นักลงทุนมือใหม่หลายคนอาจสับสนระหว่าง “หุ้นสามัญ” กับ “หุ้นกู้” ว่าตราสารทั้ง 2 นี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับใคร และควรเลือกลงทุนแบบไหน?
บทความนี้ Finnomena จะพาทุกท่านไปไขข้อสงสัยเหล่านี้ เพื่อให้คุณตัดสินใจเลือกลงทุนได้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนของตัวเอง
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับหุ้นสามัญและหุ้นกู้กันก่อน
หุ้นสามัญ คืออะไร?
ตราสารทุน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “หุ้น” (Stock) คงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่คุ้นหูกันมากที่สุดแล้ว ลักษณะการลงทุนในหุ้นนั้นจะแสดงถึงการเป็น “เจ้าของกิจการ” หมายความว่าผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทที่เราเข้าไปซื้อหุ้น
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจะอยู่ในรูปแบบของ ส่วนต่างราคา (Captain Gain) และ เงินปันผล (Dividend Yield) ในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ มีนโยบายจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น การจองซื้อหุ้นออกใหม่ หุ้นเพิ่มทุน ฯลฯ
หุ้นกู้ คืออะไร?
หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น การขายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ การก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วย โดยแต่ละหน่วยจะมีมูลค่าเท่ากัน การออกหุ้นกู้ในประเทศไทยมักกำหนดมูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท
เมื่อซื้อหุ้นกู้แล้ว ผู้ซื้อจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” และบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ผู้ออกหุ้นกู้จะให้คำสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะจ่ายคืนเงินต้น ณ วันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
ผลตอบแทนของหุ้นกู้จะอยู่ในรูปของ “ดอกเบี้ย” ส่วนใหญ่จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน แต่หุ้นกู้บางรุ่น อาจจะจ่ายปีละ 4 ครั้ง หรือทุก ๆ 3 เดือน ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นกู้ ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย เช่นเดียวกับดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ ที่ 15%
ความแตกต่างของหุ้นสามัญและหุ้นกู้
1. สถานะของผู้ลงทุน
- หุ้นสามัญ: เป็นผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของบริษัท
- หุ้นกู้: เป็นเจ้าหนี้
2. อายุของตราสาร
- หุ้นสามัญ: ไม่มีอายุแน่นอน
- หุ้นกู้: มีกำหนดอายุแน่นอนไว้ล่วงหน้า
3. สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์สิน
- หุ้นสามัญ: สิทธิด้อยกว่าผู้ถือหุ้นกู้
- หุ้นกู้: สิทธิเหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ
4. มูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขาย
- หุ้นสามัญ: 100 หุ้น หรือซื้อเป็นเศษหุ้นในกระดาน Odd Lot
- หุ้นกู้: 100 หน่วย (1 หน่วย = 1,000 บาท)
5. ผลตอบแทน
- หุ้นสามัญ: ส่วนต่างราคา และเงินปันผล
- หุ้นกู้: ดอกเบี้ย
6. ภาษี
- หุ้นสามัญ: เงินปันผลหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
- หุ้นกู้: ดอกเบี้ยและกำไรหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
7. ค่าธรรมเนียม
- หุ้นสามัญ: มีค่าธรรมเนียมการซื้อขาย
- หุ้นกู้: ไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อขาย
8. ช่องทางการลงทุน
- หุ้นสามัญ: ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- หุ้นกู้: ซื้อขายผ่านดีลเลอร์หุ้นกู้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคาร
9. เหมาะกับใคร
- หุ้นสามัญ: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง
- หุ้นกู้: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ-ปานกลาง
สรุป
“หุ้นสามัญ” เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูง และยอมรับความเสี่ยงได้สูง ในขณะที่ “หุ้นกู้” เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอในรูปแบบของดอกเบี้ย ต้องการความมั่นคง และยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ ทั้งนี้นักลงทุนอาจจะลงทุนในทั้ง 2 สินทรัพย์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนของเรา เพื่อให้เงินลงทุนสามารถงอกเงยไปได้ในระยะยาว
อ่านบทความเกี่ยวกับหุ้นกู้เพิ่มเติม
- หุ้นกู้ คืออะไร? รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนลงทุนหุ้นกู้ ครบในที่เดียว!
- รู้จัก Credit Rating: กุญแจสำคัญก่อนลงทุนหุ้นกู้
- เทียบหมัดต่อหมัด! หุ้นกู้ตลาดแรก vs ตลาดรอง: ต่างกันอย่างไร เลือกลงทุนตลาดไหนดี?
- How to คัดหุ้นกู้คุณภาพดี ด้วย 5 อัตราส่วนทางการเงิน
- 3 ข้อควรรู้ ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ I POCKET MONEY EP46