ในปี 2563 เกิดความฮือฮาขึ้นเมื่อได้มีการนำ กองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเข้ามาแทนที่กองทุน LTF ที่มีอยู่เดิม รวมถึงยังมีการปรับเกณฑ์ กองทุน RMF ใหม่อีกด้วย
แน่นอนว่า การทำความเข้าใจกองทุนลดหย่อนภาษีนั้นเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จทางการเงิน สำหรับใครที่ยังเป็นมือใหม่ วันนี้เราจะมาสรุปทุกเรื่องของกองทุน SSF และ RMF แบบอัปเดตล่าสุด ไล่ไปตั้งแต่คำถามที่ว่า กองทุน SSF ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ 3 ปีคืออะไร มีเกณฑ์การลดหย่อนอย่างไร รวมถึงทบทวนรายละเอียดของกองทุน RMF ให้ฟัง
กองทุน SSF คืออะไร?
- กองทุน SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พิเศษกว่ากองทุนรวมทั่วไปตรงที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะลดหย่อนแบบปีต่อปี ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีนั้น ในช่วงระยะเวลาปี 2563-2567
ลงทุนในอะไรบ้าง
- ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่ากองทุน LTF เดิมที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย
สิทธิประโยชน์
- สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (เช่น กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง
ข้อจำกัด
- เงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนเพิ่มเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ต่างจาก LTF เดิมคือ 7 ปี
- ให้ประโยชน์ลดหย่อนภาษีเพียง 5 ปี (2563-2567) โดยหลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาอีกที
SSF ต่างจาก SSFX อย่างไร
หลายคนอาจจะคุ้นหูคำว่า SSFX ช่วงที่ SSF ออกมาใหม่ ๆ แม้ว่ากองทุน SSFX จะไม่มีการขายแล้ว แต่เราขอนำกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกสักรอบ
- SSFX คือกองทุนที่เปิดขายในช่วงวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563 เท่านั้น
- ลดหย่อนภาษีจาก SSFX ได้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินได้ และไม่ถูกนำไปนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
- กองทุน SSFX ลงทุนแค่ในหุ้นไทยเท่านั้น โดยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่า NAV ทั้งหมด
- ส่วนที่เหมือนกับ SSF คือเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุน นั่นคือต้องถือ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
RMF และข้อปรับเปลี่ยน
- ในปี 2563 ได้มีการปรับสัดส่วนในการลดหย่อนภาษีเพิ่ม จากเดิมที่ 15% เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท และนับรวมกองทุนอื่น ๆในวงเงินด้วย (เช่น กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ)
- ยกเลิกกำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการลงทุนจากเดิม 5,000 บาท เป็นเท่าไรก็ได้ โดยไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม
* ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปจะไม่สามารถนำกองทุน LTF มาลดหย่อนได้
อ่านเพิ่มเติม ลดหย่อนภาษี: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!
สรุปวิธีคำนวณภาษี: รายได้เท่าไรต้องเสียภาษีเท่าไร?
เปิดบัญชีกองทุน Tax Saving เลือกลงทุนใน SSF และ RMF ผ่าน Finnomena ได้แล้ว ดูรายละเอียด คลิก!