ในบทความนี้ ขอพาไปทำรู้จักกับ “บริการ NDID” บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลที่จะทำให้ชีวิตของทุกคนสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมวิธีการยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
สารบัญ
- NDID คืออะไร?
- ขั้นตอนการลงทะเบียนรับบริการ NDID
- วิธีตรวจสอบว่ามี NDID กับธนาคารใด
- การยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
- ขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
- คำถามที่พบบ่อย
NDID คืออะไร?
National Digital ID (NDID) Platform คือ Platform กลางของประเทศไทยในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน
เป็นระบบกลางสำหรับบริหารจัดการ Digital ID เพื่อสนับสนุนกระบวนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น การตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (e KYC) การลงนามด้วยลายมือชื่อดิจิทัล (e Signature) การให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e Consent) เป็นการสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบ Data Sharing โดยทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการ Data Sharing ดังกล่าวต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนจึงจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้
หลักการออกแบบระบบ NDID เป็นแบบ Data Security and Privacy by Design เป็นบริการที่มีความปลอดภัยสูงด้วยการเข้ารหัสในการรับส่งข้อมูล และระบบไม่มีการรวมศูนย์เก็บข้อมูล เพราะฉะนั้นข้อมูลจะยังคงอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลข้อมูลและให้บริการลูกค้า โดยระบบถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Decentralized ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งผู้ดูแลระบบคือ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด จะไม่สามารถเห็นข้อมูลใด ๆ ของลูกค้า
ทั้งนี้ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเลกทรอนิกส์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทไปรษณีย์ไทย รวมมากกว่า 60 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับ จึงมั่นใจได้ว่าหน่วยงานที่กำกับและบริษัทเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามกฏหมายและกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลอย่างแน่นอน
โดย NDID Platform มีสมาชิกอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
- RP (Relying Party): หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ให้บริการโดยตรงกับลูกค้า และต้องการระบบยืนยันตัวตน โดยให้บริการลูกค้าได้ทั้ง F2F (Face to Face) และ NonF2F ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องการรับบริการรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถหาลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งช่วยในการลดต้นทุนการบริการ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อ เป็นต้น
- IdP (Identity Provider): หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่พิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ขอใช้บริการ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) โดยสามารถออกสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนได้ เช่น Mobile Banking หน่วยงานเหล่านี้ได้แก่ ธนาคาร และบริษัทโทรคมนาคม
- AS (Authoritative Source): หน่วยงานที่มีข้อมูลส่วนบุคคลที่น่าเชื่อถือของผู้ขอใช้บริการ เช่น ธนาคาร บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NDB) และหน่วยงานรัฐ
จุดเด่นของ NDID
- ลดความยุ่งยาก ซับซ้อนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่เปลืองทรัพยากรเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเวลาและแรงงาน
- ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และไม่ต้องมีหลาย ID
- ยกระดับการทำธุรกรรมของประเทศไทยให้มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล โดยมีความปลอดภัยสูงกว่าการทำธุรกรรมที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยสำเนาบัตรประชาชน
ข้อควรทราบเกี่ยวกับ NDID Platform
- NDID Platform ไม่ใช่ระบบเก็บข้อมูลรวมศูนย์ ข้อมูลส่วนบุคคลยังคงเก็บอยู่ที่สมาชิกทั้ง 3 ประเภท คือ RP, IdP และ AS ดังนั้น NDID จึงไม่เห็นข้อมูลการทำธุรกรรม
- NDID เก็บแค่ข้อมูล Timestamp บนระบบ Blockchain ว่าสมาชิกมีการร้องขอการพิสูจน์และยืนยันตัวตนไปที่ IdP ใด ณ เวลาใด และ AS ใด มีการส่งข้อมูลกลับไปยัง RP เวลาใดเช่นกัน
- การส่งข้อมูลจาก AS กลับมายัง RP เป็นการส่งนอก NDID Platform แต่รับส่งกันด้วยมาตรฐานที่ NDID เป็นผู้ออกแบบให้ จึงมั่นใจได้ว่า NDID จะไม่เห็นข้อมูลใด ๆ ของลูกค้า
ขั้นตอนการลงทะเบียนรับบริการ NDID
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่ามีบัญชีธนาคารแล้วจะสามารถใช้ NDID ได้เลย เพราะเราต้องผ่านลงทะเบียน NDID กับธนาคารเพื่อรับบริการ NDID ก่อน ซึ่งเราได้รวบรวมวิธีการลงทะเบียนรับบริการ NDID ของแต่ละธนาคารมาไว้ให้แล้ว
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คลิก
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คลิก
- ธนาคารกรุงไทย (KTB) คลิก
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คลิก
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คลิก
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) คลิก
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB) คลิก
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB) คลิก
วิธีตรวจสอบว่ามี NDID กับธนาคารใด
อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะมีคำถามว่า “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามี NDID กับธนาคารไหนบ้าง?” ใครที่มีคำถามนี้อยู่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะเราได้รวบรวมวิธีการตรวจสอบว่าเรามี NDID กับธนาคารใดมาไว้ให้แล้ว คลิกที่ลิงก์ด้านล่างได้เลย
วิธีตรวจสอบว่ามี NDID กับธนาคารใด
การยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
การยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนกับ Finnomena Funds สามารถทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
- ยืนยันตัวตนผ่าน NDID ที่แอปพลิเคชันธนาคารที่เข้าร่วมเครือข่าย NDID
- ยืนยืนตัวตนผ่าน Counter Service ที่ 7-Eleven
ซึ่งจะเลือกยืนยันผ่านช่องทางไหนก็สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของแต่ละคนเลย แต่ขอเน้นไว้ว่าให้ เลือกทำเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น นะ ซึ่งในบทความนี้จะพาไปยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds ส่วนใครที่สะดวกช่องทาง Counter Service ก็สามารถศึกษาขั้นตอนได้โดยการคลิกที่ลิงก์ด้านล่างเลย
ขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่าน Counter Service เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
ขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds
ก่อนที่จะพาทุกคนไปดูขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds แล้วก็ขอพาทุกคนมาตรวจสอบตัวเองให้พร้อมก่อนด้วย Checklist ทั้ง 5 ข้อ ซึ่งได้แก่
1. มีบัญชีธนาคาร (ไม่ใช่บัญชีออนไลน์) กับธนาคารที่ต้องการใช้บริการ
-
- สำหรับ SCB ต้องเป็นบัญชีที่เปิดตั้งแต่ ก.ย. 62 เป็นต้นไป
2. เคยเสียบบัตรประชาชนที่สาขาของธนาคารที่ต้องการใช้บริการ
-
- สำหรับ KBANK สามารถเสียบบัตรที่ตู้ K-Check ID ได้
3. เคยถ่ายรูปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารที่ต้องการใช้บริการ
-
- สำหรับ KBANK ต้องถ่ายรูปยืนยันตัวตนที่แอปฯ K PLUS
- สำหรับ BBL สามารถถ่ายรูปยืนยันตัวตนได้ทั้งที่แอปฯ Bualuang mBanking หรือที่สาขาธนาคาร
4. มีแอปพลิเคชันธนาคารที่ต้องการใช้บริการซึ่งพร้อมใช้งาน
5. เคยลงทะเบียน NDID กับธนาคารที่ต้องการใช้บริการ
ถ้าตรวจสอบตัวเองแล้วมีครบถ้วนทั้ง 5 ข้อก็สามารถยืนยันตัวตนผ่าน NDID เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds ได้แล้ว โดยการยืนยันตัวตนผ่าน NDID ของธนาคารต่าง ๆ เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนการใช้บริการ NDID
ไม่ว่าจะคุณจะใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารใดอยู่ เราก็ได้รวบรวมขั้นตอนการใช้บริการ NDID ของแต่ละธนาคารมาไว้ให้แล้ว
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คลิก
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คลิก
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คลิก
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คลิก
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKPB) คลิก
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB) คลิก
- ธนาคารออมสิน (GSB) คลิก
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB) คลิก
- ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) คลิก
คำถามที่พบบ่อย
- Q: การยืนยันตัวตนผ่าน NDID และ Counter Service เพื่อเปิดบัญชีกับ Finnomena Funds มีค่าใช้จ่ายหรือไม่?
- A: ไม่มีค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ช่องทาง
- Q: สามารถมี NDID หลายธนาคารได้หรือไม่?
- A: มีหลายธนาคารได้
- Q: ธนาคารที่ใช้สำหรับการยืนยันตัวตนผ่าน NDID กับธนาคารที่ใช้สำหรับอนุมัติหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ (ATS) ต้องเป็นธนาคารเดียวกันหรือไม่?
- A: ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารเดียวกัน
- Q: สามารถยืนยันตัวตนผ่านทั้ง NDID และ Counter Service 2 ช่องทางเลยได้หรือไม่?
- A: ไม่ได้ ต้องเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง
- Q: หลังจากที่ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารเสร็จ ระบบจะสลับเข้าแอปพลิเคชัน Finnomena เพื่อทำรายการต่อโดยอัตโนมัติหรือไม่?
- A: ไม่ ต้องทำการกดเข้าแอปพลิเคชัน Finnomena อีกครั้งเพื่อทำรายการต่อ
- Q: สามารถยืนยันตัวตนผ่าน NDID หรือ Counter Service ก่อนการเปิดบัญชีได้หรือไม่?
- A: ไม่ได้
- Q: หากยืนยันตัวตนผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งไม่ผ่าน สามารถยืนยันตัวตนผ่านอีกช่องทางหนึ่งได้หรือไม่?
- A: สามารถทำได้ เช่น ในกรณีที่ยืนยันตัวตนผ่าน NDID ไม่ผ่าน สามารถเปลี่ยนไปยืนยันตัวตนผ่าน Counter Services ได้
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ผ่านทางช่องทาง Live Chat บนแอปพลิเคชัน Finnomena หรือ LINE“@FinnomenaPort” หรือโทร 02 026 5100