หลายคนอาจจะคุ้นชินคำว่า “เงินเฟ้อ” หรือ Inflation ตามหน้าข่าวบ่อยๆ หรือพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ขนาดนั้น สรุปข้าวของแพงขึ้นมันดีไม่ดีกัน หรือบางคนเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อแล้ว แต่ก็ยังสับสนระหว่างคำว่า “ภาวะเงินเฟ้อลดลง” หรือ Disinflation มันแตกต่างกับ “เงินฝืด” หรือ Deflation อย่างไร ทำไมชีวิตมันงงงวยขนาดนี้กันนะ? วันนี้มาลองไขข้อสงสัยเหล่านี้กันดีกว่าค่ะ…
เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร?
เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในเชิงของมูลค่าของเงินกลับต่ำลง
ตัวอย่างของสถานการณ์เงินเฟ้อ
สมัยเมื่อสิบปีก่อน เด็กหญิงกอไก่สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามได้ในราคา 20 บาท สิบปีต่อมา นางสาวกอไก่พบว่าเงิน 20 บาทของเธออาจจะซื้อได้แค่ก๋วยเตี๋ยวครึ่งชาม ถ้าอยากจะซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม เธอจะต้องจ่ายเงินถึง 40 บาทเลยทีเดียว
เห็นได้ชัดว่ามูลค่าของเงิน 20 บาทของเมื่อสิบปีก่อนกับวันนี้มันลดลงนั่นเอง
ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index or CPI) เป็นเครื่องมือการวัดอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค
ถึงอย่างนั้น เงินเฟ้อก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะว่าตามทฤษฎี เงินเฟ้อจะทำให้คนรู้สึกมีเงินเยอะขึ้น คนซื้อก็จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนขายก็อยากจะเพิ่มการผลิตเพื่อนำไปขายมากขึ้น เศรษฐกิจก็เติบโตด้วยนั่นเอง
ปกติแล้ว อัตราเงินเฟ้อจะถูกควบคุมโดยธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านนโยบายการเงินเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือเกิดความผันผวนมากเกินไป ไม่งั้นจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) เหมือนเวเนซุเอลาที่เงินแทบจะไร้ค่า…
แล้ว ภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation)? แตกต่างกับ เงินฝืด (Deflation) ยังไง?
ทุกคนชอบสับสนระหว่าง Disinflation กับ Deflation ซึ่งสองคำนี้ดูๆ แล้วคล้ายกัน แต่มันไม่เหมือนกันซักทีเดียว
ภาวะเงินเฟ้อลดลง หรือ Disinflation คือการชะลอตัวของภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไป หรือพูดสั้นๆ ก็คืออัตราเงินเฟ้อก็ยังสูงขึ้นแต่สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำลง หรือจะให้เข้าใจกว่านี้คืออัตราเงินเฟ้อที่ลดลงแต่ยังอยู่ในช่วงบวก
ตัวอย่างเช่น ในปีแรก อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% แต่ปีถัดไป อัตราเงินเฟ้อตกไปที่ 2.5% เป็นสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง
ซึ่งแตกต่างจากเงินฝืด (Deflation) ที่เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปต่ำลงต่อเนื่อง และตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 0% หรืออัตราเงินเฟ้อติดลบ สรุปคือตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ (Inflation) นั่นเอง
ถ้าหากคุณดีใจที่จะเจอเงินฝืด คุณคงคิดผิด เพราะว่าเงินฝืดนั้นส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว สาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นคงในสภาวะทางเศรษฐกิจ อุปสงค์ (Demand) จึงลดลงนั่นเอง พอไม่มีคนช่วยซื้อของ คนขายของก็ไม่อยากจ้างลูกจ้าง คนก็ถูกไล่ออก งานก็ไม่มีให้ทำ เงินจะกินก็ไม่มี สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจก็ไม่โต ดังนั้นถ้าคุณกำลังเจอกับสภาวะเงินฝืด คุณต้องระมัดระวังกับเศรษฐกิจในประเทศดีๆ
สรุปแล้ว เงินเฟ้อคือภาวะระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้น ถ้ามองมุมมองโดยทั่วไป เงินเฟ้อในระดับที่พอเหมาะนั้นจะดีต่อสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากเงินฝืดที่มีระดับราคาลดลงและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ส่วนกรณีของภาวะเงินฝืดลดลงเป็นการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง
ที่มา: https://www.investopedia.com/ask/answers/111414/how-can-inflation-be-good-economy.asp
https://www.investopedia.com/ask/answers/032415/what-difference-between-deflation-and-disinflation.asp