ในการลงทุนนั้นมีหลายเรื่องที่เราควรจะต้องรู้ต้องเข้าใจเพื่อให้เราลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
1. การคำนวณ Present Value, Future Value
เราต้องคำนวณให้เป็นว่าถ้าเราลงเงินไปทุกเดือน เดือนละเท่านั้นเท่านี้ หวังผลตอบแทนเท่านี้ ผ่านไป 10 ปี 20 ปี เราจะมีเงินเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้วางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคำนวณไม่เป็นนะครับ
สมัยที่ผมลงทุนใหม่ๆ ผมชอบกดเครื่องคิดเลขหรือเปิด excel นั่งคำนวณ Future Value อยู่เป็นประจำว่าอายุเท่านี้เท่านั้นผมจะมีเงินเท่าไหร่ พอผมเห็นตัวเลขเป้าหมายที่วางไว้มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอดทนประหยัดเงินเพื่อเอามาลงทุน อดทนอ่านหนังสือ หาความรู้ โดยใช้เป้าหมายเป็นแรงผลักดัน
2. Asset allocation
เราหวังจะให้เงินทำงาน เราก็ควรต้องรู้ว่าเราจะให้มันไปทำงานอะไรบ้าง สินทรัพย์แต่ละอย่างมีผลตอบแทนและความเสี่ยงต่างกันอย่างไร คนแต่ละคนจะมี Profile ชีวิตที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมันไม่มีสูตรตายตัวที่เหมาะสมกับทุกคน คุณจะต้องศึกษา Basic ของเรื่องนี้ให้เข้าใจ และปรับใช้กับตัวเอง
เรื่องยอดฮิตด้าน Asset allocation ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ คนที่อายุน้อยรับความเสี่ยงได้เยอะควรลงทุนหุ้นเยอะๆ แล้วคนอายุมากรับความเสี่ยงได้น้อยควรลงทุนหุ้นน้อยๆ ในรายละเอียดแล้วมันไม่ใช่แค่นั้นนะครับ อันนั้นมันเป็นแนวคิดกว้างๆที่อาจจะใช้ได้กับคนจำนวนหนึ่ง
แต่ถ้าเราศึกษาลึกลงไปจริงๆแล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ เช่น คนอายุน้อยที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องหุ้นเลย ยังไงก็ไม่ควรลงทุนหุ้นอยู่ดี หรือคนอายุเยอะๆ แต่ว่าระดับความรู้การทุ่มเทเวลากับการลงทุนมากๆ ก็อาจจะเหมาะกับการลงทุนในสัดส่วนที่เยอะก็ได้
หรือคนอายุน้อยที่ครอบครัวไม่ได้มีเงินเก็บมากนัก แต่ว่ามีภาระที่จะต้องเลี้ยงพ่อแม่ แบบนี้ก็ไม่ควรเอามาลงทุนหุ้นเป็นสัดส่วนที่สูง ถึงแม้ว่าเค้าจะมีความรู้เรื่องหุ้นมากแค่ไหนก็ตาม
มีตัวอย่าง มีข้อยกเว้นอีกมากมายเกี่ยวกับ asset allocation ซึ่งผมว่าเราควรเข้าใจ
3. Stock selection
คนที่หวังจะมีผลตอบแทนเหนือตลาดหุ้น ก็ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการทำความเข้าใจการวิเคราะห์ธุรกิจ การประเมินมูลค่า ซึ่งเรื่อง stock selection ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าจะให้ศึกษาลึกจริงๆ ก็เรียกได้ว่าศึกษาได้ทั้งชีวิตละครับ เพราะมันเป็นความรู้ที่ทั้งลึก ทั้งกว้างมาก เรียกว่าความรู้แทบจะทุกอย่างในโลกใบนี้สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในเรื่องการเลือกหุ้นได้ทั้งสิ้น
คนที่จะเอาดีทางนี้จริงๆ ต้องทุ่มเทเวลามากพอสมควร แต่ผลลัพธ์ที่ได้ถ้าคุณทุ่มเทมากพอผมว่ามันก็คุ้มค่าไม่น้อยเหมือนกัน ผมเชื่อว่าคนที่จะเอาดีจากการลงทุนในหุ้นได้จริงๆจังๆ ต้องเป็นคนที่เปิดหูเปิดตา หาความรู้อยู่ตลอดเวลา และคุณจะต้องรักการอ่าน และรู้สึกสนุกเมื่ออ่านเรื่องการของธุรกิจต่างๆ ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว มิฉะนั้นคุณจะทำมันได้ไม่นานหรอกครับ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
สำหรับคนที่คิดว่าไม่เหมาะกับการเลือกหุ้นรายตัว ความรู้ด้านนี้ก็ไม่ลงลึกมากนัก สามารถเอาเงินไปลงทุนใน Index fund ดีกว่า แต่มีความรู้พื้นฐานเอาไว้บ้างก็ดีครับ เพราะพื้นฐานของการวิเคราะห์หุ้นมันก็ช่วยให้เราเลือกกลยุทธ์ลงทุนใน Index fund ได้ดีขึ้น อย่างเรื่องความถูกความแพงของตลาดที่ผมได้เขียนเอาไว้ มันก็มีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์หุ้นรายตัวแล้วเอามาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตลาด
4. การบริหาร port
พอเราเลือกหุ้นที่คิดว่าดีและถูกได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะซื้อหุ้นตัวเดียว แล้วหวังรวย เพราะมีโอกาสไม่น้อยเหมือนกันที่เราจะจนเลย การบริหาร port ที่ดีจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยง การมีหุ้นน้อยเกินไป ความเสี่ยงอาจจะสูง แต่การมีหุ้นมากเกินไปเราก็จะได้หุ้นเกรดรองๆลงไป ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังมันลดลงมาก
นักลงทุนบางคนอาจจะถนัดการลงทุนที่เจาะลึกมากๆ คือศึกษาหุ้นรายตัวอย่างละเอียด วิเคราะห์ความเสี่ยงรอบด้าน และติดตามธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เค้าก็อาจจะเหมาะกับการลงทุนหุ้นจำนวนไม่มากประมาณ 4-5 ตัว เพราะถ้าจะให้ลงทุนหุ้นมากกว่าก็จำเป็นต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นเยอะ
ส่วนนักลงทุนบางคนก็อาจจะไม่ได้ศึกษาหุ้นรายตัวลึกมาก แต่จะรู้กว้างไปในหลายๆอุตสาหกรรม ก็เหมาะที่จะลงทุนหุ้นหลายๆตัวตั้งแต่ 5-15 ตัว
การกำหนดว่าหุ้นตัวไหนจะถือเป็นสัดสวนเท่าไหร่ หรือเมื่อราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง พื้นฐานหุ้นเปลี่ยนแปลง หรือการไปเจอหุ้นตัวใหม่ที่น่าสนใจกว่าที่มีใน port สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องรู้จักซื้อขายหุ้นปรับเปรียบหุ้นใน port ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
5. การวัดผลตอบแทน
พอลงทุนแล้วเราก็ต้องวัดผลตอบแทนให้เป็น แยกวัดผลตอบแทนรายสินทรัพย์ เพื่อที่จะได้ประเมินได้ว่าเราทำผลงานได้ดีหรือแย่กว่าเฉลี่ยอย่างไร จะได้เอามาปรับกลยุทธ์การ
ลงทุนให้เหมาะสม
แต่เดิมผมเองก็วัดผล port แบบง่ายๆเหมือนกัน คือคิดว่าต้นปีเรามีเงินเท่าไหร่ ปลายปีเรามีเงินเท่าไหร่ ก็คิดเป็นผลตอบแทน แต่ผมคิดแบบนี้ได้เพราะผมไม่ได้เติมเงินลงไปใน port มากนัก (จะมีก็แค่ช่วงปีแรกของการลงทุนเท่านั้นเอง) ส่วนเงินที่เอาออกมาก็ไม่ได้มากนักจึงไม่มีผลกับการคำนวณเท่าไหร่
แต่สำหรับคนที่มีเงินลงทุนเพิ่มทุกเดือนหรือทุกปี หรือมีการเอาเงินออกจาก port ก็มีวิธีคิดแบบกองทุน ที่ต้องคำนวณเป็น NAV เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
ตอนนี้ผมเองก็เพิ่งมาทำแบบนี้เหมือนกัน หลังจากเริ่มกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นบ้าง กระจายไปลงในต่างประเทศบ้าง ตอนนี้ก็ยังทำไม่ค่อยคล่องเลยครับ ทุกครั้งที่ทำก็ต้องมีสมาธิ นั่ง recheck ตัวเลขดีๆ
พอวัดผลแล้วก็ต้องเอาไปเทียบกับ Benchmark หรือ อย่างหุ้นไทยเราก็เอาไปเทียบกับ set index หรือ set tri
ตราสารหนี้ ก็ต้องมีตัวเทียบของมัน ผมแทบจะไม่ได้ลงทุนทางนี้ เลยไม่รู้เหมือนกันว่าเค้าเทียบกับอะไร (ใครรู้บอกเป็นวิทยาทานด้วยครับ)
อย่างกองทุนอสังหา กอง reit นี่จริงๆน่าจะมี Index ให้นักลงทุนเทียบนะครับ ว่า index เป็นเท่าไหร่ yield เป็นอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่ามีอยู่แล้วหรือว่าผมหาไม่เจอเอง
เรื่องวัดผลนี่ยังมีอีกมิติคือ เราทำมาเพื่อวัดผลกับดัชนีคือเป็นการเทียบกับคนส่วนใหญ่ แต่เราไม่ควรวัดผลไปเทียบกับรายบุคคล เพราะปกติแล้วไม่ว่าจะลงทุนในภาวะแบบไหน ก็จะมีคนที่ทำผลงานได้ดีกว่าเรามากๆเสมอ การเอา port เราไปวัดกับคนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเรามากๆ พาลแต่จะทำให้เราเป็นทุกข์ ว่าทำไมเค้าได้เยอะกว่าเรา ซึ่งอาจจะทำให้เราไขว้เขวกับแผนการลงทุนของเราได้
ความรู้เหล่านี้อาจจะดูเหมือนยากในช่วงแรกๆ แต่ผมมั่นใจว่ามันไม่ได้ยากกว่าวิชาที่เราเรียนกันในมหาลัยหรอก หรือแม้แต่ตรีโกณมิติ sin cos tan ที่เรียนตั้งแต่มัธยมผมว่ายังจะยากกว่า แต่เมื่อเราทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วผมว่ามันคุ้มค่ามาก เพราะเราเอามันไปใช้ได้แทบทั้งชีวิต
แหล่งความรู้ที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้มีอยู่หลายทาง คนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีอยู่เยอะมาก แต่ผมแนะนำให้ไปศึกษากันต่อที่ www.a-academy.net/start-here/
เวป a-academy นั้นคนสร้างชื่อเอครับ เอเป็นคนที่ย่อยเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ เวลาว่างๆผมก็ชอบเข้าไปดู video ของเออยู่เป็นประจำ เนื้อหาในเวปน่าจะครอบคลุมเรื่องสำคัญที่นักลงทุนทั่วไปควรจะรู้ได้เกือบจะทุกเรื่อง
ผมว่าความรู้เรื่องการบริหารเงินลงทุนในภาพกว้างเอมีความสามารถเหนือผมเยอะ โอกาสที่ผมจะศึกษาจนมีความรู้ด้านนี้เหนือเอแล้วเอามาเขียนนั้นเป็นไปได้ยากมาก ผมขอส่งไม้ต่อให้เอ สำหรับคนที่ลงทุนมานานแล้วยังแพ้ตลาด คนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนใหม่ๆ หรือคนที่ยังไม่เคยลงทุนแต่สนใจให้ไปอ่านจากเวปของเอนะครับ มีวิดีโอมีบทความดีๆเยอะมาก ดูกันให้ตาแฉะไปเลยครับ ต้องขอบคุณเอมา ณ ที่นี้ด้วยครับที่แบ่งบันเวลามาให้ความรู้คนจำนวนมาก
จากนี้ไปผมจะได้เอาเวลามาเขียนเรื่องหุ้นซึ่งเป็นแนวทางที่ผมถนัดเป็นหลักน่าจะดีกว่า