ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้จากการอ่าน เวลาสนใจเรื่องอะไร สิ่งแรกที่จะนึกถึงก่อนเลย คือมันมีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆอยู่รึเปล่า
การเป็นคนรักการอ่านนั้นมีข้อดีอยู่มาก ที่ผมมีทุกวันนี้ได้เหตุผลหลักหนึ่งก็คือการอ่าน สมัยที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ ผมอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเกือบทุกเล่มที่มีขาย ช่วงนั้นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนยังออกมาไม่เยอะมาก ที่มีเป็นที่รู้จักก็ ตีแตก คัมภีร์หุ้น หนังสืออ่านงบการเงินของ อ.ภาพร แล้วก็หนังสือแปลของพี่เวปพรชัย
พออ่านจนหมด ก็ไปหาหนังสือมือสองที่หาซื้อไม่ได้ตามแผงแล้วที่สวนจตุจักร ตอนนั้นไปได้ one up on wall street ฉบับแปลเมื่อหลายสิบปีก่อน อ่านไปก็ตื่นเต้นไป เพราะเป็นหนังสือหุ้นที่อ่านสนุกและได้ความรู้มาก ได้หนังสือ Warren buffett way ฉบับแปล edition แรก ก็อ่านไปก็ยิ่งอินกับการลงทุนแนว VI
ทุกวันนี้หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาเยอะมาก
ทั้งคนไทยเขียน และหนังสือแปลจากต่างประเทศ ผมเองก็ไม่ได้ตามซื้ออ่านทุกเล่มเหมือนแต่ก่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะผมรู้สึกว่า หนังสือหุ้นยุคนี้คุณภาพมันต่ำลงเรื่อยๆ
ตอนที่การลงทุนไม่เป็นที่นิยมมากนัก คนไทยที่เขียนหนังสือเอง เขียนออกมาเพราะมีของ มีความรู้ดีๆที่กลั่นมาจากประสบการณ์ คุณภาพหนังสือก็เลยสูง รวมถึงหนังสือแปล ผู้แปลก็คัดมาเฉพาะหนังสือระดับตำนานที่มีเนื้อหาเข้มข้น แบบว่าไม่อ่านไม่ได้แล้ว
ช่วงหลังๆนี้หนังสือบางเล่ม (ต้องเน้นว่าบางเล่ม เพราะยังมีหนังสือดีๆอยู่บ้าง แม้จะหายากขึ้น) หนังสือลงทุนถูกเขียนออกมาเพราะรู้ว่าขายได้ ไม่ได้เขียนออกมาเพราะมีของ เนื้อหาไม่ได้มีอะไรมาก ตัวหนังสือใหญ่ๆ รูปเยอะๆ เว้นหลังเว้นหน้าแบบว่า จะกว้างไปไหน
เกริ่นมายาว กลับมาที่ใจความของบทความอีกที ถึงต้นทุนของหนังสือ
ที่จริงแล้ว หนังสือถือว่ามีต้นทุนแฝงอยู่สูงมากที่คนหลายคนอาจจะคิดไม่ถึง
ต้นทุนอย่างแรก คือ “ราคาหนังสือ” อันนี้ก็ตรงไปตรงมา ราคายิ่งสูงต้นทุนตรงนี้ก็สูง แต่หนังสือส่วนใหญ่ราคาก็ไม่ได้แพงมาก เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่กินกาแฟแก้วละร้อยได้ กินข้าวนอกบ้านมือละ 500 อยู่เรื่อยๆ ต้นทุนราคาหนังสือถือว่าไม่ได้สูงอะไรเลย (ต้องยกไว้ให้สำหรับคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลำพังปะทังชีวิตก็ยากแล้ว ต้นทุนราคาหนังสืออาจจะถือว่าสูงมาก)
ต้นทุนอย่างที่ 2 คือ “ต้นทุนเวลา” ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสอย่างหนึ่ง หนังสือแต่ละเล่มกว่าจะอ่านจบ อาจจะใช้เวลานั่งอ่านนิ่งๆ 2-3 ชม. หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งเวลาตรงนี้เราสามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ว่าจะเอาไปทำงานหาเงินมาลงทุนเพิ่ม เอาเวลาไปพักผ่อน ออกกำลังกาย ซึ่งมีผลต่อสุขภาพซึ่งมูลค่าอาจจะสูงจนประเมินมูลค่าไม่ได้ หรือเอาไปใช้เวลากับครอบครัว หรือแม้แต่เอาเวลาไปหาความรู้ทางอื่นไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มอื่น ไปพูดคุยกับคนที่มีความรู้ หรือการเข้าสัมมนา ฯลฯ
ผมมองว่าต้นทุนแฝงด้านเวลานี้จริงๆ แล้วเป็นต้นทุนหลักของหนังสือเลยทีเดียว ในยุคที่หนังสือมีออกมาให้อ่านเป็นจำนวนมาก ถ้าเราอ่านเล่มหนึ่งเราก็อาจจะไม่ได้อ่านอีกเล่มหนึ่ง เพราะมีเวลาจำกัด การเลือกหนังสือที่จะอ่านจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหนังสือไม่ได้คุ้มค่าน่าอ่านทุกเล่ม
ต้นทุนอย่างสุดท้าย คือ “ต้นทุนของการเรียนรู้ในเรื่องที่ผิด” ต้นทุนแฝงอันนี้แหละครับที่เราควรจะให้ความสนใจมากที่สุด หนังสือส่วนใหญ่มีเนื้อหาดีๆที่เป็นประโยชน์ เขียนโดยผู้เขียนที่มีประสบการณ์และความรู้ในด้านนั้นๆอย่างดี ต้นทุนด้านนี้ก็จะเป็นศูนย์
แต่ถ้าเราพลาดไปอ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้เขียนที่ไม่ได้มีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ แล้วเราเผลออ่านโดยไม่ได้ตั้งคำถามหรือเราเองก็ไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ เราก็จะพลาดเก็บเอาความรู้ผิดๆไปใช้ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้เราได้มากอย่างประเมินค่าไม่ได้ ต้นทุนแฝงด้านนี้ก็จะสูงมาก
เอาเข้าจริงๆ ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ใช่แค่หนังสืออย่างเดียว แต่น่าจะรวมถึงการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อ่านบทความใน internet (รวมถึงบทความของผมด้วย) แม้แต่การเข้าสัมมนา
ทางออกของผมคือ เราอาจจะต้องเลือกสิ่งที่จะอ่านหรือฟังให้มากขึ้น
- ลองอ่านคร่าวๆก่อนซื้อว่าเนื้อหาตรงกับความต้องการรึเปล่า ผมแนะนำอย่าง app blinkist นี่นำไปช่วยได้เยอะจริงๆ
- อ่านหนังสือที่เพื่อนเราแนะนำ อย่างน้อยก็มีคนช่วยกรองให้
- เวลาจะซื้อ “หนังสือแปล” ผมชอบเอาชื่อหนังสือไป search ดู review ใน amazon ก่อน ต้องได้ซัก 4 ดาวขึ้นไปผมถึงจะซื้อ ยกเว้นกรณีที่หนังสือนั้นมันตรงกับสิ่งที่เรากำลังอยากรู้อยู่พอดี review ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่
- หนังสือที่เขียนแนะนำหรือแปลโดยคนที่รู้จริงๆในด้านนั้นๆ หนังสือพวกนี้พลาดไม่ได้ เล่มไหนที่ดร.นิเวศน์เขียน หรือพี่เวปพรชัยแปล หนังสือที่ warren buffett แนะนำ ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
- เมื่ออ่านอะไรก็ตามอย่าเชื่อ 100% โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หุ้น ซึ่งจากประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือในข้อมูลผมถือว่าต่ำมาก
- ไม่อ่านเพราะเป็นหนังสือขายดี (แต่ก่อนผมชอบซื้อหนังสือขายดีมาอ่าน เพราะคิดว่าขายดีก็น่าจะมีเนื้อหาดีด้วย แต่พออ่านเยอะเข้าๆ ก็พบว่าไม่ใช่เรื่องจริง) โดยเฉพาะหนังสือขายดีสมัยนี้ หลายเล่มผมว่ามีต้นทุนแฝงสูงมาก
คนเราเวลาอ่านหนังสือจบเราจะรู้สึกดีกับตัวเอง คนเขียนหนังสือเค้าจับจุดเราได้ มันเลยเกิดกระแส “เขียนไม่กี่คำทำเงินกว่า” หนังสือแนวนี้เลยขายดี ทั้งๆที่บางทีเนื้อหาไม่ได้มีอะไรเลย ผมเองไม่ได้ต่อต้านอะไรกับหนังสือที่เนื้อหาน้อยๆ ถ้าเนื้อหาที่เขียนมากลั่นมาจากแหล่งความรู้ที่ดี มาจากประสบการณ์ยาวนาน แล้วเขียนให้มันย่อยง่าย เพียงแต่หลังๆมานี้ ตัวหนังสือก็น้อย น้ำก็ยังเยอะ หาเนื้อไม่ค่อยจะได้ แล้วที่ปัญหาใหญ่สุดของหนังสือแนวนี้คือ เน้นเหลือเกินว่าความรวยมันได้มาง่ายๆ ซึ่งผมว่ามันจะสร้าง mindset ที่ผิดๆให้กับผู้อ่าน
เดี๋ยวนี้กูรูเยอะมาก จะรับรู้รับฟังอะไรต้องระวังมากขึ้นครับ โดยเฉพาะกูรูที่สอนให้รวย ตัวกรองอย่างแรกเลย เราต้องดูว่ากูรูคนนั้นรวยมาจากเรื่องที่เค้าสอนจริงรึเปล่า หรือว่ารวยมาจากการขายหนังสือหรือเปิดคอร์สสัมมนา สัมมนาราคาแพงไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป (ส่วนใหญ่จะตรงข้ามกันซะด้วยซ้ำ) คนที่เค้ารวยอยู่แล้วประสบความสำเร็จในเรื่องที่เค้าทำจริงๆ ส่วนใหญ่ผมเห็นว่าไม่ค่อยมีใครจะเก็บเงินหรือเก็บก็แค่เป็นค่าใช้จ่ายการจัดงานเท่านั้น เค้ามาเผยแพร่ความรู้ก็เพราะอยากแบ่งบันเป็นวิทยาทานทั้งนั้น
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันท่วมท้นแบบนี้ เราต้องคัดกรองข้อมูลให้เป็นครับ
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/yoyoinvestingway/posts/929174897164700