เชื่อว่าหลายคนได้ยินคำว่า “ลงทุน” อยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นจากผู้คนรอบข้างหรือในสื่อต่างๆ หลายคนพอจะรู้ว่าการลงทุนนั้นคือหนึ่งในเครื่องมือบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพ หากเข้าใจและบริหารเป็นก็จะเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงยได้ แต่หลายคนก็ยังกลัว หรือไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร อีกทั้งยังมีความกังวลอันเนื่องมาจาก “ความเสี่ยงในการลงทุน” อีกด้วย บทความนี้เลยอยากจะแชร์ว่า สำหรับคนที่อยากลงทุน ต้องเริ่มอย่างไรถึงจะรอด ต้องเริ่มอย่างไรถึงจะปลอดภัย
1. ทบทวนเป้าหมายตัวเอง
ก่อนจะทำอะไรสักอย่าง เป็นการดีที่เราจะถามตัวเองก่อนว่า เป้าหมายเราคืออะไร เราจะทำไปทำไม
การลงทุนก็เหมือนกัน ทำไมเราถึงอยากลงทุน? เรามีเป้าหมายอะไรที่เราต้องการจะการลงทุนบ้าง? หลายๆ คนอาจจะตอบมาทันทีเลยว่า “ก็อยากรวยไง” ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่การตั้งเป้าหมายกว้างๆ แบบนี้นี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะมันจะเป็นการยากหากเราต้องวางแผนอย่างละเอียดๆ ว่าเราจะไปถึงจุด “รวย” จริงๆ ได้อย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง
สิ่งที่ควรทำคือ กำหนดเป้าหมายให้แคบลง ง่ายๆ เลยก็คือ รวยที่ว่าเนี่ยรวย “เท่าไร” ภายในระยะเวลา “กี่ปี” เช่น อยากได้ 3 ล้าน ภายใน 10 ปี เป็นต้น
หรือถ้าบางคนไม่ได้หวังยิ่งใหญ่มาก แค่อยากได้เงินก้อนไปทำอะไรสักอย่าง ก็อาจจะตั้งเป้าหมายว่า ฉันอยากลงทุนเพื่อได้เงินก้อนเป็นจำนวนเท่านี้ เพื่อนำไปซื้อบ้าน เป็นต้น
ทีนี้ เมื่อเรามีจุดหมายชัดเจน มีความ “อยาก” ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เราอยากเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ก็เหมือนเรามีแผนที่ชั้นดี ที่เหลือก็แค่เดินไปตามทางในแผนที่เท่านั้นเอง
2. ตรวจสอบความพร้อมเบื้องต้น
เรื่องลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน ดังนั้นเป็นการดีที่เราจะสำรวจสถานะการเงินของตัวเองก่อน เพราะการลงทุนนั้นบอกเลยว่า “จะเป็นเรื่องยาก” หากสภาพคล่องทางการเงินของเราไม่เพียงพอ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราไม่มี “เงิน” มากพอที่จะไปลงทุน หรือ เราเอาเงินส่วนใหญ่ไปลงทุน จนเบียดเบียนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แบบนั้นไม่โอเคแน่ๆ
ทางที่ดี เราควรตรวจสอบความพร้อมเบื้องต้นก่อนเลยว่า…
ข้อที่ 1 ตอนนี้รายรับรายจ่ายของเราเป็นอย่างไร? รู้สึกว่าเพียงพอไหม? บางคนยังมีหนี้ก้อนใหญ่อยู่ ก็ควรผ่อนหนี้ให้หมดไปก่อน ไม่ต้องรีบไปลงทุน บางคนอาจจะมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก อาจจะต้องลองพิจารณาดูว่า มีส่วนไหนที่พอจะลดได้บ้าง การใช้เครื่องมืออย่างแอปจดรายรับ-รายจ่ายจะช่วยได้มาก เพราะทำให้เรารู้ว่าเราเสียเงินไปกับอะไรเป็นหลัก
ข้อที่ 2 อีกจุดหนึ่งที่อยากให้คำนึงถึงคือ เงินฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินก้อนแรกที่เราควรจะมี เผื่อว่าเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ตกงาน ไม่สบาย เป็นต้น ถ้าเราไม่มีเงินก้อนนี้ไว้รองรับเหตุการณ์พวกนี้ สภาพคล่องทางการเงินของเราจะสะดุดแน่ๆ ซึ่งจำนวนเงินฉุกเฉินนี้ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน ตามหลักการแล้วจะอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน หากเรามองว่ากระแสเงินเข้าของเราค่อนข้างมั่นคง ก็อาจจะตุนไว้แค่ 3 เท่า แต่ถ้าของใครมาบ้างไม่มาบ้าง อย่างเช่นงานฟรีแลนซ์ ก็อาจจะตุนไว้เยอะหน่อย นอกจากเงินก้อนนี้แล้ว เราสามารถลองศึกษาการซื้อประกัน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเรา
ข้อที่ 3 เงินก้อนสำหรับลงทุนนั้น ควรเป็นเงินเย็นที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เร็วๆ นี้ ให้เหมาะกับการลงทุนในระยะเวลาที่เราวางแผนไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เงินที่ใช้ลงทุนต้องเป็นเงินที่เราไม่ต้องไปแตะต้อง เพราะการลงทุนนั้นในระยะสั้นย่อมเจอความผันผวน เราต้องยอมรับให้ได้ว่าเงินก้อนนี้อาจจะเจอการขาดทุนบ้าง แต่หากเรามั่นใจแล้วว่าจะลงทุนยาวๆ ก็ต้องไม่หวั่นต่อความผันผวนระยะสั้น การมีเงินก้อนที่พร้อมต่อระยะเวลาที่ยาวนานนี้จะช่วยให้เราอุ่นใจลงทุนต่อไปได้ และยิ่งเราเตรียมเงินฉุกเฉิน/มีประกันแล้ว เรายิ่งไม่ต้องกังวลเลยว่าจะต้องถอนเงินลงทุนออกมาหากเกิดอะไรไม่คาดฝันขึ้น
3. เริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุน
เป้าหมายพร้อม เงินพร้อม ขั้นต่อไปคือการหาความรู้เพิ่มเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งสมัยนี้นั้นมีอย่างครบพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สัมมนา สื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั่งคนรอบตัว มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและแบบฟรี เรียกได้ว่าไม่ใช่การยากเลยที่จะหาข้อมูลเรื่องการลงทุน แต่จุดที่ท้าทายคือ การเลือกแหล่งข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลนี่แหละ เพราะบางทีเราอาจจะเจอว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริง ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากคนรอบตัวที่บางทีอาจจะไม่ได้ผ่านการคัดกรองมาอย่างละเอียด หรือ ข้อมูลนั้นอาจจะนำมาบอกเราด้วยจุดประสงค์บางอย่าง ก็ต้องระวังกันไว้
ทางที่ดี ในเบื้องต้นเราควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจในภาพรวม เห็นมุมมองในหลายๆ ด้าน เมื่อเราเข้าใจภาพรวมมากขึ้นแล้ว เราจะเริ่มค้นพบแนวทางของตัวเอง เริ่มเข้าใจความเสี่ยงต่างๆ และรู้ว่าการลงทุนแบบไหนเหมาะกับเราจริงๆ
คำแนะนำจาก FINNOMENA ให้นักลงทุนที่อยากเริ่มต้นลงทุนทุกคน แนะนำให้ศึกษาหาความรู้แบบฟรีๆ จากบทความในเว็บไซต์ FINNOMENA ไปก่อนได้เลย โดยเฉพาะบทความ คัมภีร์มหากาพย์กองทุนรวม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกองทุนรวม เป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับมือใหม่และสร้างผลตอบแทนได้จริง อ่านเข้าใจง่ายไม่งงแน่นอน
เมื่อพร้อมแล้ว…ก็เริ่มลงทุนกันได้เลย
เมื่อเรามั่นใจว่ามีความเข้าใจในการลงทุนพอสมควรแล้ว รู้วิธีบริหารเงิน รู้จักความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุน เมื่อนั้นเราก็พร้อมแล้ว และเมื่อพร้อมแล้วก็อย่าช้า ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี เพราะการลงทุนต้องใช้เวลา
สำหรับนักลงทุนที่สนใจในกองทุนรวม คิดว่ากองทุนรวมนี่แหละคือเครื่องมือที่เราจะใช้ลงทุน สามารถลองศึกษาแผนการลงทุนต่างๆ ของ FINNOMENA และเลือกลงทุนในแผนที่เหมาะกับตัวเองได้ หรือหากสนใจในการลงทุนในหุ้น ก็เลือกเปิดบัญชีลงทุนกับโบรกเกอร์ชั้นนำได้เลย เดี๋ยวนี้ง่าย แทบจะเปิดบัญชีออนไลน์กันได้ทุกที่แล้ว
ในเมื่อเงินเป็นสิ่งที่เราต้องใช้กันอยู่ทุกวัน เป็นการดีกว่าที่เราจะรู้จักบริหารจัดการมันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเรื่องการเงินการลงทุนไม่จำเป็นต้องยาก มาเริ่มต้นเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน แล้วเราจะเปลี่ยนจากคน(อยาก)ลงทุน เป็น “คนลงทุน” ได้ 🙂