ตลาดตราสารหนี้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ตลาดหุ้นกู้” นั้นมีมูลค่าคงค้างใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจาก มูลค่าการปล่อยกู้ของธนาคารและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ข้อมูลสิ้นปี 2023 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างรวม 6.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 95% ของ GDP
จากข้อมูลของ ThaiBMA พบว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 มีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้น 5.4% โดยมาจากพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนเป็นสำคัญ
สำหรับหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ออกใหม่ประจำปี 2024 นั้น คาดการณ์ว่าจะมีบริษัทออกหุ้นกู้กว่า 890,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
จะเห็นว่าบริษัทเอกชนในไทยนั้นมีการใช้การออกหุ้นกู้ในการระดมเงินทุนอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทเอกชนผิดนัดชำระหนี้ในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น ALL, JKN และ ITD แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 2% แต่นักลงทุนหลายท่านอาจจะมีคำถามว่า “เราจะสามารถคัดเลือกหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราในปี 2024 นี้ได้อย่างไร?” บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน
คัดหุ้นกู้คุณภาพดี ด้วย 5 อัตราส่วนทางการเงิน
หุ้นกู้เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง เมื่อนักลงทุนลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนจะอยู่ในสถานะของ “เจ้าหนี้” และบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น จะอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้” โดยที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นให้คำสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของการเลือกลงทุนในหุ้นกู้คือ “การหาบริษัทที่มีความสามารถในชำระคืนหนี้ได้”
สิ่งที่จะสามารถบ่งชี้ข้อมูลตรงนี้ได้มาจาก “ข้อมูลงบการเงิน” หรือเรียกอีกอย่างนึงว่า ข้อมูลประเภทพื้นฐาน (Fundamental) ซึ่งมีหลัก ๆ อยู่ 5 อัตราส่วนทางการเงิน ได้แก่
1. ความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น (Current ratio)
สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
ความหมาย: บริษัทมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้กี่เท่าของหนี้สินที่ต้องชำระ
- สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี เช่น เงินสด, ลูกหนี้การค้า
- หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี
2. หนี้สินต่อทุน (D/E ratio)
หนี้สิน / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ความหมาย: บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
3. ความสามารถในการทำกำไร (Net Profit Margin)
รายได้สุทธิ / รายได้ขั้นต้น
ความหมาย: บริษัทสามารถสร้างรายได้สุทธิเป็นอัตราส่วนเท่าไรต่อรายได้ขั้นต้น
- รายได้สุทธิ: รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของบริษัท
- รายได้ขั้นต้น: รายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจและรายได้จากดอกเบี้ย
4. ความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (interest coverage ratio / ICR)
กำไร(ขาดทุน) ก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) / ดอกเบี้ยจ่าย
ความหมาย: บริษัทมีกำไรก่อนจ่ายดอกเบี้ยและภาษีเงินได้เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริง
5. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (cash flow from operating activities)
ความหมาย: ความสามารถในการดำเนินงานของกิจการในการก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานของกิจการ การชำระคืนเงินกู้ยืม การจ่ายเงินปันผล ตลอดจนการลงทุนใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการจัดหาเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลประเภทพื้นฐานนั้นต้องพึ่งพาข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่จะจัดทำขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความถี่ในการออกไม่มาก ในปัจจุบันจึงมีข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่นำข้อมูลที่มีความถี่มากกว่ามาประกอบในการคำนวณเพื่อคาดการณ์ความน่าจะเป็นของการผิดนัดชำระของบริษัทนั้น ๆ ได้ เรียกสั้น ๆ ว่า ข้อมูลทางสถิติ
จากที่ทางทีมฟินโนมีนาได้ลองศึกษาข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ มีข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ 2 ตัว โดยมีบทวิเคราะห์สนับสนุนว่าสามารถคาดการณ์โอกาสความน่าจะผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท (default probability) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ Bloomberg default probability และ Altman Z-score
บทความต่อไป เราจะมาคลี่ความน่าสนใจของข้อมูลทางสถิติกัน รวมทั้งนำข้อมูลเหล่านี้มาลองเปรียบเทียบของแต่ละบริษัทเอกชนผู้ออกหุ้นกู้
สำหรับท่านที่สนใจติดตามข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลทางสถิติของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ สามารถกดเข้าร่วมกลุ่ม ชมรมหุ้นกู้ โดย ฟินโนมีนา ทาง Facebook ได้เเล้ววันนี้
เข้าร่วมได้ที่ https://www.facebook.com/groups/889975809457489/
อ้างอิง
- https://www.thaibma.or.th/doc/press/y2024/Doc012024.pdf
- https://www.finnomena.com/stock
- https://www.thaibma.or.th/EN/Issuer/IssuerSearch.aspx