสอนของพ่อ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้มุมมองของสายการเงินแบบการเก็บออมเงินที่คุณสามารถนำมาปรับใช้กันได้ในชีวิตประจำวัน ทุกคนเข้าใจ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้และปรับนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ ของชีวิต?

ก่อนอื่นขอพาคุณทบทวนบทเรียน จากนั้นเราจะนำบทเรียนของพ่อมาประยุกต์ใช้กับการออมเงินกัน

สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร?

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี” – อ้างอิง http://www.chaipat.or.th

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

1. ความพอประมาณ

หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ออมแบบไหนถึงจะพอประมาณ?

ออมเงินน้อยเกินไป ทำให้เราต้องเสียโอกาสการออมเงินเรื่องที่จำเป็นไป คุณอาจจะใช้จ่ายมากเกินไปในเรื่องที่ไม่จำเป็น ถึงเวลาคุณจำเป็นต้องใช้เงินคุณอาจจะเกิดการหยิบยืมคนรอบข้างบ้าง เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ออมเงินมากเกินไป อดออม ประหยัด มีเงินเก็บออม หากมากไป ก็อาจจะทำให้คุณไม่มีความสุขในชีวิต ไม่ได้ซื้อสิ่งที่ตัวเองอยากได้ หรือของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต การเก็บออมเงินนั้นดี แต่อย่ามุ่งหวังที่จะออมเงินอย่างเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นเพื่อทำให้ชีวิตสมดุล ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน

ดังนั้น คุณควรออมเงินแบบทางสายกลาง โดยหาจุดที่เหมาะสมสำหรับคุณ

สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

2. ความมีเหตุผล

หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

เหตุผลอะไรทำให้ออมเงิน?

เหตุผลการออมเงินของคุณคือเรื่องอะไร เป้าหมายอะไร จำนวนเงินที่ต้องการเท่าไร จำนวนเงินที่สามารถออมเงินได้มีเท่าไร วิธีการใดที่สามารถช่วยออมเงิน เป้าหมายนี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่าง เช่น ออมเงินเพื่อบ้านอยู่อาศัยกับครอบครัว 4-5 คน ราคา 1,000,000 บาท ก่อนอื่นคุณอาจจะลองกำหนดระยะเวลาการออมเงินก่อนว่าอยากใช้เวลากี่ปี จากนั้นคุณก็จะพอเห็นภาพว่าปีหนึ่งคุณควรมีเงินเก็บเท่าไร ลองคิดคำนวณกลับว่าคุณต้องออมเงินเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้เพื่อให้ได้เงินจำนวนนี้ สัดส่วนนี้เข้มงวดกับการใช้เงินเกินไปไหม? มีวิธีไหนที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่าการฝากธนาคารเฉยๆ บ้าง?

เมื่อลองวางแผนแบบนี้ คุณจะสามารถเห็นเป้าหมายได้ชัดขึ้น รู้ว่าเป้าหมายสมเหตุสมผลกับสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นหรือไม่เห็นในสิ่งที่ต้องทำ แล้วรู้ว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

3. ภูมิคุ้มกัน

หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภูมิคุ้มกันอะไรปกป้องเงินออม?

คุณจะปกป้องเงินออมของคุณอย่างไร? ถ้าจะออมเงินแบบมีภูมิคุ้มกันคุณต้องมีการเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

ถ้าคุณเกิดป่วยต้องเข้ารับการรักษา หรือถ้าคุณตกงาน ไม่มีเงินใช่จ่าย การมีเงินส่วนฉุกเฉินไว้จะทำให้คุณไม่นำเงินออมออกมาใช้จ่าย เพราะคุณได้ทำการเตรียมตัวไว้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว

เมื่อใช้หลักความมีเหตุผล คุณก็จะกำหนดได้ว่าคุณจำเป็นต้องมีออมเงินฉุกเฉินเท่าไร คุณคาดว่าคุณจะป่วยเป็นอะไร จำนวนเงินค่ารักษาทำไร ตกงานกี่เดือน แค่นี้แผนการออมเงินของคุณจะถูกปกป้องไว้ระดับหนึ่งแล้ว

สร้างกลยุทธ์การออมเงิน จาก "ปรัชญาความพอเพียง"

เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงมี ๒ ประการ  ดังนี้

1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ

อะไรที่ต้องรู้?

ความรู้ที่จำเป็นต่อการเก็บออมเงินมีเรื่องอะไรบ้าง เป้าหมายของคุณนั้นจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไรเป้าหมายไหนจำเป็นมากกว่ากัน ระยะเวลาเก็บเงินนานเท่าไร

ออมเงินแบบไหน? เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือจะลงทุนกองทุนรวม ลงทุนหุ้น?

แล้วคุณจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร?

ทั้งหมดนี้ คุณจะมีคำตอบก็ต่อเมื่อคุณศึกษาข้อมูลให้รอบด้านและครบถ้วน ดูอย่างกรณีเวลาคุณต้องการจะซื้อสมาร์ตโฟน 1 เครื่องสิ ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินคุณยังทำการศึกษาหาข้อมูล เข้าเว็บไซต์ เดินดูร้านนี้ ร้านนั้น ราคาเท่าไร ใครให้โปรโมชั่นคุ้มค่าที่สุดเลย  การออมเงินก็เหมือนกัน คุณจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูล เข้าใจเป้าหมายของคุณก่อนตัดสินใจและวางแผนการลงมือทำ

2. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย การมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

คุณธรรมสอนลงมือ

การออมเงินเกี่ยวอะไรกับคุณธรรม? หลายคนอาจจะสงสัย

อันที่จริง การออมเงินจำเป็นต้องใช้คุณธรรมอย่างมาก ต้องมีความอดทน มีความเพียรในการออมเงินให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง มีสติปัญญาในการจัดการเงินออม จะไม่นำเงินออกไปโดยไม่จำเป็น สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

หากมีออมเงินเหลือเราก็สามารถร่วมทำการบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม หรือแนะนำหลักการนี้ ให้คนอื่นได้เรียนรู้ปฏิบัติตาม และสามารถช่วยแบ่งปันวิธีการออมเงินของคุณให้คนอื่นๆ ได้ด้วย

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่เศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อม/วัฒนธรรมที่สมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

คุณสามารถนำคำสอนพ่อ “ปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด สามารถปรับใช้ได้ ขอแค่คุณเข้าใจคำสอนของพ่อ แล้วนำเอาไปเป็นหลักคิด หลักการดำเนินชีวิต ก็ทำได้แล้วครับ

“พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน 2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดี เป็นสภาพคุณงามความดีทางความ ประพฤติและจิตใจ”

เพิ่มเติม บทความ 5 วิธีการช่วยเก็บออมเงินสำหรับมือใหม่
https://www.finnomena.com/z-admin/5-ways-to-save-money/

อ้างอิง:
http://www.chaipat.or.th/site_content/34-13/3579-2010-10-08-05-24-39.html
http://www.dol.go.th
https://sites.google.com/site/prachyasersthkicphxpheiyng12/-site-prachyasersthkicphxpheiyng12

TSF2024