Operation Twist เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1961 ยุคที่เศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยรัฐบาล John F. Kennedy และธนาคารกลางสหรัฐต้องการลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อกระตุ้นภาคการลงทุนและสนับสนุนอุปสงค์ภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมการไหลออกของดุลการชำระเงินและทองคำได้จากการที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในระดับเดิม ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของธนาคารกลางสหรัฐในปัจจุบันที่เริ่มต้นจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี จากนั้นจึงทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในลำดับถัดมา
ความแตกต่างระหว่าง Operation Twist กับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทั้ง QE1 และ QE2 อยู่ที่อายุคงเหลือของพันธบัตรรัฐบาล โดยมาตรการที่ผ่านมาเน้นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 10 ปี ในขณะที่มาตรการปัจจุบันพุ่งเป้าไปยังการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ดังพิจารณาได้จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐมีแผนที่จะใช้เงิน 116,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เฉลี่ย 12,889 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน) คิดเป็นร้อยละ 29 ของ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้จากการขายพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเพื่อซื้อพันธบัตรที่มีอายุคงเหลืออยู่ในช่วง 20-30 ปี ซึ่งเป็นปริมาณเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับอุปทานของพันธบัตรระยะยาวเนื่องจากกระทรวงการคลังสหรัฐทำการเปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีเดือนละประมาณ 13,000 ถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 9 เดือนข้างหน้า Federal Reserve จะเป็นผู้ซื้อหลักในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว
นอกจากนี้ แผนการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิผลของการดำเนินมาตรการ กล่าวคือในกรณีที่รัฐบาลให้ความร่วมมือโดยการออกพันธบัตรระยะยาวลดลง โดยไปเพิ่มในส่วนของพันธบัตรระยะสั้นแทน ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1961 ที่รัฐบาลเปิดประมูลพันธบัตรอายุ 18 เดือนแทนการออกพันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้น ย่อมส่งผลให้มาตรการ Operation Twist มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลดลงของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอาจยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้มากนักในแง่ของผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่ามาตรการของ Fed ในครั้งนี้ได้ใช้เงินถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 2.67 ของ GDP) เมื่อเทียบกับ 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 1.7 ของ GDP) ในปี ค.ศ. 1961 รวมทั้งการ Reinvest เงินต้นที่ครบกำหนดอายุใน Mortgage-Backed Security (MBS) ก็ตาม เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
- ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจจึงส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งที่ดัชนีที่ชี้วัดความสามารถในการซื้อบ้าน (Homebuyer Affordability Composite Index) ณ ปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตซับไพร์มอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม นอกจากนี้ การลดลงของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวยังส่งผลทำให้ผู้ออมเงินมีรายได้น้อยลง
- ธนาคารที่ไม่มีพอร์ตการลงทุนใน MBS ที่มากพอจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีลักษณะแบนราบลงจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ให้แคบลง ดังนั้น แรงจูงใจในการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะลดลงตามไปด้วย ยกเว้นในกรณีที่ Operation Twist สามารถช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัด
สิ่งที่น่าสนใจคือมาตรการ Quantitative Easing และ Operation Twist ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ จึงมีโอกาสที่มาตรการเพิ่มเติมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังไม่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Fed อาจทำการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวหรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการกำหนดมูลค่าเงินของการซื้อพันธบัตรเป็นการกำหนดราคาแทน ดังที่เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1942 ถึง 1951 อย่างไรก็ตาม มาตรการผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน