ผมเคยมานั่งคิดว่าทำไมคนบางคนนั้นเข้ามาลงทุนและสามารถเป็นนักลงทุน vi ที่ดีได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางคนนั้นต้องใช้ความพยายามมากในการลงทุนให้ดีได้ และหลายๆคนก็หมดความพยายามก่อนที่จะเห็นผล …
เมื่อมานั่งสังเกตุและวิเคราะห์คน 2 กลุ่มข้างต้นนั้นจะเห็นว่า คนที่เป็น vi ที่ดีได้นั้นมักจะมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวคือมักจะเป็นคนที่ใจเย็น ความอดทนสูง สามารถอดทนรอดูผลลัพธ์ในการลงทุนลงแรงได้นานกว่า และที่สำคัญคือ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการตัดสินใจ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนั้นก็จะขาดคุณสมบัติเหล่านี้ไปบางข้อ หรืออาจจะหลายๆข้อ
การวิเคราะห์โดยใช้ตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล และไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่ามีความสำคัญมากในการเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ดี …. ผมเคยอ่านเจอว่า 2 เรื่องที่คนมักจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล คือ ความรัก และเงิน.. อาจจะไม่เป็นจริงเสมอในทุกกรณีหรือในทุกคน แต่ผมก็เชื่อว่าประโยคดังกล่าวมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย
จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ผมเห็นว่าคนบางคน เรียกได้ว่าเกิดมาเป็นนักลงทุนที่ดีได้เลย เพราะมีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน เพียงแค่เรียนรู้ให้ถูกจุด อ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกหน่อยก็สามารถจะเป็นนักลงทุนที่ดีได้ไม่ยากนัก … แต่คนที่คิดว่าตัวเองขาดสิ่งเหล่านี้ไปก็ไม่ต้องเสียใจนะครับ เราอาจจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าแต่ก็ไม่ได้ความว่าจะไม่สามารถฝึกตัวเองให้เป็น vi ที่ได้ …
1. ความอดทนใจเย็น
2. การไม่ใช้อารมณ์ (ไม่มีอคติ หรือลำเอียง)
3. การคิดเป็นเหตุเป็นผล
คุณสมบัติ 3 อย่างนี้ ผมว่าคนเราสามารถฝึกกันได้ครับ อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะลอง เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ผมว่าไม่ใช่ว่าจะมีผลดีกับเฉพาะการลงทุนของเราเท่านั้น แต่มีผลดีต่อการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆอีกมากมาย ในอดีตเองผมก็คิดว่าผมมีคุณสมบัติพวกนี้ไม่ครบเหมือนกัน แต่ประสบการณ์การฝึกฝน (โดยไม่รู้ตัวทำให้คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองได้) ลองดูนะครับว่าเราจะสามารถพัฒนาตัวเองได้ยังไงบ้าง (วิธีการที่เขียนนั้นเป็นความเห็นและความเชื่อของผมเองล้วนๆ ไม่ได้มีหลักวิชาการใดๆรองรับทั้งสิ้น จะเชื่อหรือไม่ จะตัดสินใจยังไงอยู่ที่ตัวของท่านเองนะครับ)
ข้อ 1 และข้อ 2 นั้น ผมว่าผมพัฒนามาจากการอ่านหนังสือด้านจิตวิทยาหลายๆเล่ม … ที่ผ่านมานอกจากหนังสือด้านการลงทุนแล้ว หนังสือแนวจิตวิทยาและการพัฒนาตัวเองนั้นเป็นหนังสือแนวที่ผมชอบอ่านอยู่เรื่อยๆ … การที่เราจะเป็นคนใจเย็น และไม่ใช่อารมณ์ได้ ลำดับแรกเราต้องรู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น เข้าใจว่าการกระทำต่างๆของเรานั้นเกิดขึ้นโดยมีเบื้องลึกมาจากอะไร หลักการตรงนี้จริงๆแล้วจะคล้ายกับเรื่อง “สติ” ในแนวคิดของพุทธศาสนา สังเกตุนะครับ คนที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ชอบใช้อารมณ์ และไม่ใจเย็นนั้น มักจะไม่รู้ตัวหรอกครับว่าตัวเองกำลังเป็นอย่างไร … เมื่อเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังใช้อารมณ์ เราก็จะหยุดมันไม่ได้ … ในการลงทุนก็มีผลมากเหมือนกัน… เรามักจะหลอกตัวเองว่ากำลังใช้เหตุผลในการตัดสินใจทั้งๆที่เรากำลังใช้อารมณ์อยู่…
เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังโกรธ กำลังหัวเสีย ใช้อารมณ์ นั้นเราก็มีโอกาสที่จะหยุดหรือลดการกระทำของเราได้ง่ายขึ้น … มีหนังสือด้านจิตวิทยาและพัฒนาตัวเองมากกว่าในร้านหนังสือให้เลือกอ่านกันครับ เล่มที่ผมชอบก็ของนักเขียนชื่อ เดล คาร์เนกี้ มีดังๆอยู่หลายเล่มอาจจะหาซื้อยากซักหน่อยเพราะหนังสือมันเก่ามากแล้ว
ข้อ 3 เรื่องการคิดเป็นเหตุเป็นผล นั้นก็เป็นการกระทำที่อยู่คนละฝั่งของการใช้อารมณ์ แต่ในที่นี้ผมอยากจะขยายเพิ่มเติมอีกหน่อยเพราะว่าการคิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็นเหตุผลที่ถูกต้องด้วย … ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล บางคนเอาเหตุกับผลมาสลับกันมั่ว หรือของบางอย่างไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยก็เอามาเชื่อมโยงกันได้ …. วิธีการลับความคิดด้านเหตุผลของเราให้คมนั้นก็มุขเดิมครับ คือการอ่าน อ่านหนังสือด้านธุรกิจ อ่านหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงหนังสือที่ฝึกด้านตรรกะโดยตรงก็มีขาย (ผมเพิ่งเห็นหนังสือแนวนี้มาขายไม่ได้นานนี้เอง ปกสีขาวๆ แต่ไม่ได้ซื้อมาอ่านหรอกนะครับ ตอนนี้หนังสือท่วมเต็มบ้านยังอ่านไม่หมดเลย) เรื่องของการใช้ตรรกะแบบผิดๆนั้นมีอยู่เยอะครับ แม้แต่ในหนังสือพิมพ์ (จริงๆแล้วเป็นแหล่งที่ผมเจอการใช้ตรรกะแบบผิดๆบ่อยมากๆ) เพราะฉะนั้นแล้วการฝึกตัวเองให้มีทักษะด้านเหตุผลนั้น หาหนังสือที่ผมบอกมาฝึกอ่านๆไปเรื่อยๆนะครับ มันจะค่อยๆซึมไปเอง แล้วก็ต้องระวังการอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยครับ อ่านแล้วอย่าไปเชื่อทั้งหมด เพราะจุดผิดๆนี่เพียบเลยครับพี่น้อง… ผมจะเอาตัวอย่างการใช้ตรรกะ ผิดๆมาให้อ่านกันอีกทีนะครับ…
ปล. เอ๊ะอะๆจะฝึกฝนอะไรก็ให้อ่านๆตลอด ไม่รู้เบื่อกันรึเปล่า…. แต่ผมก็ไม่รู้จะแนะนำยังไงนะครับ เพราะผมว่าผมก็พัฒนาตัวเองมาจากการอ่านเยอะเหมือนกัน จะแนะนำในทางที่ตัวเองไม่ถนัดมันก็แปลกๆ
ที่มาบทความ : http://thai-value-investor.blogspot.com/2009/02/blog-post_24.html