“ภาษีคริปโตฯ” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกถกเถียงกันอย่างมากในตอนนี้ หลังกรมสรรพากรประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีคริปโตฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งในบทความนี้ FINNOMENA ได้รวบรวมทุกประเด็นที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีคริปโตฯ ตั้งแต่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการเสียภาษีคริปโตฯ และสรุป Q&A ในหัวข้อต่างๆ เพื่อคลายทุกข้อสงสัยที่คาใจเหล่านักลงทุน
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ “ภาษีคริปโตฯ”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ใน พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 นั้นหมายถึง คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล นั่นแปลว่ากำไรที่มาจากสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าเกณฑ์เสียภาษี
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่ได้แก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 ดังนี้
มาตรา 40 (4) (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
มาตรา 40 (4) (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
มาตรา 50 (ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ มีเงินได้เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเภทที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ได้แก่
- ส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองโทเคนดิจิทัล เช่น ส่วนแบ่งที่ได้รับจากโปรแกรม Ziplock ของ Zipmex Token
- กำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ โดยตรง (ซึ่งกรณีนี้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%)
การผ่อนปรนของกรมสรรพากร
ล่าสุด (8 มี.ค.) ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่กรมสรรพากรได้เสนอไว้ โดยจะผ่อนปรนการเก็บภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ดังนี้
- ภาษีเงินได้: การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินหรือกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย: กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
สรุปง่ายๆ คือ สำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. นั้น กรมสรรพากรจะยังไม่เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงนักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกันได้
สรุปแนวทางการเสียภาษีคริปโตฯ
รวม Q&A ประเด็นภาษีคริปโตฯ ที่หลายคนสงสัย
Q: สามารถนำธุรกรรมที่ขาดทุนมาหักลบจากกำไรของธุรกรรมอื่นได้หรือไม่?
A: ได้ เพราะกรมสรรพากรได้มีแนวทางผ่อนปรนให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกันได้ แต่ต้องทำธุรกรรมผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เท่านั้น
Q: คำนวณต้นทุนของคริปโตฯ ยังไง
A: สามารถคำนวณได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) และ วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average cost) ซึ่งเมื่อเลือกวิธีใดไปแล้วต้องใช้วิธีนั้นในการคำนวณต้นทุนตลอดปีภาษี
- วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO): การคํานวณว่าต้นทุนคริปโตฯ ที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลำดับ นั่นแปลว่ารายการคริปโตฯ ที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายจะเป็นคริปโคฯ ที่ซื้อมาครั้งหลังสุด
- วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่: การคํานวณต้นทุนคริปโตฯ โดยถัวเฉลี่ยต้นทุนคริปโตฯ ประเภทเดียวกัน ณ วันต้นปีกับต้นทุนที่ซื้อมาในระหว่างปี โดยคํานวณทุกครั้งที่มีการซื้อคริปโตฯ
Q: ควรใช้ราคาอ้างอิงจากแหล่งใด
A: กรมสรรพากรกำหนดแหล่งอ้างอิงดังนี้ โดยหากไม่มีตามข้อก่อนหน้าก็ให้ใช้วิธีการตามข้อถัดไป
- ใช้ราคาอ้างอิงจาก coinmarketcap.com แบบ USD และแปลงค่าเงินตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย
- ใช้ราคาอ้างอิงจากศูนย์ซื้อขายในประเทศไทยโดยเป็นราคาเฉลี่ย 24 ชั่วโมง
- ใช้ราคาอ้างอิงจากศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศที่เชื่อถือได้ (100 อันดับแรกใน coinmarketcap.com)
- ใช้ราคาจากสถานที่ซึ่งได้สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมา เช่น ผู้ขาย ICO จะมีราคากําหนดไว้
Q: ต้องมีหลักฐานแนบสำหรับการยื่นภาษีหรือไม่?
A: โฆษกฯ กรมสรรพากรระบุว่า การยื่นภาษีสามารถกรอกตัวเลขได้เลยโดยไม่ต้องแนบหลักฐานการมีรายได้ แต่แนะนำให้บันทึก statement เผื่อในกรณีที่ถูกตรวจสอบ
Q: ขายคริปโตฯ ในต่างประเทศแล้วได้กำไรต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่?
A: ถ้าปีนั้นอยู่ในประเทศไทยรวมแล้วเกิน 180 วัน และมีการนำกำไรกลับเข้าประเทศภายในปีเดียวกันจะต้องเสียภาษี
Q: มีกำไรแต่เก็บไว้ในกระดานเทรด (Exchange) ยังไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ต้องเสียภาษีหรือไม่?
A: เกณฑ์เงินได้ของกรมสรรพากรคือ เกิดรายได้เมื่อไรนับเป็นเงินได้เมื่อนั้น ดังนั้นหากขายคริปโตฯ แล้วได้กำไรแม้จะยังไม่ได้ถอนออกมาก็นับเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
Q: มีกรณีใดที่ได้กำไรจากการขายคริปโตฯ แล้วไม่ต้องเสียภาษีบ้าง?
A: มีทั้งหมด 3 กรณี
- มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียวและมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ไม่ต้องยื่นหรือเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้
- มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 210,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน
- อายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีกำไรจากการขายคริปโตฯ ตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน
อ้างอิง
- https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf
- https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/news/2565thai/news16_2565.pdf?fbclid=IwAR0Y8m1kki9rVQRaAkov3KIpsfrzSK_W7qs6LV0JSIPxdCu98n11nA1P3wQ
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/43.PDF
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/71.PDF
- https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000001616
- https://www.taxbugnoms.co/crypto-taxation-in-thailand/
- https://thematter.co/social/cryptocurrency-tax-thailand/164445
- https://www.itax.in.th/media/bitcoin-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%87/
- https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000023089