ทำความรู้จัก 5 อคติที่จะทำให้นักลงทุนขาดทุน

เคยรู้สึกไหมว่าเรามักตัดสินใจผิดพลาดระหว่างการลงทุน?

ตามข้อสมมติฐานของแนวคิดการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional finance models) ได้สรุปว่ามนุษย์จะมีการตัดสินใจแบบมีเหตุมีผลตามข้อมูลที่มีอยู่ แต่เคยรู้สึกไหมว่าในหลายๆ ครั้งการตัดสินใจของเรามักจะผิดพลาด… โดยประเด็นหลักก็เกิดมาจากความเอนเอียงทางความคิด (Cognitive biases) และความเอนเอียงทางอารมณ์ (Emotional biases)

เราก็คือมนุษย์คนนึงที่มีอคติไม่ว่าจะเป็นทางความคิดหรืออารมณ์ จึงเกิดความผิดพลาดในระบบประมวลผล ทำให้การรวบรวมหรือพิจารณาข้อมูลนั้นมาจากสิ่งที่เราเชื่อ ส่งผลให้เหตุผลและการตัดสินใจเกิดการบกพร่องจากมุมมองแบบดั้งเดิม การลงทุนก็เช่นกัน…

วันนี้แอดมินเลยอยากนำ 5 ตัวอย่างอคติที่นักลงทุนมักจะเจอ มาให้รู้จักและทบทวนกันครับ

5 ตัวอย่างอคติที่นักลงทุนมักจะเจอ

1. Overconfidence:

เมื่อคุณได้รับฟังข้อมูลจากกูรู หรือได้รับข่าวสารจากแหล่งอื่นๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร? มีบ่อยครั้งที่เรารู้สึกมั่นใจเมื่อได้รับข้อมูลเหล่านี้ นักลงทุนบางคนเชื่อว่าเขาสามารถคาดการณ์ทิศทางของตลาดได้ การตัดสินใจของเขาจึงประเมินค่าไว้สูงเกินความเป็นจริง ความรู้สึกมั่นใจนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุน เช่น ไม่รับฟังมุมมองที่แตกต่าง ลงทุนเกินจำนวนที่เหมาะสม หรือซื้อขายระยะสั้นบ่อยขึ้น ความมั่นใจที่มากเกินไปนี้อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่เราคาดหวังได้

2. Confirmation bias:

เรามักจะหาหลักฐานหรือแหล่งอ้างอิงที่สนับสนุนความคิดของเราเพื่อยืนยันสิ่งที่คิด และหลีกเลี่ยงข้อมูลในฝั่งที่ตนไม่เชื่อถือ… การกระทำนี้ส่งผลให้การตัดสินใจมักจะมาจากข้อมูลเพียงฝั่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น เราชื่นชอบในการลงทุนเฉพาะบริษัทที่จ่ายเงินปันผลเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าการลงทุนแบบนี้อาจทำให้เสียโอกาสจากการไม่เข้าไปซื้อขายในมูลค่าที่ดีกว่าหรือลงทุนในบริษัทที่สามารถแข่งขันได้สูงกว่า เป็นต้น

3. Loss aversion bias:

เคยสังเกตไหมว่าเรามีความรู้สึกเจ็บปวดต่อการสูญเสียมากกว่าความรู้สึกดีใจกับสิ่งที่ได้รับ ซึ่งพฤติกรรมการตรวจพอร์ตการลงทุนบ่อยๆ ก็ส่อให้เห็นว่าเราก็รู้สึกอ่อนไหวต่อสภาวะการสูญเสีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือเราเลือกการลงทุนอยู่ในจำนวนต่ำกว่าปริมาณความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะระยะสั้นเพราะโอกาสที่เราจะเห็นการขาดทุนจะเจอในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว แต่ไม่ต้องกังวลไป… เพราะคุณสามารถเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนโดยการจัดสรรการลงทุนที่ตรงกับเป้าหมายระยะยาว เพราะนักลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่จะไม่สนใจกับเหตุการณ์ระยะสั้น ถึงขาดทุนก็ไม่เป็นไรมากนัก และเลือกที่จะลงทุนในระดับความเสี่ยงที่สูงกว่าแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเช่นกัน

4. Anchoring bias:

คุณเคยยึดติดกับเหตุการณ์ที่เคยเจอในครั้งแรกหรือเปล่า? เพราะเหตุการณ์แรกทำให้คุณยากที่จะตัดสินใจทำอะไรในครั้งต่อๆ ไป ตัวอย่างเช่น คุณซื้อหุ้นที่ราคา 75 บาท และหลังจากนั้นราคาก็เพิ่มขึ้นไปที่ 100 บาท คุณลังเลที่จะขาย ณ ราคา 100 บาท แต่สุดท้ายคุณก็ตัดสินใจที่จะยังไม่ขายในราคานั้น… 3 เดือนถัดมา ราคาของหุ้นนั้นตกไปอยู่ที่ 85 บาทแทน ถ้าหากคุณมีอคติในครั้งนี้ คุณจะไม่มีทางที่จะขายหุ้นตัวนั้นอีกเลยจนกว่าราคาจะกลับไปอยู่ที่ 100 บาทเหมือนเดิม แต่ว่าคุณอาจจะไม่ทันพิจารณาว่าราคาของหุ้นไม่มีทางขึ้นกลับมาเป็นราคาเดิมและทำให้เสียโอกาสการขายไป

5. Endowment bias:

โดยปกตินักลงทุนจะประเมินค่าสิ่งที่ถืออยู่ ณ ปัจจุบันสูงกว่าสิ่งที่ยังไม่ได้ถือ แต่มีโอกาสที่จะซื้อในอนาคต ทำให้นักลงทุนไม่เต็มใจที่จะขายสินทรัพย์นั้นๆ ที่ตนถืออยู่ เพราะรู้สึกทรยศต่อมัน ผลที่ได้คือเราตั้งราคาขายของสิ่งที่ถืออยู่ปัจจุบันไว้สูงกว่าราคาสูงสุดที่ตัวเราเองนั้นจะยอมจ่ายเพื่อซื้อสิ่งนั้นมาด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเราตั้งมูลค่าของสิ่งที่เราถือไว้สูงเกินไปนั่นเอง ซึ่งอาจจะทำให้เราพลาดโอกาสใหม่ๆ ในการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า

สรุปได้ว่าอคติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความคิดและอารมณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้การประมวลข้อมูลมีประสิทธิภาพน้อยลง มนุษย์จึงเกิดความเอนเอียงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในระหว่างการตัดสินใจ และได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเท่าที่ควร ดังนั้นการควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญระหว่างการลงทุนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะพลาดโอกาสทองของคุณเองครับ

ที่มา: https://www.forbes.com/sites/peterlazaroff/2016/04/01/5-biases-that-hurt-investor-returns/

TSF2024