รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

ร้อนแรงพอสมควรกับกองทุนตระกูล ARK ที่วินาทีนี้หลาย ๆ คนน่าจะกำลังสนใจกัน หนึ่งในนั้นคือกองทุน ARKG ซึ่งลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านจีโนม (Genomics) โดยมีกองทุนไทยอย่าง TGENOME ไปลงทุนอีกที ล่าสุดก็เพิ่งผ่านช่วง IPO ไปสด ๆ ร้อน ๆ มีนักลงทุนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม วันนี้เลยอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับกองทุน TGENOME และ ARKG สักหน่อย

แต่ก่อนที่จะไปดูเนื้อหาเกี่ยวกับกองทุน เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งที่กองทุนจะไปลงทุนเสียก่อน

เอาล่ะ… มาทวนพื้นฐานชีววิทยาไปพร้อม ๆ กันเลย

หมายเหตุ: ออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา ข้อมูลในบทความเป็นเพียงการสรุปรวบรวมจากเนื้อหาหลาย ๆ แห่ง หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ และสามารถทักมาแจ้งกันได้นะ

สารบัญ

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

จีโนม (GENOME) คืออะไร?

ขอแปะรูปอธิบายลักษณะของเซลล์สักหน่อย เพื่อจะได้เข้าใจกันง่ายขึ้นนะรีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

Source: MayoClinic

เริ่มต้นเล่าแบบนี้ก่อนดีกว่า คำว่า GENOME เนี่ย เป็นส่วนผสมระหว่าง GENE + CHROMOSOME

…อืม เหมือนจะง่าย แต่เอ๊ะ แล้ว GENE กับ CHROMOSOME คืออะไร? หลายคนอาจจะไม่รู้ หรือเคยรู้แต่คืนครูไปหมดแล้ว มา…เดี๋ยวเราจะทบทวนให้ฟังกันสั้น ๆ อ่านแล้วดูรูปประกอบข้างบนไปพร้อม ๆ กันได้นะ

ใน DNA ของเราเนี่ย จะมีข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ว่าง่าย ๆ คือ กำหนดว่าเราจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จนไปถึงขั้นว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นโรคอะไร

ยีน (Genes) หรือพันธุกรรม คือชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของ DNA ที่จะเป็นตัวระบุลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เช่น ยีนที่เป็นสีของดวงตา ยีนสีผม ยีนสีผิว ฯลฯ ก็ว่ากันไป

โครโมโซม (Chromosomes) สร้างมาจาก DNA ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเกลียวบาง ๆ ไขว้ ๆๆๆ กัน ซึ่งในร่างกายมนุษย์นั้น โครโมโซมจะอยู่ในนิวเคลียส (Nucleus) ของเซลล์ ตัวนิวเคลียสเนี่ยเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ของเซลล์ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของเซลล์ก็ว่าได้ เพราะรวบรวมข้อมูลสำคัญ ๆ ด้านพันธุกรรมอยู่ในนี้หมด และยังมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ด้วย

เมื่อจับรวมยีนกับโครโมโซมเข้าด้วยกัน ก็จะกลายเป็นจีโนม (Genome) ซึ่งก็คือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดในโครโมโซม 1 ชุดของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง (มนุษย์เรามี 46 โครโมโซม ที่จับคู่กันเป็น 23 คู่)

จีโนมจำเป็นต่อการสร้างและดำรงชีวิตอย่างปกติ ถ้าให้เปรียบง่าย ๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต เลยละ การทำความเข้าใจจีโนมของมนุษย์อย่างถ่องแท้ลึกซึ้งนั้น จะช่วยให้เราสามารถหายีนที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการรักษาโรคทางพันธุกรรม รวมถึงการย้อนรอยพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันได้ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เคยมีการทดลองหายีนก่อโรคพวกนี้มาแล้วผ่านการตรวจสอบจีโนมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบ DNA ของครอบครัวที่มีคนเป็นโรคมะเร็งเต้านมจากพันธุกรรม โดยเปรียบเทียบ DNA ของคนที่ไม่ได้เป็น และคนที่เป็น เพื่อดูว่าความแตกต่างของ DNA ซึ่งในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถระบุยีนที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ นั่นก็คือยีน BRCA1 และ BRCA2

…ทีนี้อาจจะพอเห็นภาพกันแล้ว เมื่อเรารู้ว่ายีนประเภทไหนอาจก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง หากเราสามารถตรวจยีนของเราได้ และค้นหาได้ทันการณ์ก่อนที่ยีนพวกนั้นจะกลายพันธุ์กลายเป็นมะเร็ง เราก็จะได้หาทางรักษาหรือแก้ไขได้นั่นเอง

แล้วความก้าวหน้าด้านจีโนม จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไรบ้าง?

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

จะดีแค่ไหน ถ้าเราไม่ต้องใช้เคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง?

แล้วถ้าเรารู้ได้ล่วงหน้าว่าเราเสี่ยงจะเป็นโรคอะไรในอนาคต?

หากลูกเกิดมาตาบอด สามารถรักษาให้มองเห็นเหมือนคนทั่วไปได้?

ฟังดูเหลือเชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้!

แค่เข้าใจจีโนมมนุษย์ ก็เกิดประโยชน์ระดับหนึ่งแล้ว ดังที่เขียนไว้ข้างต้น ทีนี้ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนายิ่งใหญ่ในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับจีโนมล่ะ? แน่นอนว่าเราแทบจะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมาเป็นอีกเลเวลหนึ่งเลยทีเดียว ลองมาดูตัวอย่างกันว่าความก้าวหน้าด้านจีโนม จะช่วยให้เกิดกลวิธีทางวิทยาศาสตร์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นบ้าง แล้วจะส่งผลกับเราอย่างไร?

การหาลำดับเบสดีเอ็นเอ (DNA Sequencing)

DNA Sequencing คือการตรวจการเรียงลำดับของสารเคมี (เบส) ที่ก่อร่างเป็น DNA ขึ้นมา วิธีนี้จะช่วยให้สามารถตรวจกรองการกลายพันธุ์ (Mutation) ของ DNA ได้ ล่าสุดมีการพัฒนาขึ้นใหม่เป็น Next Generation Gene Sequencing (NGS) ซึ่งทำให้การตรวจหานั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ว่าง่าย ๆ คือ วิธีการนี้จะช่วยให้เราสามารถตรวจได้ล่วงหน้าเลยว่า เรามีโอกาสเป็นมะเร็งตรงไหน กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้ทำการป้องกันได้ทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

นอกจากนั้น ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ยังใช้วิธีการนี้ในการสร้างวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธี Sequencing นี้ศึกษาตัวไวรัส ทำให้รู้จัก Spike Protein ซึ่งอยู่ในไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 นำมาซึ่งการสร้างวัคซีน mRNA ซึ่งจะสั่งการให้ร่างกายเราสร้าง Spike Protein ขึ้นมาเอง (โดยไม่ต้องเจอไวรัสโควิด-19 จริง ๆ) เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเจอโปรตีนนี้ ก็จะหาทางกำจัดและสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนชนิดนี้ ทำให้เมื่อร่างกายเจอไวรัสจริง ๆ ก็จะสามารถรับมือได้

ต้นทุนของ Sequencing นั้นได้ลดฮวบจากตัวเลข 9 หลัก เหลือเพียงไม่กี่ร้อยดอลล่าร์เท่านั้น และมีการคาดการณ์ว่าทางคลินิกจะทำ NGS มากขึ้นในอนาคต โดยจำนวนอาจสูงกว่า 100 ล้านจีโนมเลยทีเดียวในปี 2024

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

คาดการณ์จำนวนจีโนมที่ผ่านการทำ Sequencing
ที่มา: TISCO, ARK Investment Management LLC

การตัดแต่งจีโนม (Genome Editing)

เมื่อกี้เราพูดถึงการทำ Sequencing ไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเรียงลำดับของ DNA และระบุได้ว่ามีตรงไหนที่ส่งผลอะไรบ้าง ทีนี้แหละ Genome Editing หรือการปรับแต่งจีโนมก็จะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยปรับแต่ง DNA ให้เป็นไปตามที่ต้องการ นี่เป็นเทคนิคที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขยีนเป้าหมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตำแหน่งอย่างแม่นยำ

โดย Genome Editing นี่ทำได้หลายวิธี แต่ที่ได้รับความนิยมสุดคือ CRISPR/Cas9 เพราะทำได้รวดเร็ว ราคาถูก แม่นยำ มีประสิทธิภาพกว่าวิธีอื่น ๆ ถ้าให้เปรียบเทียบ CRISPR/Cas9 เหมือน Microsoft Word ที่เปลี่ยนแปลงยีนได้ เหมือนเปลี่ยนแปลงเอกสาร โดยผู้ที่คิดค้นวิธีนี้ก็คือ 2 นักวิทยาศาสตร์หญิงจากฝรั่งเศส-สหรัฐอเมริกา ได้แก่ Emmanuelle Charpentier และ Jennifer A. Doudna ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2020 จากผลงาน CRISPR/Cas9 ดังกล่าวด้วย

CRISPR/Cas9 ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายาใหม่ ๆ การเกษตร การวินิจฉัยโรค ฯลฯ ในทางการแพทย์นั้นตัว CRISPR/Cas9 จะถูกนำมาใช้ในการรักษาโรค ส่วนในแง่การเกษตร ก็จะเป็นการปรับแก้ตกแต่งพืชพรรณให้มีคุณสมบัติตามต้องการ ซึ่งต้องบอกก่อนว่า CRISPR/Cas9 นั้นไม่เหมือนกับ GMO นะ เพราะ GMO จะเป็นการนำ DNA ต่างสปีชีส์เข้ามาใส่ ในขณะที่ CRISPR/Cas9 นั้นสามารถทำได้แค่สิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันเท่านั้น

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

ขั้นตอนของการทำ CRISPR/Cas9
ที่มา: TISCO, GAO

การรักษาด้วยชีววิทยาของร่างกาย (Living Therapies)

Living Therapies คือวิธีการรักษาที่ใช้ประโยชน์จากกระบวนการทางชีววิทยาของร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของเรา ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะวิธีการต่อต้านมะเร็ง แต่ตอนนี้สามารถนำไปรักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย

ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก เราก็มีตัวอย่างให้เห็น ชนิดที่เราน่าจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้าง ก็อย่างเช่น

  • สเต็มเซลล์ (Stem Cells) หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หลัก ๆ จะอยู่ในไขกระดูกของเรา คุณสมบัติหลักของมันคือมันสามารถแบ่งตัวได้ไม่จำกัด สามารถแบ่งตัวเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเดิมได้ และสามารถแบ่งตัวเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งทางการแพทย์นั้นสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดนี้ไปทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพแล้ว หรือนำไปรักษาโรคก็ได้
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune Cell Therapy) เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย สามารถนำไปต่อต้านหรือรักษาโรคมะเร็งได้
  • การรักษาแบบเฉพาะจุด (Targeted Therapeutics) คือการใช้ยาหรือสารเพื่อไปจัดการแบบตรงจุดที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้เคมีบำบัด

ตัวอย่างที่น่าสนใจของ Living Therapies ก็เช่น การใช้ CAR T Cells ในการกำจัดมะเร็ง โดยสร้าง CAR T Cells ในห้องทดลอง แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เพื่อให้มันเข้าไปกำจัดมะเร็ง จากนั้นก็ค่อยเจาะลึกดูดมันออกมาเพื่อใช้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดของการรักษาด้วย CAR T-Cell จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก หากใช้กับมะเร็งระยะเริ่มต้นได้ แม้ว่าต้นทุนจะแพง แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธีอื่น ๆ

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

เปรียบเทียบต้นทุนและประโยชน์ของการรักษามะเร็งทั่วไป กับการใช้ Living Therapies
Source: TISCO, ARK Investment Management LLC

ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics)

Bioinformatics (ชีวสารสนเทศศาสตร์) คือการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้กับข้อมูลทางด้านชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ คำนวณ และประเมินผลข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาล ลองคิดภาพว่าถ้าหากเราไม่มีการจัดระบบข้อมูลทางด้านพันธุกรรมเลย ก็จะเป็นการยากมากที่จะสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ วิจัยเกี่ยวกับความซับซ้อนของพันธุกรรมมนุษย์ได้ (แค่ในตัวมนุษย์คนเดียวก็มีลำดับเบสของ DNA อยู่ 3,000 ล้านคู่เบสแล้ว) ซึ่งการมี Bioinformatics ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายตำแหน่งของสารพันธุกรรมว่าตำแหน่งไหนมีหน้าที่อะไร หรือหาความแตกต่างระหว่างพันธุกรรมได้

นอกจากในแง่ของการถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว Bioinformatics ยังสามารถใช้คาดการณ์ผลการทดลองก่อนที่จะเริ่มทำจริง เพื่อให้ประหยัดเวลาในการวิจัยอีกด้วย กล่าวคือมีข้อมูลอยู่แล้ว ก็เริ่มทดลองทำแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลดิจิทัลก่อน จากนั้นพอได้ผลลัพธ์จึงค่อยไปพิสูจน์ในห้องทดลองจริง ไม่อย่างนั้นการทดลองก็จะไม่ต่างจากการเหวี่ยงแหไปเรื่อย ๆ ใช้เวลานานและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

คาดการณ์ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดโรคเหล่านี้ จะมีมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2024!
ที่มา: TISCO, ARK Invest

หลังจากที่ทำความรู้จักเรื่องความก้าวหน้าทางจีโนมกันไประดับหนึ่งแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มเชื่อแล้วละว่านี่คือการแพทย์แห่งอนาคตที่มีแนวโน้มมาแรงมาก ๆ ทีนี้เรามาทำความรู้จักกองทุน TGENOME กับ ARKG ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กันเลยดีกว่า

รายละเอียดกองทุน TGENOME

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

TGENOME หรือกองทุนเปิด ทิสโก้ Genomic Revolution เป็นกองทุนที่จะไปลงทุนในกองทุน ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) ซึ่งเป็นอีทีเอฟที่บริหารแบบเชิงรุก (Active) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Cboe ประเทศสหรัฐอเมริกา

ย้ำอีกครั้งว่าแม้จะเป็น ETF แต่ก็บริหารเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับแบบ ETF โดยส่วนใหญ่ ซึ่งการบริหารแบบเชิงรุกนั้นทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถคัดเลือกหุ้นที่สนใจได้อย่างมีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องอิงกับดัชนี 100%

เอาล่ะ เมื่อกองทุนหลักคือ ARKG เราจึงควรไปเจาะกองทุนนี้กันสักหน่อย

ข้อมูลพื้นฐานของ ARKG

  • เป็นกองทุน ETF บริหารเชิงรุก ที่มุ่งหวังการเติบโตในระยะยาว
  • ในสถานการณ์ทั่วไป กองทุนจะลงทุนอย่างน้อย 80% ในบริษัททั่วโลกที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับธีมการปฏิวัติทางจีโนม (Genomic Revolution)
  • กองทุนจะลงทุนกระจุกตัวในภาคส่วน Health Care รวมถึงธุรกิจที่ข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

จุดเด่นของ ARKG

  1. เข้าถึงนวัตกรรม: กองทุนมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจหลายขนาดที่มีธีมด้านนวัตกรรมด้าน Genomics อย่างเช่นยีนบำบัด ชีวสารสนเทศ การคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางชีววิทยา เวชศาสตร์ระดับโมเลกุล และนวัตกรรมด้านเภสัชศาสตร์ เรียกได้ว่าใครอิน ๆ กับ Genomics ลงกองนี้กองเดียวก็น่าจะพอใจกับประเภทนวัตกรรมที่ครอบคลุม
  2. มีแนวโน้มการเติบโต: มุ่งหวังการเติบโตระยะยาว ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่ากลยุทธ์การเติบโตทั่ว ๆ ไป และสวนทางกับกลยุทธ์ที่เน้นมูลค่า (Value Strategies)
  3. กระจายความเสี่ยง: เพราะกองทุนเป็น Active ETF จึงไม่ได้ถือหุ้นที่ทับซ้อนกับดัชนีทั่ว ๆ ไปเท่าไรนัก หากถือกองนี้ร่วมกับกองอื่น ๆ ที่เป็นหุ้นตามดัชนีทั่วไป ก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี
  4. วิจัยมาอย่างละเอียด: มีการทำวิจัยทั้งแบบ Top-Down และ Bottom-Up เพื่อค้นหาธุรกิจที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมได้

ขั้นตอนการเลือกหุ้นของ ARKG 

  1. Ideation: เป็นการค้นหานวัตกรรมที่จะมา Disrupt ของเดิม ผ่าน ARK Open Research System ซึ่งไม่ได้พึ่งพิงแค่ข้อมูลทางการเงินทั่วไป แต่ยังมีการควบรวมข้อมูลจาก Social Media และ Crowdsourcing ด้วย สมกับเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการหาข้อมูล
  2. Sizing The Opportunity: ประเมินว่าโอกาสนั้น ๆ โตได้ขนาดไหน ผ่านการดูว่ามีความสามารถในการลดต้นทุนไหม หรือมีโอกาส Disrupt ธุรกิจเก่า ๆ ขนาดไหน
  3. Stock Selection & Valuation: คัดเลือกบริษัทดาวเด่น แต่ก็ไม่ลืมที่จะดู Valuation ด้วยว่าถูกแพงแค่ไหน
  4. Portfolio & Risk Management: ปรับกลยุทธ์ตามสภาพตลาด หาจังหวะในช่วงตลาดผันผวน ติดตามพอร์ตอย่างใกล้ชิดและจัดตั้งการประชุม

ARKG ลงทุนในอะไรบ้าง?

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

หุ้น 10 อับดับแรกที่ ARKG ลงทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค. 2021
ที่มา:
https://ark-funds.com/arkg

ขอแนะนำบริษัท 10 อันดับแรกให้รู้จักกันแบบคร่าว ๆ ว่าทำอะไรกันบ้าง

1) Pacific Biosciences of California (6.57%): อีกหนึ่งบริษัทจาก Silicon Valley โดย Pacific Biosciences of California เป็นบริษัทด้าน Biotech ของอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2004 โดดเด่นด้านการพัฒนาและคิดค้นระบบสำหรับการทำ DNA Sequencing โดยรายได้ของบริษัทมาจากเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการทำ DNA Sequencing

2) Teladoc Health (6.40%): บริษัทด้านโทรเวชกรรม ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการพบแพทย์และขอคำปรึกษาด้านสุขภาพ ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ได้แบบ Real-Time ซึ่ง Teladoc ก็ให้บริการกันแบบ 24 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว

3) Twist Bioscience (6.18%): บริษัทด้าน Bioinformatics ที่ไว้เก็บข้อมูลการสังเคราะห์ DNA (Synthetic DNA) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม เช่น เคมี อาหาร การแพทย์ การเก็บข้อมูล ฯลฯ

4) CRISPR Therapeutics AG (4.95%): ผู้นำด้านการตัดต่อพันธุกรรม (Gene Editing) ก่อตั้งในปี 2013 โดยผู้ร่วมก่อตั้งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ Dr. Emmanuelle Charpentier นักจุลชีววิทยาหญิงผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2020 จากเทคโนโลยี CRISPR เพื่อการตัดต่อพันธุกรรมนั่นเอง

5) CareDx (4.05%): บริษัทที่นำเทคโนโลยีมาช่วยคิดค้นพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ไล่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ อย่างกับจับคู่พันธุกรรมที่เข้ากับเราที่สุด ไปจนถึงขั้นตอนการดูแลหลังการปลูกถ่าย ปัจจุบัน CareDx ถือได้ว่าเป็นพาร์ตเนอร์หลักของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะทั่วสหรัฐฯ เลย

6) Regeneron Pharmaceuticals (3.75%): บริษัท Biotech ที่คิดค้นยารักษาหลาย ๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคติดต่อ โรคภูมิแพ้ ฯลฯ โดยบริษัทนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1988 ก็เป็นเวลากว่า 30 ปี มาแล้ว

7) Fate Therapeutics (3.73%): เป็นบริษัท Biopharma ที่เน้นการพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

8) EXACT Sciences Corporation (3.50%): บริษัทที่โดดเด่นด้านการวินิจฉัยโมเลกุล มีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบค้นพบมะเร็งได้ไว

9) Iovance Biotherapeutics (3.40%): บริษัทที่เน้นการพัฒนาและให้บริการการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

10) Roche Holding AG (3.17%): บริษัทด้านยาและเวชภัณฑ์จากสวิตเซอร์แลนด์ ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก Pfizer และ Novatis หลัก ๆ จะแบ่งเป็น 2 ธุรกิจคือยากับการตรวจวินิจฉัย

ทาง FINNOMENA Investment Team ได้รวบรวมข้อมูลรายได้และกำไรของบริษัท 5 อันดับแรกไว้ใน Appendix ได้เลย

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ ARKG

เนื่องจาก TGENOME เป็นกองทุนเปิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลผลการดำเนินงานย้อนหลัง แต่เราสามารถไปดูข้อมูลผลการดำเนินงานจาก ARKG ได้

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด
ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2020
ที่มา: https://ark-funds.com/arkg

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าโดดเด่นเลยทีเดียว โดยเฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ขึ้นมากว่า 122% เอาชนะดัชนีเปรียบเทียบอื่น ๆ ได้อย่างขาดลอย  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาช่วงเวลาต่าง ๆ ก็จะพบว่าผลตอบแทนของ ARKG สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบอื่น ๆ อย่างมีนัยเช่นกัน สมกับการเป็น Active ETF

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

การเติบโตของเงิน $10,000 หากลงทุนใน ARKG ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2020
ที่มา: https://ark-funds.com/arkg

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

เพื่อให้เห็นภาพกันอีกนิด ลองมาดูกราฟนี้ที่จำลองว่าหากเราลงทุนใน ARKG ด้วยเงิน $10,000 (ประมาณ 300,000 บาท) ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ซึ่งก็คือตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2014 ผ่านมาเป็นเวลา 6 ปี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2020 เงินลงทุนจะโตขึ้นจนเกือบแตะระดับ $35,000 (ประมาณ 1,050,000 บาท) เลยทีเดียว

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

การเคลื่อนไหวของ NAV ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค. 2021
ที่มา: https://ark-funds.com/arkg

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

การเคลื่อนไหวของ NAV หนึ่งปีที่ผ่านมา
ข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค. 2021
ที่มา: https://ark-funds.com/arkg

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ความเสี่ยงของกองทุน TGENOME

เห็นว่าทุกอย่างดูดีแสนดีไปหมด แต่ช้าก่อน! ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง การลงทุนใน TGENOME และธีม Genomics ก็เช่นกัน

  • ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากกองทุนลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ซึ่งจะป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดย TGENOME ปัจจุบันป้องกันความเสี่ยงอยู่ที่ 90% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2020)
  • ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม เพราะกองทุนเน้นลงทุนในธีม Genomics Revolution ที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare จึงอาจจะเจอความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ได้กระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ หากใครกลัวความเสี่ยง อาจจะต้องใช้วิธี Asset Allocation กระจายเงินลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย (แต่ถ้าใครสายซิ่ง จะลงกองนี้เน้น ๆ ก็ไม่ว่ากัน)
  • ความเสี่ยงด้านประเภทของบริษัท เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทในอุตสาหกรรมนี้จะเป็นแนว Research & Development (เน้นวิจัยและพัฒนา) บริษัทกลุ่มนี้จึงไม่มีกำไร หรือถ้ามีก็ต่ำ (ดูได้จาก Appendix ที่หลาย ๆ บริษัทยังขาดทุน) แต่หากสามารถผ่าน อย. ได้ จะได้สิทธิบัตรมา ซึ่งทำให้มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ และผูกขาดในสิทธิบัตรยา หรือ การรักษานั้น ๆ ต่อจากนั้นเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งเราก็ต้องมาลุ้นกันว่าสิ่งที่บริษัทพัฒนามานานแสนนานนั้นจะได้รับการจดสิทธิบัตรหรือไม่ จะมีการใช้อย่างแพร่หลายจริง ๆ หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่แท้จริง

สรุปความน่าสนใจของการลงทุนในธีม Genomics

กองทุน ARKG ซึ่งเราสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุน TGENOME นั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่สนใจอยากเกาะกระแสเทรนด์การรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านจีโนมมาช่วยยกระดับ แม้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี จึงมีโอกาสที่ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาจะมีแนวโน้มถูกลง ในขณะที่การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เทคโนโลยีนี้อาจจะถูกนำไปใช้ต่อยอด ใช้ประโยชน์ได้ในอีกหลายอุตสาหกรรม (ไม่ใช่แค่ Healthcare) เท่านั้น จึงมีโอกาสที่บริษัทธีม Genomics จะเติบโตสูงในอนาคต และเป็นโอกาสการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจ (ย้ำว่า “ระยะยาว”)

ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน จึงอยากขอย้ำให้ทุกคนศึกษารายละเอียดสิ่งที่จะไปลงทุนให้ดี ๆ ก่อนนะ

ข้อมูลอื่น ๆ ของกองทุน TGENOME

มูลค่าขั้นต่ำการซื้อ = 1,000 บาท
ค่าธรรมเนียมขาเข้า = สูงสุดไม่เกิน 2.5% เก็บจริง 1%
ค่าธรรมเนียมขาออก = สูงสุดไม่เกิน 2.5% เก็บจริง 0.15%
ค่าธรรมเนียมการจัดการ = 1.07% ต่อปี
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด = 1.43719% ต่อปี

Appendix: รายได้ และกำไรต่อหุ้น ของบริษัท 5 อันดับแรก พร้อมคาดการณ์ 2 ไตรมาสหน้า (ข้อมูลจาก Bloomberg)

Pacific Bioscience

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

Teladoc

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

Twist Bioscience

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

CRISPR

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

CAREDX

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

รีวิวกองทุน TGENOME และ ARKG: เมื่อสุขภาพและเทคโนโลยีถึงคราวมาบรรจบกัน

เพื่อนผู้ใจดี

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

ข้อมูลอ้างอิง
https://ark-funds.com/arkg
https://www.scimath.org/lesson-biology/item/8801-2018-09-21-02-13-37
https://www.bbc.co.uk/
https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z9rqcj6/revision/1
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/mrna.html
https://www.dirt-to-dinner.com/what-is-the-difference-between-gmo-and-crispr/
https://www.bbc.com/thai/thailand-45720570
https://www.pacb.com/
https://www.teladochealth.com/
https://www.twistbioscience.com/
https://med.mahidol.ac.th/
https://pharmacy.mahidol.ac.th/
https://www.bumrungrad.com/
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/august-2013/cancer-targeted-therapy


คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน |  กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวด Genomics  ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย |  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”