รีวิว GURUPORT:
ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 6 กับพอร์ตการลงทุนหลากสไตล์
ทั้งคลาสสิก ครอบคลุมทั่วโลก และเจาะการเติบโต
Article & Illustration by: FINNOMENA REVIEW TEAM
Key Highlights
- หากจะให้สรุปแนวคิดของ GURUPORT ด้วยคำสั้นๆ คงหนีไม่พ้นคำว่า Crowdsourcing ซึ่งคือการที่มนุษย์ตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้ที่มีความสนใจคล้ายๆ ตน ยิ่งสมัยนี้เรามีเครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียมาเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันข้อมูลด้วยแล้ว กระบวนการนี้ก็ยิ่งสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม และทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลมากมายเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ
- ความดีงามอย่างหนึ่งของ GURUPORT ทั้ง 6 แผนคือใช้เงินเริ่มต้นไม่เยอะเลย เพียงแค่หลักหมื่นเท่านั้น โดยพอร์ตที่ใช้เงินลงทุนน้อยสุดอยู่ที่ 20,000 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาท แผนทั้ง 6 เน้นการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนที่จะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนอย่างยั่งยืนโดยที่ความเสี่ยงไม่ผันผวนเกินไป
-
เราสามารถแบ่งประเภทของ GURUPORT ได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. Global Asset Allocation - กระจายการลงทุนทั่วโลกในหลายสินทรัพย์ 2. Thematic Style - ลงทุนตามธีมที่ชอบ โดยตอนนี้จะเป็นพอร์ตที่เน้นการเติบโต และ 3. Classic Strategy - กลยุทธ์เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ลงทุนยาวๆ ได้แบบไม่ต้องกังวล
Introduction
หากจะให้สรุปแนวคิดของ GURUPORT ด้วยคำสั้นๆ คงหนีไม่พ้นคำว่า Crowdsourcing
Crowdsourcing คือการที่มนุษย์ตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้ที่มีความสนใจคล้ายๆ ตน ยิ่งสมัยนี้เรามีเครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียมาเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันข้อมูลด้วยแล้ว กระบวนการนี้ก็ยิ่งสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม และทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลมากมายเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ เรียกได้ว่า ถ้าเราไม่เกิดอาการลำเอียง Crowdsourcing ก็จะช่วยให้เรามีมุมมองที่หลากหลายขึ้นต่อประเด็นนั้นๆ
ในแง่ของการลงทุน ก่อนหน้านี้เราอาจจะได้รับข้อมูลแค่จากฝั่ง Sell Side หรือผู้ขายเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีข้อมูล Buy Side จากแหล่งที่หลากหลาย เราจะได้รับข้อมูลจากผู้ลงทุนด้วยกันเองในฐานะผู้ซื้อว่าเขาคิดเห็นอย่างไร เรารับฟังมุมมองจากบุคคลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัว คนแปลกหน้าในชุมชนออนไลน์ หรือกูรูด้านการลงทุนที่มีชื่อเสียง ต่างล้วนมีพลังโน้มน้าวการตัดสินใจของบุคคลทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ ฟินโนมีนาจึงเกิดไอเดียการสร้างพอร์ตแบบใหม่ โดยร่วมมือกับเหล่ากูรูด้านการลงทุนทั้ง 6 ท่าน ซึ่งต่างก็มีความเชี่ยวชาญหลากหลายกันไป แต่ทุกคนล้วนได้รับการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ผ่านผลงานของพวกเขาและผู้ติดตามอย่างน้อยหลักหมื่น
แน่นอนว่าพอร์ตที่ทำร่วมกับฟินโนมีนานั้นต้องมีความเป็นเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง GURUPORT เองก็ใช้ระบบ Robo-Advisor เพื่อช่วยแนะนำกองทุนที่ควรลงทุนเช่นกัน รวมถึงช่วยติดตามผลการดำเนินงานและคอยแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ นี่จึงเป็นการผสมผสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญรายบุคคล กับ เทคโนโลยีที่แม่นยำ ก่อกำเนิดพอร์ตการลงทุนที่มีความโดดเด่นน่าตื่นตาตื่นใจ
ความดีงามอย่างหนึ่งของ GURUPORT ทั้ง 6 แผนคือใช้เงินเริ่มต้นไม่เยอะเลย เพียงแค่หลักหมื่นเท่านั้น โดยพอร์ตที่ใช้เงินลงทุนน้อยสุดอยู่ที่ 20,000 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาท จากนั้นใครอยากจะลงทุนเพิ่ม หรืออยากจะ DCA ก็สามารถทำได้ตามแต่ใจอยาก
แผนทั้ง 6 เน้นการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนที่จะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนอย่างยั่งยืนโดยที่ความเสี่ยงไม่ผันผวนเกินไป ดูเผินๆ เราดูทั้ง 6 พอร์ตก็อาจจะยังไม่รู้ว่าแต่ละพอร์ตต่างกันอย่างไรบ้าง บทความนี้เราจะค่อยๆ พาไปสำรวจกัน ดังนั้น เราขอแบ่งพอร์ตทั้ง 6 ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและเปรียบเทียบ ใครอยากอ่านรายละเอียดของแต่ละประเภทโดยเฉพาะ สามารถคลิกที่หัวข้อด้านล่างเพื่อเลื่อนไปอ่านได้เลย
แต่ถ้าใครอยากจัดเต็ม ก่อนที่จะไปเจาะลึกแต่ละพอร์ต เราอยากให้ทุกคนหันกลับไปพิจารณาสภาวะตลาดที่ผ่านมาสักนิด เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อพอร์ตได้เข้มข้นยิ่งขึ้น
Market Review
ผ่านมากันเรียบร้อย กับครึ่งปีแรกของการลงทุนอันแสนวุ่นวาย ที่มีเรื่องให้ลุ้นกันวันต่อวัน
ส่งผลให้เกิดเป็นการ Rally ในหุ้นทั่วโลกแบบรถไฟเหาะ ที่ปรับตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้นตั้งแต่วันทำการแรกของปี จนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ตลาดปรับตัวลงอีกครั้ง และ กลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน
โดยนับตั้งแต่ต้นปีนั้นตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 39% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นสูงสุด 21% จากความคาดหวังว่าสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาแรมปีจะจบลงเสียที ก่อนที่ความหวังดังกล่าวจะมาพังลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่มีการ “ล้มโต๊ะ” เจรจาจากทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ตลาดปรับตัวลง 14% และ 8% ตามลำดับ แต่แล้วแสงแห่งความหวังก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่นาย Donald Trump และ Xi Jin Ping ประธานาธิบดีทั้งสองฝ่ายประกาศว่าจะมีการพบปะกันนอกรอบที่การประชุม G-20 อย่างแน่นอน
ซึ่งก็อย่างที่เราทราบกันต่อมาภายหลัง ว่าท้ายที่สุดข้อตกลงทางการค้า กลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง พร้อมกับท่าทีประนีประนอม ด้วยการเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ออกไป ส่งผลให้ตลาดหุ้นกลับมาวิ่งได้ต่อ
ซึ่ง FINNOMENA IC นั้นมีมุมมองว่า ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ นั้น เป็น 1 ในตัวเร่งสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นชะลอตัว เพราะเมื่อพิจารณานโยบายการเงินในช่วงปี 2018 จะพบว่านโยบายการเงินนั้นก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งนอกจากสงครามการค้า และการชะลอตัวตามวัฏจักร
เนื่องจากในช่วงปลายปี 2018 นั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีท่าทีการใช้การเงินแบบตึงตัว (Tighten Monetary Policy) และส่งสัญญาณว่าครึ่งปีแรก 2019 นั้นจะยังคงใช้มาตรการเช่นนั้นต่อไป เพื่อเป้าหมายหลักก็คือการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ป้องกันความเสี่ยงมิให้เกิดฟองสบู่ขึ้น สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวเร็วกว่าคาดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไป
แต่เมื่อนักลงทุนกังวลมากๆ ธนาคารกลางก็กังวลไปด้วยตามๆ กัน เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการกระทบกระทั่งโดยตรง แต่เดชะบุญที่ภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในฟากฝั่งของสหรัฐฯ ยุโรป และจีนนั้น ยังมีความมั่งคั่งเดิมอยู่มากจากรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้การบริโภคในครัวเรือนยังช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อ
แต่แล้วสัญญาณก็เริ่มแย่ลงอีก เมื่อการบริโภคที่คอยช่วยพยุงเศรษฐกิจนั้น เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวด้วยเช่นกัน ผ่านทางดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มต่ำกว่าเป้า และยอดการค้าปลีก ซึ่งเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของการบริโภคนั้น เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุดแล้ว ธนาคารกลางเหล่านั้นก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป ออกมามีนโยบายการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากปล่อยให้นักลงทุนกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ชัดเจนอยู่นานด้วยการส่งสัญญาณว่าพร้อมจะกระทำทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือนักลงทุนคาดหวังว่าจะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง (Easing Monetary Policy) ซึ่งประกอบไปด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย, และการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอีกครั้ง
ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกนั้นปรับตัวขึ้นรับปัจจัยบวกทั้งสอง บนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่สดใสเท่าใด เสมือนการ Running on the water surface (วิ่งบนผิวน้ำ) ที่อาจจะจมลงได้ทุกเมื่อ
แต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์เหล่านั้นจบลงแล้วหรือ?
Donald Trump ผู้นำสายฮาร์ดคอร์ ผู้มีกลยุทธ์การเจรจาแบบสุดโต่ง เริ่มการคุกคามทางการค้าจีนภายใต้ข้อกล่าวหาด้านความเป็นธรรมทางด้านการค้า ซึ่งพยายามเดินหน้าทุกรูปแบบเพื่อลดการขาดดุลมาตลอดเวลาเกือบปี ก่อนที่ภาพจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าท้ายที่สุดแล้วนั้น ความขัดแย้งเบื้องหลังที่แท้จริงนั้นประกอบไปด้วย ความขัดแย้งเชิงสมดุลอำนาจของโลก ทรัพย์สินทางปัญญา และ ความมั่นคง มิใช่แค่เพียงดุลการค้าเท่านั้นที่เป็นประเด็นหลัก ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วการกระทบกระทั่งจะยังเกิดขึ้นต่อๆ ไป ควบคู่กับความพยายามเจรจา ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งความเสี่ยงและความผันผวนให้กับตลาดทุนเป็นระยะคล้ายกับภาวะสงครามเย็นในช่วงปี 2490 – 2534
แต่แน่นอนว่าสงครามเย็นครั้งนี้จะต่างออกไป เมื่อการผลิตสินค้าและการบริการนั้น มีความเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น ทำให้แม้จะกระทบกระทั่งกันเพียง 2 ประเทศ แต่ผลกระทบกลับกระจายเป็นวงกว้างผ่าน Supply Chain ของการผลิต ทำให้แม้ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ได้รับผลกระทบกันหมด แต่แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ก็จะต้องมีทั้งคนที่ได้ และ เสียผลประโยชน์อยู่เสมอ ซึ่งเป็นทื่มาของกลยุทธ์ประจำครึ่งปีหลังที่ชื่อว่า Cherry Picking Strategy ซึ่งเป็นการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ดี มีคุณภาพสูง และ ได้รับผลในเชิงบวกจากท่าทีของธนาคารกลางที่เปลี่ยนไป
หันมาดูเหล่ากูรูของเราบ้าง
ประเภทที่ 1: Global Asset Allocation : กระจายการลงทุนทั่วโลกในหลายสินทรัพย์
พอร์ตแนว Global Asset Allocation เหมาะกับผู้ที่อยากกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ แบบทั่วโลก ชอบติดตามสถานการณ์การลงทุน และพร้อมจะปรับหน้าตาพอร์ตเพื่อคว้าโอกาสหรือหลบเลี่ยงความเสี่ยงระยะสั้นไปด้วย ถึงอย่างนั้น พอร์ตแนว Global Asset Allocation ก็ยังถือเป็นพอร์ตการลงทุนระยะยาวอยู่ดี สิ่งที่เปลี่ยนไปมีเพียงหน้าตาสินทรัพย์พอร์ตในระยะสั้นเท่านั้น
All Weather Strategy โดย Andrew Stotz
เริ่มต้นที่กูรูคนแรกของเรา หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับพอร์ตนี้ของเขา เพราะเป็นพอร์ตที่เปิดตัวอันดับแรกของแคมเปญ แถมเจ้าของพอร์ตยังเป็นชาวต่างชาติเพียงหนึ่งเดียว
คุณ Andrew Stotz คือผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการลงทุนมาอย่างยาวนาน อยู่ประเทศไทยมากว่า 20 ปีแล้ว เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคม CFA อยู่สองสมัย เคยได้รับรางวัลนักวิเคราะห์อันดับหนึ่งของประเทศไทย และยังร่วมก่อตั้งบริษัท A.Stotz Investment Research การันตีได้ว่าฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาจริงๆ แล้วก็เป็นดังคาด เพราะเมื่อเราเปิดตัวพอร์ต All Weather Strategy ได้ไม่ทันไร ก็มีกระแสความสนใจไหลเข้ามาอย่างล้นหลาม
พอร์ต All Weather Strategy น่าสนใจอย่างไร? แน่นอนว่านอกจากชื่อเสียงของคุณ Andrew แล้ว แนวคิดหลักของพอร์ตก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณ Andrew นั้นมีประสบการณ์ด้านการจัดพอร์ตการลงทุนรับมือความผันผวนเป็นอย่างดี ด้วยการกระจายการลงทุนในทุกสินทรัพย์อย่างเท่าเทียมและสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการไม่พลาดทุกสถานการณ์ของการลงทุน ควบคู่ไปกับการคุมความผันผวนแบบสูงสุด เพื่อให้พอร์ตการลงทุนนั้นมีความผันผวนที่ต่ำ ไปพร้อมๆ กับการสร้างผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาด ตามหลักการ All Weather Strategy ที่ขึ้นชื่อว่า ทนทานทุกสภาพอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนแบบ Global Asset Allocation
“ปัญหาที่พบเจอบ่อยคือนักลงทุนบางคนไม่กระจายความเสี่ยง พวกเขาลงทุนกระจุกตัวในหุ้นไม่กี่ตัว แต่แล้วก็ต้องเจอกับผลขาดทุนที่หนักหน่วง ฉะนั้น A.Stotz All-Weather Strategy จะกระจายความเสี่ยงที่จากหุ้นรายตัวด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่หลากหลาย”
Andrew Stotz
สินทรัพย์ที่ All Weather Strategy ลงทุนก็มีหลากหลายประเภท แถมยังกระจายไปทั่วโลก เพราะคุณ Andrew มองว่าโอกาสนอกประเทศไทยนั้นยังมีอีกมาก ประเภทสินทรัพย์ที่พอร์ตจะพิจารณาลงทุนได้แก่หุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และทองคำ โดยทางฝั่งหุ้นนั้นจะแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ซึ่งก็คือ 1) สหรัฐฯ 2) ประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรป 3) ตลาดเกิดใหม่ 4) เอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) และ 5) ญี่ปุ่น
พอร์ตนี้มีความเป็น Strategic ตรงที่สัดส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภทจะไม่มีทางต่ำกว่า 5% ของพอร์ต แต่ด้วยความเป็น Tactical Portfolio จึงมีการตามติดสถานการณ์ตลาดโลกอย่างใกล้ชิด จะมีการพิจารณาปรับพอร์ตในทุกๆ 3 เดือน (จะปรับหรือไม่ปรับก็แล้วแต่สถานการณ์) ทั้งนี้ก็เพื่อไขว่คว้าหาโอกาสในแต่ละจังหวะตลาดโดยจะใช้การ Reallocate ไปยังสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีในช่วงนั้นมากกว่าส่วนอื่นๆ โดยกลยุทธ์ระยะสั้นของพอร์ตคือจะหาสินทรัพย์ 3 ประเภทย่อยที่น่าสนใจที่สุด ณ ตอนนั้น และจะแบ่งลงทุนใน 3 สินทรัพย์อย่างละ 25%
สัดส่วนของหุ้นถูกกำหนดให้อยู่ระหว่าง 25%-85% แล้วแต่สถานการณ์ ในปัจจุบันนั้นทางคุณ Andrew ผู้ออกแบบยังมีมุมมองที่ว่าตลาดโลกนั้นจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการให้น้ำหนักในตราสารหนี้และทองคำอย่างละ 25% เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม แต่อย่างไรก็ตามยังมีกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีสิทธิ์สร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เพื่อรับโอกาสหากตลาดยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องด้วยสัดส่วน 25%เช่นเดียวกัน โดยไม่มีการปรับพอร์ตเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้นในไตรมาสนี้
ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือนครึ่งตั้งแต่จัดตั้งพอร์ต ณ วันที่ 18/03/2019 พอร์ตการลงทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้อยู่ที่ 2.98% ขณะที่ในยามตลาดไม่เป็นใจนั้นมี Max Drawdown เพียง 3.15% เท่านั้น แม้กระทั่งในยามที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ซึ่งพอร์ตนั้นให้น้ำหนักการลงทุนสูงสุด 25%) ปรับตัวลงถึง 8% และดัชนีเปรียบเทียบอย่าง MSCI World ปรับตัวลดลงถึง 6.28% ในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมารุนแรงอีกครั้งก็ตาม ก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นมาช่วงหลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
ซึ่งการที่พอร์ตนั้นติดลบค่อนข้างน้อยจากการกระจายการลงทุนนั้น ช่วยให้ยามที่ตลาดเป็นใจก็จะสามารถ “เร่งเครื่อง” กลับมาได้ทันใจอย่างที่เราเห็นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์แบบ All Weather ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่หวั่นแม้วันมามาก”
พอร์ตนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่เข้าใจเป็นอย่างดีว่าอย่างไรก็ตามหุ้นก็จะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวดีที่สุด ถึงอย่างนั้นอาจจะยังต้องการลดความเสี่ยงช่วงที่ตลาดไม่ดี กลยุทธ์ของพอร์ตนี้จะลดความผันผวนเมื่อสถานการณ์น่าเป็นห่วง ในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็อาจจะกดดันผลตอบแทนไม่ให้สูงจนเกินไป ผู้ลงทุนควรพร้อมยอมที่จะแลกผลตอบแทนบางส่วนกับความผันผวนที่ลดลง
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
Global Aggressive Hybrid โดย WealthGuru
อีกพอร์ตหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับพอร์ตของคุณ Andrew และเราได้จัดให้อยู่ในหมวดหมู่ Global Asset Allocation เหมือนกันคือพอร์ตของคุณหนุ่ม สมพจน์ พัดสุวรรณ เจ้าของนามปากกา WealthGuru นักวางแผนการเงินมืออาชีพที่ให้ความรู้เราเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการเกษียณอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนที่มีความคล้ายคลึง คงจะหนีไม่พ้นแนวคิดการลงทุนแบบกระจายไปหลายสินทรัพย์และทั่วโลก แต่สิ่งที่ต่างออกมาคือพอร์ตของคุณหนุ่มมีการเน้นการกระจายการลงทุนแบบ Hybrid ในหลากมิติกล่าวคือทั้งรุก และ รับ ไปพร้อมๆ กัน เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ภายใต้ความผันผวนที่ต่ำ โดยความเป็น Hybrid นั้นที่กล่าวถึงนั้นประกอบไปด้วย
Hybrid ที่ 1 ลงทุนทั้งในสินทรัพย์ปลอดภัย และ สินทรัพย์เสี่ยง
- พอร์ตการลงทุนนี้จะประกอบไปด้วยตราสารหนี้ ตราสารทุน (หุ้น) และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาที่แตกต่างกัน เพือสร้างผลตอบแทนที่ดีแต่ผันผวนต่ำในระยะยาว
Hybrid ที่ 2
- ในสินทรัพย์อย่างตราสารทุน จะประกอบไปด้วยกองทุนหุ้นไทยที่เป็นตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็พร้อมจะมีความผันผวนเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์ไม่เป็นใจ ควบคู่ไปกับกองทุนหุ้นโลก เพื่อรับโอกาสเติบโตแบบสมดุลจากประเทศใหญ่ๆ ที่แม้จะขยายตัวช้าแต่ก็มั่นคง
- นอกจากนั้นแล้วในส่วนของกองทุนหุ้นนั้น ยังมีการกระจายการลงทุนทั้งกองทุนแบบ Passive และ Active เพื่อตอบรับต่อแนวการลงทุนที่อาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต เพราะในอดีตนั้นกองทุน Active กว่า 70% ล้มเหลวที่จะเอาชนะตลาด แต่ในปัจจุบันตัวเลขสถิตินั้นค่อยๆ ลดลง จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน พอร์ตการลงทุนนี้ก็วิงฉิวแน่นอน
“ลงทุนกองทุนแบบ Passive ในระยะยาวที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ พร้อมกับลงทุนกองทุนแบบ Active เพื่อไม่พลาดโอกาสการเติบโตในระยะกลาง เราสามารถจะเปลี่ยนหรือสลับกองทุนแบบ Active ไปได้เรื่อยๆ แต่เราจะไม่เปลี่ยนกองทุนแบบ Passive”
WealthGuru
Hybrid ที่ 3
- ในสินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ เองก็มีการกระจายการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ระยะกลาง และ ระยะสั้น เพื่อรับทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาวและแน่นอนว่า เมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยน อายุของตราสารหนี้ที่มากหรือน้อยก็มีผลต่อพอร์ตมากจนคุณคาดไม่ถึง
Hybrid ที่ 4
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เลือกใช้นั้นก็เป็นแบบ Hybrid ไทย – สิงคโปร์ (เป็นหลัก) เพื่อกระจายการลงทุน ลดความเสี่ยงพร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีจากค่าเช่าด้วย
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
การคัดเลือกกองทุนเพื่อเข้าพอร์ตนั้นก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยพอร์ตนี้จะเลือกกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล เพราะเน้นการสร้างความมั่งคั่งเป็นหลัก ไม่ใช่กระแสเงินสด ส่วนกองทุนที่จะเข้ามาอยู่ในพอร์ตนั้นก็ต้องได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีจริง ผ่านระบบ Best-in-Class ของ FINNOMENA รวมถึงการได้รับ 4-5 ดาวใน Morningstar
วิธีที่คุณหนุ่มเลือกสำหรับการปรับพอร์ตก็คือ Time Interval Method ซึ่งจะตรวจสอบพอร์ตตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ในที่นี้คือทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี) เพื่อดูว่ากองทุน Active ที่เลือกไว้นั้นทำผลงานได้ดีหรือไม่ แล้วแนวโน้มอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วสัดส่วนของสินทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หุ้นขึ้นมาเยอะจนทำให้สัดส่วนหุ้นเยอะเกินไปหรือเปล่า? ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะปรับสัดส่วนหุ้นลงแล้วไปเพิ่มในสินทรัพย์อื่นแทน เพื่อทำให้พอร์ตกลับมาอยู่ในสัดส่วนตามเดิม
ด้วยการกระจายการลงทุนทั้งรุก และรับ บู๊และบุ๋น ตุ๋นและทอด (เอ๊ะ ไม่ใช่แล้ว!!) ก็เลยสามารถทำให้พอร์ตสร้างผลตอบแทนได้ถึง 2.82% ภายใต้ระยะเวลาเพียง 70 วัน (จัดตั้ง 22/04/2019) ด้วยความผันผวนที่ต่ำ สมกับความเป็น Hybrid ที่ตั้งใจเอาไว้
อย่างไรก็ตามด้วยการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าเริ่มมีความตึงตัว ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สามารถปรับขึ้นได้อีกเหมือนในช่วงปี 2018 ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์ที่ให้อัตราปันผลสูง และสม่ำเสมออย่าง REITs
จึงแนะนำให้มีการปรับพอร์ตการลงทุน โดยลดสัดส่วนกองทุนหุ้นไทย 5% กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 10% เพื่อย้ายการลงทุนไปยังกองทุนหุ้นทั่วโลกในสัดส่วน 5% ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นไทยในระยะยาว และ ย้ายการลงทุนเข้าในกองทุนกลุ่ม REITs เพิ่ม 10% เพื่อรับโอกาสการเติบโตในยามที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ยาก
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
ประเภทที่ 2: Thematic Style : ลงทุนเฉพาะเจาะจงตามธีมที่ชอบ
มาต่อกันที่ 2 สายบู๊กับพอร์ตการลงทุนแบบ Thematic กันบ้าง ที่ได้กูรูหุ้นไทยทั้ง 2 อย่าง “คุณเคน (นายแว่น) แห่งนายแว่นลงทุน” เจ้าของพอร์ต RUNNING For Growth ที่เน้นการ “วิ่ง” หาการเติบโต 10 เท่าในระยะเวลา 10 ปี และ อาจารย์ภัทร แห่ง Invesitidea เจ้าของพอร์ตการลงทุน ASEAN Growth ที่เน้นการออกแบบพอร์ตให้สมดุลคู่การเติบโตของกลุ่มอาเซียนในระยะยาว โดยพอร์ตแนว Thematic เหมาะกับผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าอยากลงทุนในอะไร พอร์ตนี้จะเน้นลงทุนเจาะกลุ่มไปยังสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งไปเลย ซึ่งทางกูรูเล็งเห็นแล้วว่าเป็นประเภทสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะสองพอร์ตนี้ที่มุ่งเน้นการเติบโตเป็นพิเศษ
RUNNING for Growth โดย นายแว่นลงทุน
พอร์ตนี้เป็นของคุณเคน คณิต นิมมาลัยรัตน์ เจ้าของนามปากกา นายแว่นลงทุน ที่มีเพจเพื่อแชร์ความรู้เรื่องหุ้น โดยเฉพาะหุ้นเติบโต นอกจากนี้คุณเคนยังมีเว็บไซต์ www.topofliving.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์แชร์ความรู้เรื่องอสังหาฯ รวมถึงยังเป็นอาจารย์พิเศษและนักเขียนหนังสือหลายปกอีกด้วย
จากที่เรารู้จักนายแว่นลงทุนผ่านบทความต่างๆ เราก็เห็นแนวทางชัดมากว่านายแว่นลงทุนต้องมาพร้อมพอร์ตหุ้นแน่ๆ แล้วก็ไม่ผิดจริงๆ เพราะพอร์ต RUNNING for Growth คือพอร์ตเดียวของแคมเปญนี้ที่ลงทุนในหุ้นไทย 100% เรียกได้ว่าทุ่มเต็มที่เลยทีเดียวแม้ว่าช่วงเวลาเปิดตัวพอร์ตจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยดูไม่ค่อยดีก็ตาม
“ข้อดีของการลงทุนในพอร์ตที่ลงทุนหุ้น ก็คือ การลงทุนในหุ้นแม้จะมีความเสี่ยง แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หรือ money market”
นายแว่นลงทุน
RUNNING for Growth ชื่อก็บอกอยู่ว่าพอร์ตนี้วิ่งไล่ล่าตามหาการเติบโต ดังนั้นสินทรัพย์ของพอร์ตจึงประกอบไปด้วยกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเติบโต มูลค่ากิจการขนาด 5,000-200,000 ล้านบาท ต้องไม่จ่ายปันผลเพื่อให้เกิดการทบต้นของเงิน และต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรง หรือเกาะกระแส Megatrend ไปได้ เช่น การแพทย์ ระบบราง โทรคมนาคม เป็นต้น
การคัดเลือกกองทุนเข้าพอร์ตนั้นจะอ้างอิงกับหุ้นที่คุณเคนเลือก โดยกองทุนนั้นต้องมีน้ำหนักหุ้นที่เลือกมามากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะเป็นไปตามแผน ต่อจากนั้นก็เลือกกองทุนที่ติด Best-in-Class และมีค่าธรรมเนียมที่ถูก ผลก็คือพอร์ตนี้จะมีทั้งหมด 3 กองทุนที่ลงทุนเน้นๆ ในหุ้นที่นายแว่นลงทุนชื่นชอบ
RUNNING for Growth จะมีการปรับพอร์ตประมาณ 1-2 ครั้งต่อปี ซึ่งจะปรับก็ต่อเมื่อราคาหุ้นในกองทุนพุ่งสูงเกินไป ก็จะขายออกแล้วไปหาหุ้นที่มีราคาน่าสนใจกว่า นอกจากนั้นก็จะปรับพอร์ตหากกองทุนมีสัดส่วนหุ้นที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ
ที่ผ่านมาพอร์ต RUNNING for Growth “วิ่ง” ได้สมชื่อจริงๆ ด้วยการปรับตัวขึ้นถึง 10.02% ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนถ้วนๆ เท่านั้น (Inception Date 1/4/2019) สอดรับภาวะเงินทุนไหลเข้าในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปลายมิถุนายนได้เป็นอย่างดี ด้วยการเลือกลงทุนในกองทุนที่มีหุ้นที่นายแว่น เลือกไว้เป็นอย่างดี ทั้งในธุรกิจการแพทย์ ค้าปลีก โทรคมนาคม ที่ได้รับอานิสงส์ดีๆ ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้อย่างมาก
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยกับครึ่งปีแห่งความวุ่นวาย ล่าสุดนายแว่นนั้น ได้กล่าวเอาไว้แล้วว่า เร็วๆ นี้ จะมีเสริมทัพ เลือกกองทุนที่มีหุ้นขนส่งระบบรางเข้ามาในพอร์ต เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ให้พอร์ต RUNNING for Growth “วิ่ง” ต่อเป็นมาราธอนไม่ใช่แค่วิ่งสปรินท์ 100 เมตรสั้นๆ แล้วหมดแรงไป สอดคล้องกับมุมมองของ FINNOMENA ที่ว่า ณ เวลานี้นั้น ตลาดหุ้นไทยเองยังมีปัจจัยด้าน Momentum ที่ดีจาก Fund Flow ที่ไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยผลักดันทั้งตลาดหุ้นไทย และพอร์ต Running for Growth ให้วิ่งฉลุยไปต่อได้ แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่พอร์ตดังกล่าวเป็นพอร์ตการลงทุนแบบ Thematic ที่เน้นการลงทุนในหุ้นไทย 100% ซึ่งอาจมีความผันผวนได้บ้าง แต่ก็มาพร้อมกับโอกาสสร้างผลตอบแทนแบบเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นแล้วจึงเป็นอีกพอร์ตที่นักลงทุนที่ต้องการเร่งสร้างผลตอบแทนไม่น่าพลาดในช่วงนี้
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
ASEAN Growth โดย InvestIdea
ASEAN Growth มีแนวคิดโดดเด่นจากอาจารย์ภัทร ภัทรธร ช่อวิชิต เจ้าของนามปากกา InvestIdea ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์หุ้นพื้นฐาน มีคอร์สเรียนให้ผู้ที่สนใจลองไปเรียนกันที่ efinschool พอร์ตของอาจารย์ภัทรมีธีมที่ค่อนข้างชัด คือการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน นำทีมโดยหุ้นเวียดนาม เสริมด้วยหุ้นไทย และอสังหาฯ
เป็นที่รู้กันดีว่าหุ้นเวียดนามนั้นขึ้นแรงลงแรง แน่นอนว่าผลตอบแทนมีโอกาสพุ่งสูง แต่ความเสี่ยงก็มีเยอะเช่นกัน และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมอาจารย์ภัทรถึงไม่ได้ลงทุนในหุ้นเวียดนามล้วนๆ แต่มีกองกลางและกองหลังอย่างหุ้นไทยและอสังหาฯ มาช่วยประคองพอร์ตด้วย
“ถ้าเกิดสมมติเราโฟกัสประเทศเล็กๆ ไปเลยอย่างเวียดนาม มันก็อาจจะมีความเสี่ยงเยอะหน่อย ก็เลยต้องแบ่งพอร์ตเป็นกองหน้า เวียดนามเป็นหัวหอกไป มีกองกลางเป็นประเทศไทยที่โตแบบไปเรื่อยๆ แล้วก็จะมีกองหลังเป็นกอง REIT เอาไว้ช่วงไหนเวลาตลาดไม่ดี จะเพิ่มน้ำหนักของกอง REIT เข้ามาให้พอร์ตไม่ลดลงไปเยอะ แต่ถ้าช่วงไหนตลาดมาเป็น bull market ก็จะลดน้ำหนัก REIT ลงแล้วเลือกกองหุ้นมากขึ้น เชื่อว่าน่าจะทำให้ได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่ค่อนข้างโอเคในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมครับ”
InvestIdea
นี่จึงถือว่าเป็นพอร์ตสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากลงทุนในหุ้นเวียดนาม แต่ก็ไม่อยากกังวลกับความผันผวนที่สูงเกินไป เรียกได้ว่าเป็นพอร์ตหุ้นเวียดนามที่ทำให้นอนหลับได้สบายไม่ต้องคอยพะวง เพราะตัวพอร์ตมีหุ้นไทยกับอสังหาฯ คอยช่วยพยุงไม่ให้ผันผวนเกินไป
ถามว่าแล้วทำไมต้องเป็นเวียดนาม? นั่นก็เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสเติบโตสูงอีกมาก ด้วยจำนวนประชากรที่ยังอายุน้อย ถือเป็นกำลังสำคัญสำหรับภาคส่วนแรงงาน ซึ่งจุดนี้แหละจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม นอกจากนี้เวียดนามก็ยังน่าสนใจในเชิงการท่องเที่ยวด้วย
ส่วนตัวแทนตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทยนั้น อาจารย์ภัทรเลือกเพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และหนี้ภาครัฐที่ไม่สูง สามารถทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนได้ ส่วนสินทรัพย์อย่างอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐานนั้นก็มีข้อดีตรงผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตได้ หากช่วงไหนสถานการณ์ตลาดมีความน่าเป็นห่วง ก็จะมีการเพิ่มน้ำหนักให้กับการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ โดยจะมีการพิจารณาปรับพอร์ตตามสถานการณ์กันไป โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 6 เดือนครั้ง
แน่นอนว่าผู้ลงทุนในพอร์ตนี้ควรที่จะสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เพราะถึงแม้จะมีการกระจายการลงทุนใน 3 ประเภทสินทรัพย์ แต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี พอร์ต ASEAN Growth มุ่งเน้นให้ลงทุนกันยาวๆ แบบ 5-10 ปี จึงคาดว่าน่าจะสามารถลดทอนความผันผวนระยะสั้นได้
นี่คืออีก 1 พอร์ตการลงทุนที่ได้รับผลดีจาก Fund Flow ที่ไหลเข้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เท่านั้น เมื่อพอร์ตการลงทุนนี้ กำลังจะได้รับผลดีในระยะยาวจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อีกต่อ ด้วยการกระจายการลงทุนไปยังประเทศเวียดนามที่ล่าสุดนั้นมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่องในฐานะประเทศทดแทน Supply Chain จากฟากฝั่งจีนที่กำลังมีปัญหากับสหรัฐฯอยู่ขณะนี้ซึ่งแน่นอนว่าพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น ก็น่าจะมีความผันผวนเป็นพิเศษจากสถานะการเป็นตลาดการลงทุนแบบ Frontier หรือ ตลาดชายขอบที่สามารถมีความผันผวนได้มากกว่าตลาดเกิดใหม่อย่างไทยเสียอีก แต่ก็ต้องบอกว่าทางอาจารย์ภัทรนั้น ได้คำนึงถึงจุดนี้เอาไว้แล้ว จึงมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพทางรายได้และการจ่ายกระแสเงินสดสูงอย่าง REITs ไทยเข้าไป ช่วยปรับลดความผันผวนได้อย่างดีส่งผลให้เปิดตัวพอร์ตเพียง 41 วัน (Inception Date 21/05/19) สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 4.87% ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม (VNI) ปรับตัวลงถึง 4.00% ในช่วงที่ผ่านมา
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
เมื่อมองไปข้างหน้า ท่ามกลางความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ที่จะต้อง “หนี” จากสหรัฐฯ เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งแน่นอนว่า การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงนั้น ย่อมหนีไปที่ไหนไม่ได้ ก็ต้องหาที่ลงในแถบตลาดเกิดใหม่ หรือ ตลาด Frontier ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตสูง และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่า “เวียดนาม” และ ไทยคงเป็นหนึ่งในนั้น แต่ครั้งจะบอกว่าทุกอย่างจะดูสวยหรู ราบรื่นก็คงไม่ใช่ เพราะท้ายที่สุดแล้วหากการลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิดขึ้นจริง ตลาด Frontier และ ตลาดเกิดใหม่ย่อมมีสิทธิ์รับแรงช็อคไปเต็มๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด Frontier ที่มักจะช็อคแรงกว่าเสมอ จึงอาจพิจารณาการบริหารความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
ประเภทที่ 3: Classic Strategy : กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนยาวๆ แบบเรียบง่าย
และก็เข้าสู่ 2 พอร์ตการลงทุนสุดท้าย ที่เป็นพอร์ตการลงทุนแบบ “Old School” มาในลักษณะของ Balanced Port ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 50% และ สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงทางด้านรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมออย่าง REIT กับตราสารหนี้ พอร์ตแนว Classic Strategy เหมาะกับผู้ที่ชอบความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ถือลงทุนยาวๆ ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อยมาก เป็นการวางกลยุทธ์ที่ตั้งเป้าหมายให้ “รอด” ทุกสถานการณ์ตลาด เรียกได้ว่าลงทุนในพอร์ตแนวนี้ก็สามารถถือได้อย่างสบายใจไร้กังวล
Best of Risk-Adjusted Return โดย InvestDiary
เรามาเริ่มกันที่พอร์ตจากคุณกฤษฏิ์ หุ่นสุวรรณ เจ้าของนามปากกา InvestDiary ที่มีผู้ติดตามกว่า 65,000 คน หากใครยังไม่เคยติดตาม เราจะขอเล่าสั้นๆ ว่าเพจนี้จะคอยแบ่งปันความรู้ด้านการลงทุนหุ้นพื้นฐาน และกองทุนอสังหาฯ รวมถึง REITs ให้เราได้อ่านกัน
“พอร์ตนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการเกษียณของพ่อแม่ซึ่งตัวเราเองรู้ตัวดีว่าการลงทุนมีความเสี่ยงพอสมควร เราเองก็เคยเจ็บหนักมามากพอสมควร”
InvestDiary
คุณกฤษฏิ์ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของพอร์ตของเขา ซึ่งลงทุนเพียงแค่ 2 ประเภทสินทรัพย์ ได้แก่หุ้นและอสังหาฯ ทั้งนี้เพื่อดึงศักยภาพของสินทรัพย์ทั้งคู่ไปพร้อมๆ กัน นั่นก็คือการเติบโตระยะยาวด้วยหุ้น และการรับปันผลจากอสังหาฯ
ด้วยเหตุนี้ Best of Risk-Adjusted Return จึงเหมาะกับผู้ที่เกษียณแล้ว หรือผู้ที่อยากได้กระแสเงินสดแต่ก็ยังอยากได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาของหุ้น แต่ก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการลงทุนด้วยเช่นกัน
เราจะเห็นได้จากชื่อ Best of Risk-Adjusted Return ว่าสะท้อนเป้าหมายของพอร์ตได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือการสร้างเสถียรภาพให้เงินต้น และลดการขาดทุนในช่วงเวลาที่ตลาดไม่ดี ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงแล้ว ด้วยเหตุนี้คุณกฤษฏิ์จึงผสมผสานระหว่างสองสินทรัพย์นี้ซึ่งจะสามารถปกปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกันได้ โดยกองทุนหุ้นนั้นคุณกฤษฏิ์เลือกกองทุนหุ้นประเภทหุ้นไทยขนาดใหญ่ ที่มีความผันผวนน้อยกว่าประเภทหุ้นขนาดเล็ก-กลาง เหตุที่เลือกเป็นหุ้นไทยก็เพื่อขจัดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ถึงอย่างนั้น การลงทุนในหุ้นก็ยังมีความเสี่ยงระยะสั้น จึงต้องมี REITs มาช่วยในแง่ของผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ง่ายกว่า ก็จะช่วยลดความกังวลของผู้ลงทุนในช่วงตลาดไม่ดีได้
เกณฑ์การเลือกกองทุนของคุณกฤษฏิ์ก็ยิ่งตอกย้ำเป้าหมายของพอร์ตในการควบคุมความเสี่ยง เพราะกองทุนที่เลือกนั้นจะต้องเป็นกองทุนที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในแง่ของจุดขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) เรียกง่ายๆ ว่า จะต้องมีจุดขาดทุนสูงสุดที่น้อยกว่ากองทุนอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนั่นเอง นอกจากนี้ กองทุนยังต้องมีผลการดำเนินงานมาอย่างน้อย 5 ปี และมีผลตอบแทนสะสมย้อนหลังในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในกองทุนประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้ลงทุนในกองทุนที่มีความมั่นคงจริงๆ
ล่าสุด พอร์ตนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 5.44% ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา (Inception Date 07/05/19)
ซึ่งทางคุณกฤษฏิ์นั้น ได้กล่าวถึงพอร์ตและผลตอบแทนช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นผลตอบแทนระดับที่ “ไม่ปกติ” เท่าใดนัก เนื่องจากเป็นการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์ที่ควรจะปลอดภัย และ มีการเคลื่อนไหวของราคาต่ำอย่าง REITs มากกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นเสียอีกที่เป็นการปรับตัวขึ้นของ REITs นับตั้งแต่ต้นปีถึง 19.54% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยอย่าง SET Index ปรับตัวขึ้นเพียง 10.64% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนความต้องการถือครองสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมออย่าง REITs ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ REITs นั้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นเสียอีก
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือเมื่อราคาของ REITs ปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆนั้น ส่งผลให้อัตราปันผลที่นักลงทุนมีโอกาสได้ก็ลดลง เนื่องจากต้นทุนที่แพง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับมุมมองของ FINNOMENA ที่มองว่า ณ ตอนนี้ REITs ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ แต่อยู่ในโหมดที่ต้อง “จับตา” ดังนั้นแล้ว ในระยะยาวพอร์ตการลงทุนแบบนี้จะมีความผันผวนที่ต่ำกว่าตลาดหุ้น แต่ในจังหวะนี้อาจต้องลองติดตามกันอย่างใกล้ชิดสักนิด และวางแผนให้เป็นโหมดการลงทุนแบบระยะยาว จะได้ไม่กังวลกับผลตอบแทนในระยะสั้น
Best of Risk-Adjusted Return เป็นอีกหนึ่งพอร์ตที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีมากจากผู้ลงทุนฟินโนมีนา ซึ่งชนะใจด้วยการจัดพอร์ตที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังเกาะกระแสการลงทุนใน REITs หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ ที่กำลังได้รับความนิยม
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
Long Term Defensive Plus โดย DaddyTrader
ปิดท้ายด้วยพอร์ตนี้โดยคุณนิมิต วิทย์ศลาพงษ์ เจ้าของนามปากกา DaddyTrader ซึ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นแนวเทคนิค (Technical Analysis) ผ่านเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ daddytrader.guru
ครั้งแรกที่เราได้ยินว่าคุณนิมิตมาพร้อมพอร์ตเรียบง่ายเน้นถือยาว เราค่อนข้างแปลกใจทีเดียว เพราะแนวทางแบบ Passive ของพอร์ตดูขัดกับสไตล์การลงทุนแนวเทคนิคที่เน้นเทรดเร็ว จับจังหวะ แต่เมื่อได้พูดคุยเพิ่มเติม เราก็ได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพอร์ตนี้
“ผมจัดสรรเงินลงทุนส่วนตัวด้วยการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปสร้างผลกำไรโดยใช้แนวทางของการวิเคราะห์ทางเทคนิค และนำเงินอีกส่วนไปลงทุนด้วยวิธีจัดพอร์ตอย่างง่าย ที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องเสียเวลาติดตามมาก แต่ให้ผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ”
DaddyTrader
พอร์ต Long Term Defensive Plus เป็นพอร์ตการลงทุนสไตล์อนุรักษ์นิยม จากตอนแรกที่วางแผนถือหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% คุณนิมิตได้เพิ่มสัดส่วนของกองทุนอสังหาฯ เข้ามา 30% จึงทำให้สัดส่วนของตราสารหนี้ลดลงไปเหลือ 20% โดยแต่ละสินทรัพย์ก็สะท้อนออกมาในชื่อของพอร์ต นั่นก็คือ Long Term = หุ้นระยะยาว, Defensive = เสี่ยงต่ำด้วยตราสารหนี้ และ Plus = กระแสเงินสดจากกองทุนอสังหาฯ
ในส่วนของกองทุนรวมหุ้น คุณนิมิตได้เลือกกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่บริหารแบบ Passive หรือก็คือเน้นให้ผลการดำเนินงานล้อไปกับดัชนีชี้วัด ในที่นี้ก็คือดัชนี SET น่ะเอง ถือเป็นประเภทหุ้นที่มีความมั่นคง เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจไทย และมีความผันผวนน้อยกว่ากลุ่มหุ้นขนาดเล็ก-กลาง เหตุผลที่เลือกแบบ Passive อิงดัชนีก็เพราะส่วนใหญ่แล้วเวลาเราพูดถึงผลตอบแทนของหุ้น ก็จะอ้างอิงดัชนีเป็นหลัก ไม่ได้เจาะเป็นหุ้นรายตัว ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่เราจะลงทุนผ่านกองทุน Passive ที่กระจายลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้นรายตัวด้วย
ส่วนตราสารหนี้นั้นเลือกแบบระยะกลาง ประมาณ 3 ปี เพื่อไม่ให้โดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย ทางด้านกองอสังหาฯ ก็ต้องเป็นกองที่มีผลตอบแทนมั่นคงระยะยาว
สำหรับการปรับพอร์ตนั้น จะพิจารณาให้อยู่ระหว่างทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่บ่อยเกินไป จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากลงทุนแต่ไม่อยากจับจังหวะตลาดบ่อยๆ เน้นลงทุนแบบสบายใจไร้กังวล ถือไปยาวๆ 7-10 ปีขึ้นไป ไม่ต้องห่วงว่าพอร์ตนี้เหมาะกับใครเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะคุณนิมิตย้ำกับเราเลยว่า ใครๆ ก็ลงทุนในพอร์ตนี้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่เริ่มลงทุน หรือมือเก๋าที่อยากมีพอร์ตสำรองที่เน้นความมั่นคง
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นพอร์ตการลงทุนเชิงรับ แต่ Long Term Defensive Plus by Daddy Trader ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 4/6/2019 ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ไม่น้อยด้วยผลตอบแทน 5.1% ภายในระยะเวลา 26 วันเท่านั้น !
* ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *
โดยทางคุณนิมิตได้กล่าวถึงพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“หุ้นขึ้นหรือลงเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของตลาดหุ้นที่มีความผันผวนขึ้นลง และการขึ้นลงของตลาดหุ้นจะส่งผลมายังมูลค่าพอร์ตของเราให้ขึ้นลงตามทิศทางของตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามพอร์ต Long Term Defensive Plus ถูกออกแบบมาให้มีความผันผวนที่น้อยกว่าความผันผวนของตลาดหุ้นเพื่อให้ผู้ถือพอร์ตนี้ได้อย่างสบายใจ”
DaddyTrader
พร้อมกับเน้นย้ำว่าพอร์ตการลงทุนนี้เป็นพอร์ตที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 7-8% ต่อปี หากนักลงทุนถือลงทุนได้ในระยะยาว ก็จะได้พอร์ตการลงทุนที่เงินเติบโต แถมไม่ต้องตื่นเต้นมากด้วย
หรือ หากท่านใดมองว่ายังไม่คุ้นชินกับความเสี่ยง ก็สามารถที่จะลงทุนแบบ DCA เพิ่มเติมได้ เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนในระยะยาว สร้างผลตอบแทนที่มั่นคงมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าปลายปี 2019 จะผันผวนมาก หรือ น้อย พอร์ตการลงทุนนี้ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว (Long term) พร้อมกับความผันผวนที่ต่ำในแบบเชิงรับ (Defensive) ได้อย่างแท้จริง
สนใจลงทุนในพอร์ตนี้ คลิก ที่นี่ หรือแบนเนอร์ข้างล่าง
สรุป
ครบกันเรียบร้อยกับ 6 พอร์ตการลงทุนของเหล่ากูรูจากแคมเปญ GURUPORT ซึ่งคือการร่วมมือกันระหว่างกูรูด้านการลงทุน กับฟินโนมีนา เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนแบบใหม่ที่ดึงจุดเด่นของกูรูท่านนั้นๆ ออกมา ให้เราได้สัมผัสแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่แค่มุมมองจากผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุนอย่างเดียว แต่เป็นมุมมองจากนักลงทุนด้วยกันอย่างกูรูทั้ง 6 ท่านนี้ด้วย
เราหวังว่าทุกคนจะเข้าใจพอร์ตจากกูรูแต่ละท่านมากขึ้น และมองเห็นถึงจุดเด่นของพอร์ตต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น จากการแบ่งทั้ง 6 พอร์ตเป็น 3 สไตล์หลักๆ ที่มีให้เลือกทั้งสายบู๊แบบ Thematic สายผสมอย่าง Global Asset Allocation และ สาย Old School อย่าง Classic Strategy ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลากหลายแนว ที่เน้นการสร้างผลตอบแทนสูงสุด ภายใต้ความผันผวนที่ “เหมาะสม” และ “รับได้” ของลูกค้าทุกท่าน แต่ละสไตล์ก็จะมีกลยุทธ์การลงทุนแตกต่างกันไป สไตล์ของกูรูแต่ละท่านก็จะมีความแตกต่างกันไปเช่นกัน หน้าที่ของเราคือหาสไตล์พอร์ตที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราเอง ก่อนเลือกลงทุนในพอร์ตไหนก็อย่าลืมทำความเข้าใจลักษณะของพอร์ต และความเสี่ยงก่อนนะ
หากท่านใดสนใจลงทุน สามารถรับรายละเอียดของแต่ละพอร์ตได้ที่ https://www.finnomena.com/guruport
หรือแบนเนอร์ข้างล่างได้เลย
Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน