เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 กลุ่ม Finnomena ได้ประกาศแผนสู่การเติบโตครั้งใหม่ “Ahead of the Game” มองขาดทุกโอกาสการลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งมอบประสบการณ์การลงทุนที่สมบูรณ์แบบ สร้างความมั่งคั่งอย่างเหนือชั้น
ภายในงานมีการจัด Exclusive Talk ที่รวบรวมมุมมองการลงทุนจากเหล่านักกลุยทธ์และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของเมืองไทย ทั้งหมด 2 session ได้แก่
- Beyond the Headlines: Insights and Strategies for Investing in Developed vs Emerging Markets โดยคุณกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย, คุณเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บลจ.กรุงศรี, คุณบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) และคุณวศิน ปริธัญ กรรมการผู้จัดการ บลป. เดฟินิท
- Bonds, Stocks and Beyond: Building a Resilient Thai Economy โดยคุณวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย, คุณธีรนาถ รุจิเมธาภาส อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการสมาคมตราสารหนี้ไทย
Exclusive Summary สรุปประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้
ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) vs ตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ที่ไหนน่าลงทุนกว่ากัน?
มุมมอง คุณกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ KAsset ชอบทั้งสองตลาด แต่ต้องเลือกลงทุนแบบ Selective Investment ซึ่งทางฝั่ง Developed Markets นั้นชอบแค่ตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ชอบยุโรปกับญี่ปุ่น
โดยในปีที่แล้วหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก แต่กระจุกตัวแค่หุ้น 7 นางฟ้า ทว่าปีนี้เรามองข้าม 7 นางฟ้า ประกอบกับสภาวะดอกเบี้ยจบขาขึ้น น่าจะส่งผลดีกับตลาดหุ้นภาพรวม จึงมองว่าหุ้นที่ทำผลงานได้ดีจะกระจายตัวออกมามากขึ้น อาจจะยังมีหุ้นขนาดใหญ่บ้าง ผสมผสานกับหุ้น Mid-Cap
เชื่อตอนนี้ว่ายังเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ได้ ถ้าสหรัฐฯ ทำผลตอบได้ดี ทั้งโลกก็จะดีตาม และค่อนข้างมั่นใจว่าตลาดไม่มีความกังวลแล้ว เศรษฐกิจยังดีอยู่ สามารถไปต่อได้
แนะนำกองทุน K-USA ซึ่งปีที่แล้วเปลี่ยน master fund เป็น Brown Advisory US Sustainable Growth Fund แม้จะมีหุ้นกลุ่ม 7 นางฟ้า แต่สัดส่วน underweight ดังนั้น ถ้ามุมมองนี้ถูกต้อง กองทุนนี้จะได้ผลประโยชน์
ขณะที่ฝั่ง Emerging Markets นั้นเป็นตลาดที่ทุกคนรอการฟื้นตัว ซึ่งเรา Selective Investment ที่อินเดีย โดยแนะนำนักลงทุนมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2023 และเชื่อว่าจะยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง เพราะมองว่าการเติบโตมาเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 3 ของโลก คือแรงขับเคลื่อนสำคัญ พร้อมกับประชากรวัยแรงงานเยอะ รวมถึงปัจจัยเร่งจากการย้ายฐานการผลิต เพระาฉะนั้น ถ้าไม่เข้าตอนนี้อาจตกรถได้ หุ้นอินเดียขึ้นมาแล้ว แต่ยังมีโอกาสไปต่อได้
แนะนำให้กระจายการลงทุน สำหรับใครรับความผันผวนได้น้อย เน้นสหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะเป็นตลาดใหญ่ รอจังหวะปรับตัวลงค่อยซื้อ ส่วนใครยังถ้าไม่มีอินเดีย ก็สามารถแบ่งบางส่วนมาทยอยสะสมได้
นอกจากนี้ มีคำถามว่ากระแส AI จะเปลี่ยนการลงทุนยังอย่างไร? ย้อนไปเมื่อปลายปี 2022 เราเริ่มเห็นสัญญาณของธีมนี้ AI จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิต มีผลกับเศรษฐกิจโลก และเป็นธีมการลงทุนระยะยาว ดังนั้น ใครสามารถหาโอกาสการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจ AI ยังเชื่อว่าจะสร้างกำไรได้ดีไปยาว ๆ แต่ระหว่างทางอาจมีความผันผวนบ้าง
มุมมอง คุณบดินทร์ พุทธอินทร์ Eastspring Investments เผยว่า Developed Markets จะ perform ได้ดีต่อเนื่อง เพราะความหลากหลายของบริษัท เน้น New Economy ที่เป็นหุ้นเทคโนโลยี สอดรับการมาของ Mega Trend
และถ้าสหรัฐฯ เกิด recession หุ้นฝั่ง Developed Markets จะมีเครื่องมือทางการเงินที่ดีกว่า Emerging Markets เชื่อว่านักลงทุนมองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า และขนาดที่ใหญ่กว่า เช่น ช่วงเกิดโควิด-19 จะเห็นว่าประเทศขนาดใหญ่สามารถอัดฉีดเงินแบบจัดเต็ม
นอกจากนี้ Developed Markets มีผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความเป็น global brand แม้บริษัทจะตั้งอยู่ในสหรัฐฯ แต่รายได้มาจากทั่วโลก ทำให้เกิด pricing power สร้าง royalty สูง ตลอดจนได้เปรียบในเรื่องความโปร่งใส สภาพคล่อง และขนาดตลาด อีกทั้งเป็นตลาดที่มีความเป็น capitalism ไม่มีการแทรกแซงตลาด
แนะนำกองทุน TMBGQG ซึ่งผลตอบแทนกลับมาโต 3 ไตรมาสแล้ว เป็นกองทุนที่ชนะหุ้นโลก พร้อมแนะนำกองทุน ES-USTECH ถือเป็น Passive Fund ที่ล้อไปกับธีมใหญ่ และทำผลงานได้โดดเด่นในช่วง 5-6 ปีหลัง
นอกจากนี้ คำถามว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดไหม? อันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นการต่อสู้ของ Joe Biden vs Donald Trump และมองว่าตั้งแต่ไตรมาส 3 ตลาดน่าจะเกิดความผันผวน ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละฝั่ง
ฝั่ง Joe Biden เชื่อว่าตลาดคงไม่ตกใจมาก จะเป็นภาพการสานต่อโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนฝั่ง Donald Trump นโยบายจะลดความสำคัญของจีน อาจสร้างความผันผวนให้การค้าทั่วโลก และเรื่องภาษีนำเข้ามีโอกาสปรับขึ้นทุกประเทศ ทำให้ประเทศมีความปัจเจกมากขึ้น
มุมมอง คุณเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ KSAM ถ้าเลือกลงทุนแบบปลอดภัยแนะนำ Developed Markets ยังไปได้ในปีนี้ จากภาพของผลประกอบการที่ยังดีอยู่ หากชอบลงทุนยาว ๆ มีโอกาสชนะขาด
แต่ถ้าจะหา alpha ปีนี้ต้อง Emerging Markets ด้วยสาเหตุของการ underperform มานาน จึงเชื่อว่าปีนี้จะมีตัวกระตุ้นใหญ่ ๆ หนึ่งคือ earning growth จะโตเยอะ เฉลี่ย +15% สองคือ ลุ้นว่า fed จะลดดอกเบี้ย และอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า หนุน fund flow ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
ทั้งนี้ จึงให้ความสนใจไปที่หุ้นเดีย มองว่าดีทุกอย่าง แต่มูลค่าแพง ปัจจุบัน PE ประมาณ 22-24 เท่า อย่างไรก็ตาม ย้อนไปปี 2023 หุ้นอินเดียก็แพงแบบนี้ แต่กลับขึ้นมากกว่า 20% จาก earning growth และภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแรง
อีกตลาดที่น่าสนใจก็คือเวียดนาม แม้จะยังคงเป็น Frontier Market แต่ขอจัดเข้ามาในกลุ่ม Emerging Markets ซึ่งมีข้อดีคือ Valuation ถูกลงมาหน่อย รวมทั้งปีนี้ทุกอย่างกลับมาดี นำด้วยภาครัฐและ infrastructure เพียงแต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องหุ้นกู้มาครบกำหนดปีนี้ แต่การที่สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ดอกเบี้ยลง อาจทำให้บริษัททำ rollover ได้ต่อ
แนะนำกองทุนหุ้นอินเดีย KFINDIA ที่คำนึงถึง downsize เหมาะกับตลาดที่ขึ้นมาแพง ส่วนกองทุนหุ้นเวียดนามแนะนำ KFVIET ที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแบบ fully hedge
คำถามถึงมุมมองตลาดหุ้นจีน คิดว่าถ้าจะซื้อเพิ่ม แนะนำซื้อแบบเก็งกำไรระยะสั้น ถ้าใครมีหุ้นจีนไม่ถึง 15% ของพอร์ต ยังคงซื้อสะสมได้ แต่ถ้ามีเยอะแล้วไม่จำเป็นต้องซื้อระยะยาว
ประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจในจีนไม่น่าเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตัวที่แย่ ๆ เจอ default ไปหมดแล้ว ตัวที่เหลืออยู่คือตัวที่ดี ทว่าเศรษฐกิจอาจโตช้า ฉะนั้นจึงต้องมีตัวกระตุ้นอย่างนโยบายภาครัฐ การลดดอกเบี้ย และนโยบายการคลังมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจีนมีท่าทีชัดเจนว่าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากดันตลาดหุ้น อยากเป็นมิตรกับธุรกิจมากขึ้น โดยผ่อนคลายการกำกับดูแลลงชัดเจน
ขณะที่ตลาดหุ้นเริ่มมีสัญญาณทางเทคนิคน่าสนใจ จากตัวกระตุ้นเรื่องการลดดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมา จึงมีกองทุนเข้ามาถือหุ้นจีนมากขึ้น หากเข้าลงทุนตอนนี้ถือว่าเป็น early bird ได้อัปไซด์เยอะ
มุมมอง คุณวศิน ปริธัญ Definit วิเคราะห์ว่าถ้าต้องเลือกหนึ่งตลาด ขอเลือก Emerging Markets แนะนำลงทุนแบบ selective และเน้น active manager ธรรมชาติของตลาดเกิดใหม่นั้นไม่ชอบดอลลาร์แข็งค่า และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว หลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น
มองว่าต่อจากนี้ Fed จะลดดอกเบี้ยแน่นอน คำถามสำคัญอยู่ที่ลดเท่าไร และลดเมื่อไร โดยคาดว่าจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง และไม่น่ามีเซอร์ไพรส์อะไรให้ตลาดตกใจ แต่ความท้าทายคือเรื่องเงินเฟ้อที่ออกมาทุกเดือนต้องไม่เซอร์ไพรส์ตลาด ตลาดหุ้นจึงน่าจะยังไปต่อได้
ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ และกองทุนรวม
คนไทยหันมาสนใจในลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น โดยขนาดตลาดหุ้นกู้มูลค่าเกือบ 5 ล้านล้าน กว่า 40% ถือครองโดยนักลงทุนรายย่อย (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม High Net Worth) ซึ่งต่างจากภาพจำที่เรามักจะนึกว่าส่วนใหญ่คนถือคือนักลงทุนสถาบัน ขณะที่ขนาดของกองทุนรวมตราสารหนี้ (รวมพันธบัตรรัฐบาล) อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยของ Fed หนุนให้คนหันมาสนใจลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่อง Default risk ที่ปีก่อนมีจำนวน 5 ราย เป็นอัตราที่ไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ประเทศไทยมีนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่ใหญ่ และมีอิสระในทางเลือกการลงทุน ทั้งผ่านกองทุนหรือลงด้วยตัวเอง ดังนั้น การมีโค้ชที่คอยให้คำปรึกษาด้านการลงทุนจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้
เทรนด์ธุรกิจกองทุนรวม ในปี 2023 เติบโตขึ้น 5% คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศไทย คิดเป็นขนาดตลาด 5.1 ล้านล้านบาท แม้จะมีการ Take Profit ออกไปบ้าง แต่คาดว่าปีนี้น่าจะเติบโตต่อไปได้อีก เนื่องจาก Fed ลดดอกเบี้ย สร้างบรรยากาศในการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งในอดีตคนรายได้สูงนำเงินไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง แต่ตอนนี้มีเก็บภาษี ทำให้คนเอาเงินกลับมาประเทศไทย หนุนให้กองทุนรวมต่างประเทศเป็นโอกาสเติบโต
ข้อมูลจาก ก.ล.ต. พบว่า คนไทยถึง 50% ที่ซื้อกองทุนรวมมักเป็นการลงทุนแบบกองเดียว (นโยบายเดียว, asset class เดียว) โดยที่ไม่เคยกระจายการลงทุนผ่านการจัดพอร์ต ซึ่งประเด็นนี้ควรถูกหยิบมาส่งเสริมเพื่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว และการออมภาคเกษียณ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วน ต้องช่วยการส่งเสริมให้คนตั้งเป้าหมายการออม วางแผนเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งสูตรสำเร็จในทุกประเทศ คือต้องมีการออมภาคบังคับเท่านั้น
เทรนด์วางแผนการเงิน
คนไทยให้ความสนใจเรื่องคำแนะนำมากขึ้น ทั้งการลงทุน และเลยไปถึงการวางแผนการเงิน ตัวเร่งหลัก ๆ เกิดขึ้นตอนโควิด ที่ชี้ให้เห็นว่าเรายังขาดการบริหารการเงินหลายด้าน ซึ่งบทบาทของนักวางแผนการเงินขยายตัวมากขึ้น และเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน
ขณะเดียวกันตลาดการลงทุนปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น คนธรรมดาอาจจะไม่มีศักยภาพเลือกลงทุนเอง จำเป็นต้องอาศัยนักวางแผนการเงิน
คำว่า ‘ผู้ลงทุน’ กับ “นักลงทุน” มองลึก ๆ สองคำนี้แตกต่างกัน คนส่วนใหญ่คือผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ จำเป็นต้องพึ่งพาที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ ทำให้ตลาดนี้ขยายตัวมาก ตลอดจนยังมีกลุ่มขนาดใหญ่นั่นคือคนที่ใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้ว
เทรนด์แนวโน้มการลงทุนในอนาคต
ควรจัดทัพการลงทุนให้คล้ายกับทีมฟุตบอล มีกองหน้า กองกลาง กองหลัง
กองหน้าควรเป็นการลงทุนในหุ้น มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว (เงินเย็น 5-7 ปีขึ้นไป) ซึ่งสำคัญมากเพราะ low risk investment มีผลตอบแทนที่ต่ำ
ควรมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่กองหลัง หยิบใช้ได้ง่าย ๆ ในระยะสั้น เช่น ตลาดเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับเงินลงทุนระยะกลาง ควรลงทุนในตราสารหนี้ หรือเครื่องมือทางการเงินที่ให้ good income
สำหรับแนวโน้มปีนี้ไปจนถึงปีนี้ ตลาดทุนทั่วโลกจะซับซ้อนและเชื่อมโยงมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะเร็วและแรง นักลงทุนจะมองหาการลงทุนมากกว่าตลาดบ้านเกิด ต่อจากนี้เกมการลงทุนจะไม่ใช่การหาผลตอบแทนมากสุด แต่เป็นการบริการความเสี่ยงให้พอร์ตเติบโตอย่างยั่งยืน