วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (1)
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM
นักลงทุนบางท่านอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินมักจะยกขึ้นมาอธิบายความผันผวนของตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศว่ามันคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ดำเนินไปในทิศทางใด และควรมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ผู้เขียนจะลองนำเสนอเรื่องราวปัญหาหนี้สินในยุโรปผ่านทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียนแต่พอสังเขป
ปัญหาหนี้สินในยุโรปในครั้งนี้มีรากฐานมายาวนานเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศมหาอำนาจเดิมในยุโรปได้รับความสูญเสียมหาศาลจากสงครามไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสัมพันธมิตร หรือฝ่ายพ่ายสงครามอย่างเยอรมัน อิตาลี และพลพรรคอักษะ เปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ชนะที่สูญเสียน้อยที่สุดก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจแทน ค่าเงินสกุลหลักที่ใช้ซื้อขายสินค้ากันก็เปลี่ยนจากปอนด์สเตอริงมาเป็นดอลลาร์สหรัฐและก็เป็นเช่นนั้นมาตลอดเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา เวลาผ่านไปความสำคัญของเศรษฐกิจยุโรปก็เริ่มลดลงโดยเฉพาะหลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังจากสงคราม ในที่สุดกลุ่มประเทศในยุโรปเริ่มรู้สึกว่าตนเองเริ่มจะด้อยกว่าประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐและต้องการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 ก็เริ่มมีแนวคิดจะรวมเศรษฐกิจยุโรปให้เป็นปึกแผ่น โดยการก่อตั้งสหภาพยุโรปซึ่งมุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันภายในประเทศกลุ่มยุโรป เช่น การจ้างงานเสรี การเดินทางข้ามประเทศ อัตราภาษีพิเศษในภูมิภาค และที่สำคัญที่สุดกำหนดสกุลเงินหลักที่ใช้ร่วมกันในสหภาพยุโรปเพื่อคานอำนาจกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในที่สุดค่าเงินยูโรก็ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 1998
การปรากฏขึ้นของค่าเงินยูโรส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปทำให้สถานะภาพทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดเล็กเหล่านั้นได้รับการยอมรับมากขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ค่าเงินยูโรซึ่งมีความแข็งแกร่งทำให้ประเทศขนาดเล็กเหล่านั้นมีอำนาจในการซื้อสินค้ามากขึ้น (เมื่อค่าเงินแข็งขึ้นก็ทำให้สินค้าที่นำเข้ามีราคาถูกลง) ประกอบกับการก่อหนี้ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากค่าเงินสกุลยูโรได้รับการค้ำประกันโดยความน่าเชื่อถือของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประเทศขนาดเล็กเหล่านั้นบริโภคและลงทุนเกินตัว ผ่านรัฐสวัสดิการที่เกินความจำเป็น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หรือการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายด้วยสินเชื่อหรือบัตรเครดิต (สำหรับนักลงทุนที่เป็นแฟนฟุตบอลสโมสรในยุโรปที่ทราบค่าจ้าง และค่าตัวซื้อขายนักฟุตบอลในยุโรปก็คงจะทราบถึงความฟุ้งเฟ้อที่ว่าได้ดี) ส่งผลให้ประเทศต่างๆในยุโรปเริ่มมีการขาดดุลการคลังมากขึ้น ในระยะแรกปัญหาขาดดุลการคลังยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เนื่องจากการระดมเงินกู้สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปเช่น เอเชีย และอเมริกาใต้ ยินดีที่จะซื้อพันธบัตรของประเทศในสหภาพยุโรปไม่ว่าจะเพื่อการลงทุนหาผลตอบแทนหรือการเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่นานวันเข้าภาระหนี้สินของประเทศเหล่านั้นก็เริ่มพอกพูนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐในปี ค.ศ. 2008 ส่งผลให้ประเทศในยุโรปยิ่งต้องพยายามดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังเพื่อค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศตัวเองให้พ้นจากภาวะถดถอยเร็วที่สุด จนในที่สุดกรอบข้อตกลงเรื่องการขาดดุลการคลังและเพดานหนี้สินของประเทศในสหภาพยุโรปก็ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอีกต่อไป (ภาระขาดดุลต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี และหนี้สินต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60) ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในยุโรปมีภาระหนี้สินต่อ GDP เกิน 100% บางประเทศมีการขาดดุลต่อ GDP มากกว่าร้อยละ 10 ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น บราซิล อินเดีย รัสเซีย และจีน (BRIC) ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของนักลงทุนว่าพันธบัตร ตราสารหนี้และค่าเงินในสกุลยูโรจะยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ต่อไปอีกหรือไม่
ความกังวลเรื่องดังกล่าวเริ่มเลวร้ายมากขึ้นเมื่อประเทศขนาดเล็กอย่างกรีซ ซึ่งเคยลงทุนเกินตัวสมัยเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคปี 2004 เริ่มส่ออาการขาดสภาพคล่องเมื่อนักลงทุนทยอยไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกรีซ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซซึ่งเป็นต้นทุนกู้ยืมเงินผ่านการออกพันธบัตรของรัฐบาลกรีซเริ่มถีบตัวสูงขึ้น และทำให้นักลงทุนรายอื่นๆ ยิ่งลังเลที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกรีซมากขึ้นไปอีก (ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซอายุ 10 ปีอยู่ 21.34% เปรียบเทียบกับรัฐบาลสหรัฐ10 ปี อยู่ที่ 1.94% และพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี อยู่ที่ 3.84%) นานวันเข้าความกังวลเรื่องหนี้สินต่างๆเหล่านี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปที่มีสภาพใกล้เคียงกับกรีซ เช่น ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฮังการี หรือกระทั่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอิตาลี และสเปน ทำให้ปัญหาในยุโรปดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับ เช่น S&P Moody และ Fitch ก็เริ่มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในสหภาพยุโรป (บางประเทศปรับลดลงไปต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้) ซ้ำเติมให้ประเทศเหล่านั้นระดมเงินกู้ได้ยากขึ้นไปอีก จนในที่สุดธนาคารกลางของสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (เจ้าเก่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง) ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือประเทศมีประสบปัญหาในยุโรปด้วยการให้สภาพคล่อง และระดมเงินมาซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป เพื่อสกัดปัญหาตั้งแต่ต้นลมก่อนที่จะลุกลามบานปลายเกินแก้ไข
ปัญหาหนี้สินในยุโรปไม่ได้หยุดอยู่แค่ระดับของรัฐบาลเท่านั้น สถาบันการเงินในยุโรปต่างก็มีการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนของประเทศในสหภาพยุโรป เมื่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงก็จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สูญมากขึ้น นอกจากนี้สถาบันการเงินในยุโรปยังปล่อยสินเชื่อให้รัฐบาลในสภาพยุโรปผ่านการซื้อพันธบัตรซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้เป็นเงินทุนสำรองของธนาคารได้ แต่เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปปรับตัวสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบแล้วมูลค่าพันธบัตรที่สถาบันการเงินเหล่านั้นถือครองก็ลดลง (ตามหลัก Mark to market) ยิ่งพันธบัตรรัฐบาลเหล่านั้นถูกลดอันดับความน่าเชื่อ คุณภาพของสินทรัพย์และเงินกองทุนของสถาบันการเงินยุโรปยิ่งถูกตั้งของสงสัยมากขึ้นไปอีก ในที่สุดสถาบันการเงินในยุโรปก็เริ่มประสบปัญหาในการรักษาสภาพคล่องด้วยเช่นกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นที่มาของวิกฤติหนี้สินของยุโรป สำหรับรายะละเอียดของปัญหาในปัจจุบัน แนวทางแก้ไขปัญหาและอนาคตของวิกฤติหนี้สินในยุโรปยังมีอยู่อีกมาก โปรดติดตามตอนต่อไป ^_^
งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น