Explore-Fault-01

การวิเคราะห์หุ้นรายตัวนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ๆกันอยู่แล้วว่ามีความสำคัญมากแค่ไหนในการลงทุน แต่ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่ลงทุนมานานแล้วยังรู้สึกว่าความสามารถในการลงทุนนั้นไม่ได้มีการพัฒนามากเท่าไหร่นัก เพราะอาจจะลืมวิเคราะห์ตัวเองไป

ในแต่ละปีผมจะพยายามตรวจดูว่าตัวเองมีความผิดพลาดในการลงทุนอย่างไรบ้าง เกิดจากอะไร และจะพยายามแก้ไขอย่างไร… ความผิดพลาดที่ผ่านๆมาของผมที่มักจะเกิดขึ้นจนทำให้ผลตอบแทนนั้นลดลงกว่าที่ควรจะเป็น มีคร่าวๆดังนี้

1. ตัดสินใจเร็วจนเกินไป

หลายๆครั้งเมื่อผมเจอหุ้นบางตัวที่ดูแล้วน่าสนใจมากๆ ผมมักจะรีบซื้ออย่างรวดเร็ว เพราะกลัวว่าจะมีคนมาไล่ซื้อก่อนทำให้ผมต้องซื้อหุ้นในราคาแพงขึ้น การตัดสินใจเร็วไปทำให้ผมขาดความรอบคอบ ไม่ได้ศึกษาตัวธุรกิจอย่างดีก่อนที่จะลงทุน

2. ลงทุนนอกกรอบความถนัดของตัวเอง

ที่ผ่านมาผมมีหุ้นอยู่ 2 ประเภทที่มักจะสร้างกำไรให้ผมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ได้แก่หุ้นขนาดเล็กเติบโตเร็ว หรือหุ้นที่เป็นงานประมูล นักลงทุนแต่ละคนอาจจะมีความถนัดในหุ้นแต่ละประเภทแตกต่างกันไป การลงทุนในกรอบความถนัดของตัวเองนั้นจะทำให้โอกาสขาดทุนลดลง และโอกาสทำกำไรก็มากขึ้น มีหุ้นอยู่ประเภทหนึ่งที่ผมพยายามจะเข้าไปซื้ออยู่หลายรอบ คือหุ้นที่เรียกว่าเป็น Asset play (หุ้นที่มีสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน เยอะว่ามูลค่าหุ้นทั้งบริษัทอยู่มาก) ตลอชีวิตการลงทุนผมผ่านหุ้นประเภทนี้มา 3 ตัว ได้แก่ charan spsu brock
ตัวแรก charan มีเงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น-หนี้สินทั้งหมดประมาณ 70-80 บาทต่อหุ้น ในขณะที่หุ้นมีราคา 40 กว่าบาทเท่านั้น … ผมก็ซื้อไปถือรอไป 2 ปี แล้วก็ขายหุ้นไปในราคาประมาณ 45 พอๆกับราคาที่ซื้อมา แม้จะไม่ได้ขาดทุนอะไร (ได้เงินปันผลมาปีละประมาณ 2-3 บาท) แต่ถ้าเอาเงินไปลงทุนในกลุ่มที่ถนัดผมจะได้ผลตอบแทนสูงกว่านี้มากๆ

spsu เป็นบริษัทที่ทำการตลาดในกับรถซูซูกิ บริษัทมี บ.ร่วมเป็นโรงงานผลิตมอไซด์ซูซูกิ ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชีสูงว่าเงินลงทุนที่บันทึกไว้มาก ผมลองเอาเงินสด + มูลค่าบริษัทร่วม – หนี้สินทั้งหมด ได้ประมาณ 12-14 บาทต่อหุ้น ตอนนั้นหุ้นราคาประมาณ 7 บาท… ผมซื้อไว้แล้วรอเวลา .. เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจของ spsu ก็แย่ลงเรื่อยๆ ส่วนแบ่งการตลาดถูกคู่แข่งทั้ง Honda และ Yamaha สุดท้ายผมก็ไปขายหุ้นราคาประมาณ 6 บาท เจ็บตัวอีกแล้ว

brock อันนี้เพิ่งซื้อมาเมื่อต้นปีที่แล้ว… ผมมองมูลค่าที่ดินที่ภูเก็ตของบริษัทซึ่งมีอยู่สูงมาก จากการสอบถามคนรู้จักที่เชี่ยวชาญเรื่องที่ดินที่ภูเก็ตหลายท่าน ผมตีมูลค่าที่ดินของ brock (เฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น .. จริงๆ บริษัทยังมีที่ดินที่อื่นอีกมาก) ได้ประมาณ 3-4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทนั้นมีเงินสดมากกว่าหนี้สินทั้งหมดของบริษัทซะอีก และบริษัทนั้นซื้อขายกันที่ราคาทั้งบริษัทประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง … ผมก็ซื้อไว้ประมาณ 1 บาทกว่าๆ ต่อหุ้น… แล้วก็ถืออยู่เกือบปีแล้วก็ขายไปที่ประมาณ 1 บาทกว่าๆต่อหุ้นเช่นกัน

หุ้น Asset Play ไม่ได้มีอะไรผิดครับ มันไม่ใช่ว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ไม่ดี หลายๆบริษัทที่เข้าข่าย Asset play ก็จัดว่าเป็นบริษัทที่ดีที่กำลังรอเวลาจะดีขึ้นมากๆในอนาคต เพียงแต่ผมไม่มีความสามารถพอที่จะคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไหร่ สินทรัพย์มหาศาลที่บริษัทเก็บไว้อยู่ จะแสดงมูลค่าของมันออกมาให้เห็นได้ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้

3. หุ้นที่ผมขาดทุน ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่ผมไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร

เพราะการเพียงนั่งอ่านข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทได้พอสมควร แต่ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของผู้บริหาร หรือข้อมูลเชิงลึกหลายๆ อย่างเกี่ยวกับธุรกิจและบริษัทนั้น จะหาได้ยากมากถ้าไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร ที่ผ่านมาผมก็ไม่ค่อยจะเข็ดเท่าไหร่.. เพราะผิดข้อนี้ซ้ำๆ อยู่หลายรอบ เนื่องจากหุ้นบางตัวเราหาโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารได้ยาก (จะมีก็เฉพาะงานประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น) หลายครั้งผมอ่านข้อมูลหุ้น หรือข่าวบางชิ้นก็ทำให้อยากซื้อหุ้นทันที เพราะรู้สึกว่ากว่าจะรอให้ประชุมผู้ถือหุ้นก็คงไม่ทันการณ์ แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจ็บตัวเพราะหุ้นพวกนี้เป็นประจำ… ตอนนี้ผมเลยพยายามตั้งกฏขึ้นมาให้ตัวเองว่า “การลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ (เช่นเกิน 10% ของเงินลงทุน) ผมจะต้องได้คุยกับผู้บริหารก่อนเสมอ”

ยิ่งเราพบจุดอ่อนตัวเองและหาทางแก้ไขจุดอ่อนของเรามากเท่าไหร่ เราก็จะมีฝีมือในการลงทุนที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน…. การปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอนั้นสำคัญไม่เฉพาะเรื่องของการลงทุนเท่านั้นนะครับ ลองประยุกต์เอาไปใช้กับเรื่องนิสัยส่วนตัว การทำงาน หรือครอบครัว และจะรู้ว่าชีวิตคนเรานั้นสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา และเราก็พร้อมที่จะเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพทั้งในแง่การเงินและการใช้ชีวิตครับ 🙂

ที่มาบทความ : http://thai-value-investor.blogspot.com/2008/02/blog-post.html