อีกหนึ่งกองทุนที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ และมีธีมการลงทุนที่เข้ากระแสเทคโนโลยียุคใหม่ ก็คือกองทุน PRINCIPAL GHEALTH-A หรือ กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล เฮลธ์ อินโนเวชั่น ชนิดสะสมมูลค่า จาก บลจ. พรินซิเพิล เราลองมาดูกันว่ากองนี้มีจุดเด่นอย่างไร
สารบัญ
- การบรรจบกันของเทคโนโลยีและการแพทย์
- ทำความรู้จัก Value Chain ของอุตสาหกรรม Health Care แบบต้นน้ำยันปลายน้ำ
- ลงทุนในนวัตกรรมด้านสุขภาพ ผ่านกองทุน PRINCIPAL GHEALTH-A
การบรรจบกันของเทคโนโลยีและการแพทย์
เทคโนโลยีแพร่กระจายไปทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรม Health Care ซึ่งการที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนมากขึ้น ก็ช่วยเป็นแรงหนุนต่อ Health Care ในหลายส่วน เหมือนที่เราเคยเล่าถึงในรีวิวกองทุน TGENOME ไปแล้ว
ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ อีกรอบหนึ่ง ข้อดีหลัก ๆ เป็นดังนี้
สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan
1. มีข้อมูลในการตัดสินใจ
ประโยชน์จาก Big Data และประสิทธิภาพในการเก็บ ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ก็ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บมามีประโยชน์มากขึ้น การมีข้อมูลที่มากพอนั้นสามารถช่วยให้นักวิจัยไม่ต้องลองผิดลองถูก ไม่ต้องด่วนทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย (ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุน) แต่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นตัวคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจจะเกิด ซึ่งก็จะช่วยบ่งบอกทิศทางที่ควรจะศึกษาต่อไปได้
2. รักษาได้เจาะจงมากขึ้น
หมดยุคการกินยาแก้ปวดแล้วหวังว่าอาการจะดีขึ้น ต่อจากนี้เทคโนโลยีจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างตรงจุดมากขึ้น เมื่อรู้ว่าต้นตอของโรคมาจากตรงไหน ก็จะสามารถแก้ไขสาเหตุของปัญหาได้โดยตรง ไม่ต้องหว่านแหอีกต่อไป ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น
3. ป้องกันโรคภัยได้ก่อน
แค่รักษาอย่างเดียวไม่พอนะ เพราะถ้าให้ดีก็คือต้องรู้ล่วงหน้าเลยว่าคนคนนี้มีแนวโน้มจะเป็นโรคอะไร ซึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็จะช่วยให้เราค้นพบแต่เนิ่น ๆ ได้ และป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดโรคจริง ๆ วิธีการก็อย่างเช่น การสามารถแกะรอยจีโนมของแต่ละคน เพื่อดูว่ามีดีเอ็นเอส่วนไหนที่อาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคต ในกรณีนี้ถึงแม้ว่าจะยังไม่เกิดโรค ก็รู้ได้ก่อน
ทำความรู้จัก Value Chain ของอุตสาหกรรม Health Care แบบต้นน้ำยันปลายน้ำ
อุตสาหกรรม Health Care ก็เหมือนภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีห่วงโซ่อุปทาน เราอาจจะคิดว่า Health Care มีแค่โรงพยาบาลกับบริษัทยา แต่จริง ๆ แล้วสามารถแตกออกมาได้ละเอียดกว่านั้นนะ ตามนี้เลย
1. บริษัทที่ทำหน้าที่ “เข้าใจโรค”
บริษัทเหล่านี้จะเน้นการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยให้เรารู้สาเหตุของโรค และรู้ว่าควรรักษาอย่างไรแม้ว่าโรคจะยังไม่แสดงอาการ เป็นกึ่ง ๆ การทำนายล่วงหน้าในอนาคตด้วยข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ยิ่งยุคนี้มี AI ด้วยแล้วก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น
2. บริษัทที่ทำหน้าที่ “วินิจฉัย”
เมื่อรู้สาเหตุของโรคแล้ว บริษัทกลุ่มนี้ก็จะมีหน้าที่จัดหาเครื่องมือที่จะช่วยวินิจฉัยโรคได้ล่วงหน้า ที่ทำได้เจาะจงและมีประสิทธิภาพ ว่าง่าย ๆ คือบริษัทกลุ่มแรกจะเป็นผู้บอกว่า “โรคนี้มันเกิดจากอย่างนี้ ๆ นะ” ส่วนบริษัทกลุ่มนี้ก็สร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่จะมาช่วยตรวจจับโรคเหล่านั้นในคนไข้อีกที
3. บริษัทที่ทำหน้าที่ “รักษา”
บริษัทกลุ่มนี้มีหลายแห่งมาก ง่าย ๆ เลยก็คือพวกบริษัทผลิตยา ผลิตวัคซีนนี่ละ กลุ่มนี้จะเน้นการพัฒนารักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอันตราย และประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง คือพอกลุ่มที่แล้วบอกว่า “เจอแล้วโรค!” กลุ่มนี้ก็จะเข้ามารับมือต่อด้วยการเสนอ Solution รักษาอย่างยา หรือวัคซีน
4. บริษัทที่ทำหน้าที่ “ป้องกัน”
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าแค่รักษาไม่พอ มันต้องป้องกันล่วงหน้าได้ด้วย บริษัทกลุ่มนี้ก็จะเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันโรคโดยเฉพาะ เช่น สร้างแบคทีเรียที่ดีเพื่อช่วยให้อาหารมีประโยชน์มากขึ้น หรือสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watches) มา Track สุขภาพของเรา
5. บริษัทที่ทำหน้าที่ “สร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติการ”
สุดท้ายแล้ว บริษัทกลุ่มนี้จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพขึ้น ตัวอย่างเช่น บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่ช่วยให้หมอกับผู้ป่วยคุยกันทางไกลได้ บริการให้ข้อมูลทางการแพทย์ หรืออัลกอริธึมที่จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น เป็นต้น
ลงทุนในนวัตกรรมด้านสุขภาพ ผ่านกองทุน PRINCIPAL GHEALTH-A
กองทุน PRINCIPAL GHEALTH-A เพิ่ง IPO ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นนวัตกรรมสุขภาพโดยเฉพาะ กองทุนมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนต่างประเทศ หรือ ETF ไม่เกินกว่า 80% ของมูลค่า NAV รวม
กองทุนหลักที่ไปลงทุนในตอนนี้ก็มีอยู่ 2 กอง คือ Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund ที่ 52.27% และ Credit Suisse (Lux) Digital Health Equity Fund ที่ 34.86% (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2021) มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน และมีค่าความเสี่ยงกองทุนอยู่ที่ระดับ 7 (เสี่ยงสูง) เพราะลงทุนเจาะกลุ่ม Health Care โดยเฉพาะ
สิ่งที่น่าสนใจของทีมงาน Baillie Gifford และ Credit Suisse คือการใช้คนที่จบจากหลาย ๆ สาขามาฟอร์มทีมกัน ไม่ได้มีแค่คนจบการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ แต่จะมีคนที่จบเฉพาะสาขาด้วย เช่น แพทย์ ชีวเคมี ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้แหละที่จะช่วยให้ทีมงานเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะลงทุนมากขึ้น ถือเป็นจุดเด่นของสองกองนี้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงบริษัทได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นด้วย
ในฝั่งของ Baillie Gifford นั้นทุ่มเทมากกับการสร้าง Connection กับบรรดาโรงเรียนแพทย์ แหล่งวิจัย และบริษัทไบโอเทคใหม่ ๆ เพื่อหา Insight เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ซึ่งการเข้าไปสร้างเครือข่ายตั้งแต่ต้น ๆ ตั้งแต่ก่อนที่บริษัทจะเติบโตนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง แม้ตอนนี้จะยังเพิ่งเริ่มต้น โตไม่มาก (บางแห่งขาดทุน) แต่ถ้าเข้าไปอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วเลือกได้ถูกที่ ก็จะมีโอกาสเติบโตในอนาคตได้สูง
จุดเด่นของกองทุน PRINCIPAL GHEALTH-A
1. ลงทุนครอบคลุมต้นน้ำยันปลายน้ำของอุตสาหกรรม: คือมีหุ้นของบริษัทที่ครอบคลุม 1-5 ของ Value Chain ในอุตสาหกรรม Health Care ที่ได้อธิบายถึงก่อนหน้านี้ ซื้อกองนี้เหมือนได้ซื้ออุตสาหกรรม Health Care แบบเต็มรูปแบบ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
2. มีฐานลูกค้าทั้งแบบสุขภาพไม่แข็งแรงและแข็งแรง: แข็งแรงหรือไม่แข็งแรงในทีนี้หมายถึงสุขภาพของคน เราอาจจะคิดว่ามีแต่ลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วอีกกลุ่มลูกค้าที่สำคัญก็คือลูกค้าที่แข็งแรงดีอยู่แล้ว ใส่ใจในสุขภาพ และต้องการป้องกันตัวเองให้ห่างภัยจากโรคร้าย
3. ผลการดำเนินงานกองหลักโดดเด่น มีโอกาสเติบโตสูง: จากในอดีต ผลการดำเนินงานของกองทุนต่างประเทศทั้ง 2 กองสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้อย่างมีนัย นอกจากนี้ยังรับโอกาสเติบโตสูงจากอุตสาหกรรมการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนโทรเวชกรรม การถอดรหัสดีเอ็นเอ หรือวัคซีนรักษามะเร็ง
หุ้น 5 อันดับแรก จากแต่ละกองทุน
ที่มา: Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund Factsheet ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 และ Credit Suisse (Lux) Digital Health Equity Fund Factsheet ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2021
ตัวอย่างหุ้นจากแต่ละภาคส่วนของ Value Chain ที่อยู่ในพอร์ตของกองทุนหลักที่ PRINCIPAL GHEALTH-A ไปลงทุน
1. บริษัทที่ทำหน้าที่ “เข้าใจโรค”
Illumina: บริษัทไบโอเทค เน้นเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ เป็นผู้นำด้านการถอดรหัส DNA และวิเคราะห์มะเร็ง นอกจากจะเป็นผู้ผลิตเครื่องถอดรหัส DNA ให้กับโรงพยาบาลทั่วโลกแล้ว ธุรกิจของ Illumina ก็ไม่เพียงแต่ขายเครื่องแต่ยังขายวัตถุดิบที่ใช้กับเครื่องที่ขายด้วย มีตลาดครอบคลุม 115 ประเทศทั่วโลก สิ่งที่น่าสนใจและจะเป็นตัวหนุนกิจการของบริษัทคือการที่ต้นทุนของการหาลำดับเบสดีเอ็นเอ (DNA Sequencing) นั้นลดลงมากกว่า 100,000 เท่า ตั้งแต่ปี 2001-2020
10x Genomics: บริษัทที่นำเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาวิเคราะห์พันธุกรรมและชีววิทยาระบบ ครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้งโควิด-19 ภูมิคุ้มกันวิทยา มะเร็งวิทยา และประสาทวิทยา มีผลิตภัณฑ์ทั้ง hardware, software และวัสดุที่ต้องเปลี่ยนเรื่อย ๆ (Consumables) โดยบริษัทมียอดขายครึ่งหนึ่งมาจากนอกประเทศสหรัฐอเมริกา มีอุปกรณ์ที่ได้รับการติดตั้งไปแล้วกว่า 2,400 ชิ้น มีการผลิตวัสดุ Consumables ไปแล้วมูลค่ากว่า 1.5 แสนดอลลาร์
2. บริษัทที่ทำหน้าที่ “วินิจฉัย”
Exact Sciences: บริษัทเป็นผู้นำด้านการวินิจฉัยมะเร็งระดับโลก เป็นเจ้าของ Cologuard Test ซึ่งใช้ตรวจจับมะเร็งลำไส้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่คนไข้สามารถทำได้ที่บ้าน และยังเป็นผู้พัฒนาการตรวจเลือดที่สามารถตรวจจับมะเร็งได้ ในปี 2020 บริษัทได้ทำการตรวจคนไข้ไปแล้วกว่า 4 ล้านคน มีการเติบโตแบบ CAGR ตั้งแต่ปี 2017-2020 สูงกว่า 75% โดยบริษัทมุ่งเน้นที่จะคว้าโอกาสจาก 3 ตลาดหลัก ๆ นั่นคือ 1) การตรวจจับมะเร็งลำไส้ 2) การตรวจมะเร็งหลาย ๆ จุด และ 3) การลดโอกาสเกิดโรคและการคอยติดตามอาการ
3. บริษัทที่ทำหน้าที่ “รักษา”
Moderna: บริษัทผู้ผลิตวัคซีนยุคใหม่ที่คุ้นหูกันมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 โดย Moderna เป็นผู้พัฒนาวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนเฉพาะขึ้นมา เป็นโปรตีนที่อยู่ในไวรัสตัวต้นเหตุของไวรัส ร่างกายก็จะเรียนรู้วิธีตอบสนองต่อโปรตีนนี้โดยที่เราไม่ต้องไปติดไวรัสจริง ๆ โดยในปี 2020 นั้นถือว่าบริษัทมีผลงานที่ดีหลายอย่าง ทั้งการมีผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติ (ซึ่งก็คือวัคซีนโควิด-19) การมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ตัวแรก การมีกระแสเงินสดเป็นบวกแล้ว และแม้จะยังไม่มีกำไรปี 2020 แต่ปี 2021 ก็เริ่มมีลุ้น
Ambu: บริษัทเป็นผู้พัฒนาอุปกรณ์ช่วยชีวิตแบบใช้ครั้งเดียว ครอบคลุมทั้งการช่วยหายใจ นวดหัวใจผายปอด การป้องกันการติดเชื้อ ฯลฯ และยังมีอุปกรณ์เพื่อติดตามและวินิจฉัยหลาย ๆ โรค เช่น การส่องกล้อง ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังร้อนแรงในอุตสาหกรรม MedTech เพราะผู้คนตระหนักเรื่องการติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งยังคุ้มค่าและสะดวกกว่าการใช้อุปกรณ์เดิมซ้ำ ๆ
4. บริษัทที่ทำหน้าที่ “ป้องกัน”
Livongo: บริษัทที่ให้บริการอุปกรณ์และระบบสำหรับการสังเกตการณ์สุขภาพของตัวเอง มีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ที่สามารถติดตามเก็บสถิติทางสุขภาพ มีการให้ฟีดแบ็กเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ รวมไปถึงการโค้ชชิ่งจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ จะตรวจจับแบบเฉพาะเจาะจงโรคก็ได้ เช่น เบาหวาน ตอนนี้บริษัทได้เป็นส่วนหนึ่งของ Teladoc Health ไปแล้ว
Chr Hansen: บริษัทเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพระดับโลก เน้นผลิตเชื้อและจุลินทรีย์สำหรับอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในแง่ของสุขภาพและโภชณาการ เช่น อาหารเสริม นมสำหรับเด็กทารก ฯลฯ โดยรวมบริษัทช่วยให้อาหารมีคุณสมบัติในการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ลูกค้า 25 รายต้น ๆ นั้นสร้างรายได้ให้บริษัทถึง 30% นอกจากสุขภาพของคนแล้ว บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับพัฒนาสุขภาพของสัตว์และพืชอีกด้วย
5. บริษัทที่ทำหน้าที่ “สร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติการ”
Teladoc: บริษัทด้านโทรเวชกรรม ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการพบแพทย์และขอคำปรึกษาด้านสุขภาพ ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ได้แบบ Real-Time ซึ่ง Teladoc ก็ให้บริการกันแบบ 24 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว โดยล่าสุดในปี 2020 รายได้บริษัทเติบโตถึง 98% เมื่อเทียบกับปีก่อน และไตรมาสที่ 4 ปี 2020 รายได้ก็เติบโตถึง 145% เทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งบริษัทได้แรงหนุนจากความสนใจต่อการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบระยะไกลมากขึ้น
M3: ผู้ให้บริการข้อมูลทางการแพทย์สำหรับแพทย์ ให้บริการโทรเวชกรรมผ่านทางแอปฯ LINE และยังมีการนำ AI มาใช้หลายโครงการเพื่อการวินัจฉัยโรค แพลตฟอร์มของ M3 นั้นมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่กว่า 6 ล้านคนทั่วโลก มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนการเติบโตหลัก ๆ คือเน้นการทำ Merging & Acquisition (M&A) หรือก็คือควบรวมกับกิจการอื่น ๆ รวมถึงการเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทนอกเหนืออุตสาหกรรมยา เช่น Sony, LINE, Docomo
สัดส่วนประเทศที่กองทุนต่างประเทศลงทุน จะเห็นได้ว่ากอง Baillie Gifford (ซ้าย) จะลงทุนกระจายในประเทศอื่น ๆ นอกจากสหรัฐฯ มากกว่า Credit Suisse (ขวา)
ที่มา: Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund Factsheet ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 และ Credit Suisse (Lux) Digital Health Equity Fund Factsheet ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2021
ความทับซ้อนกันของหุ้นที่กองทุนต่างประเทศถือ จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กองนั้นทับซ้อนกับดัชนีหลัก ๆ อย่าง MSCI AC World Index และ MSCI Healthcare Index น้อยมาก จึงมั่นใจได้ว่าเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว
ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2020
ที่มา: Presentation PRINCIPAL GHEALTH IPO
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund
ผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021
ที่มา: Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund Factsheet
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ในช่วงต้น ๆ นั้นกองทุนยังทำผลงานได้ต่ำกว่าดัชนีเปรียบเทียบนั่นก็คือ MSCI ACWI แต่ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ก็ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางวิกฤตตลาดเงินจากโควิด-19 อันเนื่องเพราะกระแสการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นมาแรง
ส่วนข้อมูลผลตอบแทนแบบปักหมุดนั้นแสดงให้เห็นว่ากองทุนสามารถเอาชนะดัชนีได้ในทุกช่วงเวลา แต่เมื่อดูเป็นรายปีก็จะเห็นเหมือนกราฟด้านบนว่าปี 2020 กองทุนชนะดัชนีได้อย่างขาดลอย
ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด และแบบรายปี
ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021
ที่มา: Baillie Gifford Worldwide Health Innovation Fund Factsheet
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
Credit Suisse (Lux) Digital Health Equity Fund
ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบตั้งแต่จัดตั้งกองทุน แบบรายปี และแบบปักหมุด
ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2021
ที่มา: Credit Suisse (Lux) Digital Health Equity Fund Factsheet
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
กองนี้มีทิศทางคล้าย ๆ กองที่แล้ว คือก่อนหน้าปี 2020 ผลตอบแทนไม่ได้โดดเด่นกว่าดัชนีเปรียบเทียบมากนัก โดยดัชนีของกองนี้คือ MSCI World ESG Leaders (NR) (08/19) แต่พอปี 2020 ก็พุ่งกระฉูดอย่างเห็นได้ชัดจากแนวโน้มเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงขึ้น หากลงทุนระยะยาวขั้น 3 ปี ผลตอบแทนจะสูงกว่าดัชนีถึง 3 เท่าทีเดียว
ผลตอบแทนปักหมุด และ Maximum Drawdown เปรียบเทียบ 2 กองทุน
ที่มา: FINNOMENA
ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. 2021
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
เมื่อลองนำข้อมูลทั้ง 2 ทุนมาเปรียบเทียบกันแบบปีต่อปี จะเห็นว่าค่อนข้างใกล้เคียงสูสีกัน ไม่ต่างกันมากนัก โดยกอง Credit Suisse จะมีผลตอบแทนสูงกว่าเล็กน้อย ส่วนความเสี่ยง Maximum Drawdown ฝั่งกองทุนของ Baillie Gifford นั้นควบคุมความเสี่ยงได้ดีกว่า โดยปรับตัวลงน้อยกว่า Credit Suisse ในทุกช่วงเวลา
Maximum Drawdown ต่อปี ของสองกองทุนต่างประเทศ
ที่มา: FINNOMENA
ข้อมูล ณ วันที่ 19 มี.ค. 2021
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
Maximum Drawdown ของทั้งสองกองแสดงให้เห็นว่ากองทุนค่อนข้างเสี่ยงกว่าดัชนีเปรียบเทียบของแต่ละกองอย่างมีนัย หากไม่นับช่วง COVID-19 นั้นทั้งสองกองปรับตัวลงแรงกว่าดัชนีเปรียบเทียบทุกปี แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการลงทุนแบบเฉพาะกลุ่มเมื่อเทียบกับดัชนีซึ่งรวมหุ้นหลาย ๆ ประเภทเป็นภาพกว้าง จึงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงการลงทุนให้ดี ไม่ควรนำเงินจำนวนมากมากระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเฉพาะ
รายละเอียดอื่น ๆ ของ PRINCIPAL GHEALTH-A (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2021)
- ขั้นต่ำการซื้อครั้งแรก 1,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการขาย (ขาเข้า) 1.5%
- ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (ขาออก) ยกเว้น
- ค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.605%
- รวมค่าใช้จ่ายกองทุน 1.9581%
เพื่อนผู้ใจดี
สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan
ข้อมูลอ้างอิง
https://amfunds.credit-suisse.com/ch/en/retail/fund/detail/LU1683285750
https://www.principal.th/en/principal/GHEALTH-A
https://www.bailliegifford.com/en/ireland/professional-investor/funds/worldwide-health-innovation-fund
https://www.principal.th/th/globalhealthinnovation
https://www.principal.th/th/PRINCIPAL/GHEALTH/Article
https://www.principal.th/th/PRINCIPAL/GHEALTH/Tam.Eig
https://www.illumina.com/content/dam/illumina-marketing/documents/company/illumina-at-a-glance.pdf
https://investors.10xgenomics.com/static-files/304ba16c-71b9-4127-b75a-94a0f13a15b7
https://investor.exactsciences.com/investor-relations/default.aspx
https://investors.modernatx.com/static-files/d427592c-dab4-4715-a568-31207d9832ab
https://www.ambu.com/corporate-info/investors/presentations/investor-presentations
https://www.livongo.com/
https://www.chr-hansen.com/en/investors/business
https://ir.teladochealth.com/financial-info/quarterly-results/default.aspx
https://corporate.m3.com/assets.ctfassets.net/1pwj74siywcy/XjNGivcwDWE9BlGdxB8kG/9e1a7e6f5ffe1390a03f81f5ef13ec43/20210129_presentation_E.pdf
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวด Health Care จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”