dont-believe-your-brain

ขอเกริ่นก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้เป็นการบอกสูตรในการเก็บเงิน ไม่ได้เป็นการบอก 10 เทคนิคในการเก็บเงินอะไรทำนองนั้น แต่เป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้เงินของเรา เพื่อเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยตรง ถ้าพร้อมแล้วเชิญอ่านบทความได้เลยครับ

หลายคนเริ่มชีวิตวัยทำงานด้วยความคิดที่ว่า “หาเงินเองได้แล้ว จะไม่ขอเงินพ่อแม่แล้ว” “หลังจากนี้จะเริ่มต้นเก็บเงินเพื่ออนาคต” “เริ่มต้นออมเงินทีละน้อย แล้วค่อยๆ ออมให้เยอะขึ้น จากนั้นเราก็จะกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่เกิน 30”

การตั้งเป้าหมายที่จะเก็บเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว…ว่ามีน้อยคนที่จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ บางคนก็เก็บเงินได้ แต่เก็บได้ไม่มากอย่างที่ตั้งใจ บางคนเดือนชนเดือน หามาได้เท่าไรก็หายหมด หรือบางคนรายรับรายจ่ายยังคงติดลบตัวแดงทุกเดือน ผลาญเงินเก็บของตัวเองไปเรื่อยๆ ยังเริ่มเก็บเงินไม่ได้เลย

ข่าวดีก็คือ ความสามารถในการเก็บเงินมันไม่ได้ติดมากับพันธุกรรม มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกว่าคนนี้คือคนที่เก็บเงินอยู่และจะรวยในอนาคต คนนี้คือคนที่เสพติดการใช้เงินและคงยากจนไปตลอดชีวิต มันไม่ใช่แบบนั้น ความสามารถในการเก็บเงินเป็นเรื่องที่ “ทุกคน” สามารถฝึกฝนได้ เพียงแต่ว่าเราต้องหัดฟังสิ่งที่สมองบอกให้น้อยลงซักหน่อยก็เท่านั้น

เบื้องหลังพฤติกรรมใช้เงินฟุ่มเฟือย

ใครๆ ก็ชอบพูดว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จริงๆ แล้วทุกวันนี้เรากำลังใช้เงินซื้อความสุขอยู่ และเป็น “ความสุขแบบเร่งด่วน (instant gratification)” ซะด้วย อยากกินอะไรหวานๆ ก็เดินออกไปซื้อชานมไข่มุก กินเข้าไปมีความสุขทันที เครียดจากงาน ก็ไปช็อปปิ้งซื้อของ ได้จ่ายเงินออกไปก็มีความสุขทันที (หรือบางคนเครียดก็ไปจบที่ชานมไข่มุกเหมือนเดิม)

ข้อดีของความสุขแบบเร่งด่วน คือ มันให้ความสุขกับเราได้อย่างรวดเร็ว ส่วนข้อเสียก็คือ ความต้องการส่วนนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่ได้กินอาหารอร่อยๆ แค่ครั้งเดียวแล้วจะไม่อยากกินอีกเลยตลอดชีวิต อะไรที่ให้ความสุขกับเรา เราก็จะอยากทำมันอยู่เรื่อยๆ นั่นแหละ

แล้วทำไมเราถึงชอบความสุขง่ายๆเร็วๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ต้องย้อนไปถึงเส้นทางการวิวัฒนาการของมนุษย์เรา สิ่งมีชีวิตไม่ว่าชนิดใดก็ตามจะมีสัญชาตญาณบางอย่างในตัวที่คล้ายกัน นั่นก็คือ ความต้องการอาหาร ความต้องการสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด เพื่อที่จะให้สิ่งมีชีวิตหาอาหารและเข้าสังคมอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติจึงกำหนดไว้ว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะให้ความสุขเป็นรางวัลทันที ถ้าอยากได้ความสุขก็ต้องหาอาหาร ถ้าอยากได้ความสุขก็ต้องแสวงหาการยอมรับจากสังคม (ซึ่งในปัจจุบันแสดงออกด้วยการซื้อของแพงๆ มาประดับบารมี) เป็นเหมือนกลลวงให้สิ่งมีชีวิตไล่ตามความสุขเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป

dont-believe-your-brain

ที่มา: http://brainmind.com/LimbicLangauage.html

ระบบการให้รางวัลแบบนี้ถูกสร้างและพัฒนามาเนิ่นนานตั้งแต่หลายล้านปีก่อนแล้ว ระบบนี้ฝังตัวอยู่ในส่วนของสมองด้านใน สาเหตุที่มันต้องไปซ่อนตัวอยู่ด้านในเพราะมันมีความสำคัญกับการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ มันจำเป็นต้องถูกปกป้อง เมื่อสังเกตจากรูปเปรียบเทียบสมองของคนกับสัตว์ชนิดต่างๆ จะเห็นว่าสมองส่วนนี้แทบไม่เปลี่ยนไปเลย ดังนั้นมันจึงฝังลึกเกาะติดสมองเราอย่างเหนียวแน่น ถึงแม้รูปร่างเราจะแตกต่างจากสัตว์อื่นมากมาย แต่สมองด้านในเรายังคล้ายกันเสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเอาสมองยุคหลายล้านปีที่แล้วมาใช้ในปัจจุบัน

ขอยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหนึ่ง นั่นก็คือ สุนัข ถ้าเกิดสุนัขตัวหนึ่งมีความสามารถในการหาอาหารได้ เข้ากับกลุ่มได้ สืบพันธุ์ได้ วันว่างๆ ก็ไปนอนเล่นอยู่หน้าประตูเซเว่นฯ นั่นก็ถือว่าสุนัขตัวนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้วในฐานะสุนัขตัวหนึ่ง ระบบการให้รางวัลในสมองของสุนัขทำงานได้เป็นอย่างดีกับการใช้ชีวิตของสุนัข

แต่สำหรับมนุษย์ สมองแบบนั้นมันไม่เวิร์ค ชีวิตมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าชีวิตสุนัขหลายร้อยเท่า การไล่ตามความสุขแบบผิวเผินไปวันๆ มีแต่จะทำให้ชีวิตของเราแย่ลง ความสุขจากการนอนตื่นสายทำให้เราโดนเจ้านายด่า ความสุขจากการกินขนมทำให้เราอ้วน ความสุขจากการช็อปปิ้งซื้อของทำให้เราไม่มีเงินเก็บและลำบากในระยะยาว ฯลฯ การไล่ตามความสุขระยะสั้นโดยไม่คิดถึงอนาคตมันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราอีกต่อไป และข่าวร้ายก็คือ เราไม่มีทางกำจัดความอยากต่างๆ ให้หายไปจากสมองเราได้ เว้นเสียแต่ว่าในอนาคตสมองมนุษย์จะวิวัฒนาการแล้วกำจัดสมองส่วนด้านในนี้ออกไป 

แล้วเราต้องทำอย่างไร ในเมื่อเราเปลี่ยนสมองไม่ได้

จริงอยู่ที่เราไม่สามารถกำจัดความอยากซื้อนู่นซื้อนี่ออกไปจากสมองได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สมองจะบอกให้เราไล่ตามความสุขอยู่เสมอ สิ่งที่เราทำได้ถ้าอยากให้ชีวิตดีขึ้น คือ เราต้องมีสติ แยก “สิ่งที่ให้ความสุข” กับ “สิ่งที่จำเป็น” ออกจากกันให้ได้

นี่คือเรื่องที่คนถูกสมองของตัวเองหลอกอยู่บ่อยๆ เราชอบคิดว่าอะไรที่ให้ความสุขกับเรา คือสิ่งจำเป็นในชีวิต เราขาดมันไปไม่ได้หรอก ขาดไปแล้วต้องอยู่ไม่ได้แน่ๆ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่เป็นความจริงเลย มันเป็นแค่การล่อลวงของสมองที่หลอกให้เราทำนู่นทำนี่ตามสัญชาตญาณยุคดึกดำบรรพ์แค่นั้นเอง ความจริงแล้วถึงเราขาดมันไปเราก็อยู่ได้ แถมอาจจะอยู่ได้ดีกว่าเดิมด้วย เพราะหลายครั้งสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มันไม่ได้มีประโยชน์กับเราเสมอไป การกินของอร่อยให้ความสุข แต่อาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพ การดูซีรีส์ให้ความสุข แต่อาจจะทำให้เสียการเสียงาน การซื้อของเยอะๆให้ความสุข แต่อาจจะทำให้เราไม่มีเงินเก็บและลำบากในอนาคต

ถ้าเรามีสติ แล้วแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เรากำลังอยากอยู่ตอนนี้ มันจำเป็นกับเราจริงๆ หรือเป็นแค่การไล่ตามความสุขระยะสั้น เราก็จะสามารถควบคุมชีวิตของเราได้ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการเงินของเราก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเราได้เปลี่ยนจากการมองหาความสุขแบบเร่งด่วน (instant gratification) ให้กลายเป็นการมองหาความสุขในระยะยาว (delayed gratification) เรียบร้อยแล้ว

สรุป

ถ้าเราอยากประหยัดขึ้น ไม่อยากใช้เงินเยอะเกินความจำเป็น เราต้องรู้ทันความคิดตัวเองอยู่เสมอ ช่วงแรกการหักห้ามใจอาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าฝึกทำให้ได้บ่อยๆ เราก็จะหักห้ามใจได้ง่ายขึ้น ทุกครั้งที่เกิด “ความอยาก” ลองถามตัวเองดูว่า สิ่งที่เรากำลังจะจ่ายเงินซื้อมันมีประโยชน์กับเราจริงๆหรือไม่ มันจำเป็นกับเราจริงๆหรือไม่ หรือมันแค่ความสุขชั่วคราวและกำลังจะส่งผลร้ายในอนาคต อย่าลืมว่า “สิ่งที่ให้ความสุข” ไม่ใช่ “สิ่งที่จำเป็น” เสมอไป ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้เยอะขึ้น อย่าเชื่อสมองของตัวเองมากครับ

FINNOMENA Admin


 

“เรื่องการลงทุน ให้เราดูแล”
ทำความรู้จักกับบริการของ FINNOMENA ได้ที่ https://www.finnomena.com/port/

 

TSF2024