วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (2)
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM
บทความตอนที่แล้วได้เล่าถึงที่มาของปัญหาหนี้สินในยุโรปไปแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาในรายละเอียดตามมุมมองของผู้เขียน
ปัจจุบันปัญหาหนี้สินของกรีซอาจถือได้ว่าอยู่ระดับที่น่าวิตกมาก แม้ว่ากลุ่มสภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่าประเทศ (IMF) จะเข้าให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 110,000 ล้านยูโรก็ตาม เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนของ EU ที่ให้กับกรีซเป็นในรูปเงินกู้เพื่อนำไปชำระหนี้พันธบัตรที่ครบกำหนด โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซจะต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อลดภาระขาดทุนทางการคลังจากร้อยละ 10.5 ในปี 2010 และขายสินทรัพย์ภาครัฐ เพื่อนำมาชำระหนี้สินจำนวนมหาศาลที่เคยก่อไว้ อย่างไรก็ดีหลังจากได้เงินกู้ก้อนแรกไปปีกว่าๆแล้วกรีซยังไม่แนวโน้มว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับคำมั่นที่เคยให้ไว้กับ EU และ IMF การดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากการต่อต้านจนถึงขั้นจลาจลจากประชาชนที่เคยสุขสบายจากรัฐสวัสดิการที่ให้เปล่า กระบวนการขายสินทรัพย์ที่ล่าช้าและดูเหมือนจะไม่เพียงพอในการชำระหนี้ทั้งหมด เมื่อรวมกับเศรษฐกิจของประเทศที่ทรุดหนักในระยะหลัง ทำให้ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของกรีซได้ออกแถลงการณ์ขอร้อง EU ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการรัดเข็มขัดและขอเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องก้อนใหม่ พร้อมยกคำขู่ว่ากรีซจะมีเงินพอใช้ไปได้จนถึงเดือนตุลาคม 2011 เท่านั้น ถ้าไม่ให้รีบความช่วยเหลือกรีซแบบมีเงื่อนไขน้อยที่สุด สหภาพยุโรปก็อาจเกิดอาการ “ตายหมู่” ได้
เมื่อปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆที่ใช้สกุลเงินเดียวกัน ประเทศอื่นๆใน EU ก็มีสภาพย่ำแย่ไปตามๆกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศขนาดใหญ่ใน EU ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยพันธบัตรรัฐบาลสเปน (Rating AA) และอิตาลี (Rating A) รุ่นอายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 5.60% และ 5.17% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลไทย (Rating BBB+) อายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 3.84% เมื่อพิจารณาควบคู่กับเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการจ้างงานจะพบว่าประเทศเหล่านี้เองก็น่าเป็นห่วงมาก ยกตัวอย่างเช่น สเปนมีอัตราการว่างงานสูงถึง 20% แปลว่าถ้าเดินตามถนนเจอคน 5 คนจะมีคนหนึ่งที่ว่างงานโดนเฉลี่ย ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ล้วนแล้วแต่มีอัตราการว่างงานที่เกิน 10% ทั้งหมด (ถ้าแฟนฟุตบอลสโมสรยุโรปท่านใดสังเกตตลาดซื้อขายนักฟุตบอลในช่วงปีที่ผ่านมาจะพบว่าซบเซาลงไปมาก การยืมตัวนักฟุตบอลจะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น บางประเทศเช่น อิตาลี ถึงกับมีนโยบายเป็นเจ้าของร่วมในตัวนักฟุตบอลเลยก็มี เพราะไม่มีเงินซื้อทั้งตัวได้มาครึ่งตัวก็ยังดี ^_^)
ในด้านผู้ให้ความช่วยเหลือซึ่งได้แก่ EU เองก็ประสบปัญหาเช่นกัน ปัจจุบันสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกผ่านกองทุนที่ชื่อ European Financial Stability Facility หรือ EFSF ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศสมาชิก ล่าสุดได้ปรับแก้ข้อบังคับของกองทุนให้สามารถเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของประเทศสมาชิกโดยตรงผ่านการเข้าถือหุ้นของสถาบันการเงินต่างๆเหล่านั้นได้ด้วย ปัญหาก็คือกองทุน EFSF มีเงินกองทุนไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนภาระหนี้ทั้งหมดของประเทศที่มีปัญหา โดยปัจจุบัน EFSF มีศักยภาพที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินได้ถึง 255,000 ล้านยูโร และอาจขยายได้ถึง 440,000 ล้านยูโรในกรณีที่ใช้การค้ำประกันหนี้ ซึ่งเพียงพอกับการให้ความช่วยเหลือกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ แต่เมื่อพิจารณารวม อิตาลี และสเปนเข้าไปด้วย จำนวนเงินที่ ESFS ต้องการเพื่อจะให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ ในเบื้องต้นอาจสูงถึง 520,000 ล้านยูโร ซึ่งแผนการเพิ่มทุนให้กับกองทุน ESFS เพื่อให้สามารถสนับสนุนเงินกู้ยืมได้ถึง 450,000 ล้านยูโร และขยายเป็นค้ำประกันได้ถึง 780,000 ล้านยูโร ก็ยังมีอุปสรรคอยู่เนื่องจากการเพิ่มทุนของ EFSF จำเป็นต้องได้ฉันทามติ จากรัฐสาของประเทศสมาชิก แต่รัฐบาลของประเทศพี่ใหญ่ในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส และเยอรมันได้รับแรงกดดันจากประชาชนที่ไม่อยากเอาเงินสำรองของประเทศตัวเองที่ได้มาอย่างยากลำบากไปอุ้มภาระหนี้ของประเทศที่สุรุ่ยสุร่าย ถ้าไปช่วยมากๆเข้าตัวเองก็อาจมีความเสี่ยงจะโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไปด้วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือตัวเลขทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวที่เลขที่นับรวมเฉพาะหนี้สิ้นภาครัฐเท่านั้น นี่ยังไม่ได้พูดถึงตัวเลขของภาคเอกชนเลยแม้แต่น้อย
ในด้านสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินของยุโรปในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติก็คงจะได้ ล่าสุด Credit default swap หรือ CDS ซึ่งเป็นค่าประกันความเสี่ยงที่ผู้ซื้อประกันจะต้องจ่ายให้กับผู้ค้ำประกันของธนาคารในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นเทียบเคียง หรือบางสถาบันการเงินก็สูงกว่าครั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤติเหมือนปี 2008 แต่สถานะของสถาบันการเงินยุโรปเข้าขั้นวิกฤติเท่ากันหรือมากกว่าครั้งนั้นแล้ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกรีซเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งตามข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2010 ของ Bank for international settlement (BID) ภาคธนาคารและเอกชนฝรั่งเศสเป็นเจ้าหนี้กรีซเป็นจำนวนเงินรวม 41,700 ล้านยูโร อันดับสองเป็นของธนาคารเยอรมัน 11,300 ล้านยูโร และอันดับสามธนาคารอังกฤษ 10,600 ล้านยูโรตามลำดับ ในที่สุดสถาบันการเงินในยุโรปก็ประสบปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนและกองทุนตลาดเงินต่างๆซึ่งเคยซื้อตั๋วเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินต่างๆเหล่านี้ก็งดซื้อตั๋วเงินต่อ ในขณะที่สถาบันการเงินด้วยกันก็ลังเลที่จะปล่อยกู้ระยะสั้นให้แก่กัน ดังที่ธนาคารกลางสหรัฐได้แสดงความกังวลผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ และมีข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ สภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสวิสเซอร์แลนด์ ที่จะเพิ่มวงเงินเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินในยุโรป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแห่ถอนเงินฝากของผู้ฝากเงินจนทำให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องเฉียบพลัน (Bank run) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินของไทยที่ต้องปิดตัวไปสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง
แม้ว่าสถาบันการเงินในยุโรปจะได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ แต่ปัญหาสำคัญที่ยังคงมีอยู่คือ เงินกองทุนที่สถาบันการเงินจะต้องดำรงไว้เพื่อดำเนินกิจการ เมื่อสินทรัพย์ของธนาคาร เช่น สินเชื่อ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือกระทั่งหุ้นที่ถือครองอยู่มีมูลค่าตลาดลดลง ในทางบัญชีแล้วเงินกองทุนฯก็จะต้องลดลงไปด้วย ถ้าราคาตลาดของสินทรัพย์ยังคงปรับตัวลดลงต่อไปเงินกองทุนฯก็จะยิ่งลดต่ำลงไปอีก ปัจจุบันการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในยุโรปยังถูกต้องข้อสงสัยว่าประเมินมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาบางรุ่นยังไม่ได้ถูกตีราคาตลาด (Market to market) ตามนโยบายบัญชีที่จะถือครองไปจนครบกำหนดอายุ หรือความสงสัยว่าแบบจำลองที่ใช้ในการประเมินมูลค่าตราสารอนุพันธ์ที่มีความซับซ้อนนั้นสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของตราสารเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องหรือไม่ แม้จะมีความพยายามจะทำ Stress test ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อดูความพอเพียงของเงินกองทุนฯ การทดสอบ Stress test นั้นก็ยังได้รับความสงสัยถึงวิธีการและความเข็มงวดของการทดสอบอยู่ดี ซึ่งหากแท้จริงแล้วสถาบันการเงินในยุโรปมีเงินกองทุนฯที่ไม่เพียงพอในการดำเนินกิจการ สถาบันการเงินเหล่านั้นก็มักจะเลือกขายสินทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ มากกว่าที่จะเพิ่มทุนในสภาวะที่ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ถ้าลองย้อนกลับไปดูสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ก็จะเห็นผลกระทบจากการเทขายสินทรัพย์เพื่อรักษาสภาพคล่องและฐานเงินทุนสถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน อาจจะกล่าวได้ว่าปัญหาสภาพคล่องและเงินทุนของสถาบันการเงินในยุโรปในปัจจุบันถือว่าจุดที่วิกฤติที่สุดของปัญหาหนี้สินยุโรปในครั้งนี้ ดังที่ จอร์จ โซลอส ได้ออกมาเตือนว่าวิกฤติสถาบันการเงินในยุโรปครั้งนี้รุนแรงกว่าสมัย Lehmann brother หากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในยุโรปต้องปิดกิจการเช่นเดียวกับ Lehmann brother ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกก็อาจรุนแรงเช่นเดียวกับหรือาจมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสถานการณ์ปัจจุบันของของวิกฤติหนี้สินของยุโรป สำหรับอนาคตและแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลกระทบด้านอื่นๆในมุมมองของผู้เขียนยังมีอยู่อีก โปรดติดตามตอนต่อไป ^_^
งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น