Kuaishou (อ่านว่า ไคว่โฉ่ว) แพลตฟอร์มคู่แข่ง TikTok ในประเทศจีน เตรียมตัว IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange) ในวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021 นี้ ซึ่งการ IPO ครั้งนี้อาจระดมเงินทุนได้ถึง 5.42 พันล้าน หรืออาจจะถึง 6.2 พันล้านดอลล่าร์หากมีการออกหุ้นเพิ่ม
หาก Kuaishou ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งนี้ จะเรียกได้ว่านี่เป็นการ IPO ครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีเลยทีเดียว
โพสนี้เลยอยากขอพามาทำความรู้จัก Kuaishou กันคร่าว ๆ หน่อย
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Kuaishou
1. Kuaishou คือแพลตฟอร์มรวมคอนเทนต์ประเภทวิดิโอสั้น ๆ ความยาวประมาณ 15-20 วินาที และไลฟ์สตรีมมิ่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ดูเผิน ๆ ก็คือเหมือน TikTok เลย เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มแม้ต่างชาติจะไม่รู้จัก แต่ก็เป็นที่นิยมในประเทศจีนมาก ๆ
2. เห็นชื่อไม่คุ้นหูแต่ก็ไม่ใช่แพลตฟอร์มธรรมดา เพราะ Kuaishou มีจำนวนผู้ใช้ต่อเดือน (Monthly Active Users, MAU) ถึง 776 ล้านคน ซึ่งในวันนึงแล้วโดยเฉลี่ยคนจะใช้ Kuaishou อยู่ที่ประมาณ 85 นาที หรือประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ๆ
3. เมื่อเทียบกับ Douyin (TikTok เวอร์ชั่นจีน) แล้ว Kuaishou ยังอาจสู้ไม่ได้ในเชิงตัวเลข เพราะ Douyin นั้นมีจำนวนผู้ใช้ต่อวัน (Daily Active Users, DAU) กว่า 600 คน (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2020) แต่ ณ มิถุนายน 2020 Kuaishou ยังมี DAU อยู่ที่ 257.7 ล้านคน นับเป็นประมาณ ⅓ ของ Douyin
4. แต่ถึงอย่างนั้น Kuaishou ก็ถือว่าเติบโตเร็วมาก ๆ เพราะตัวเลข DAU ดังกล่าวนั้นเพิ่มขึ้นมาจาก 155.4 ล้านในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2019 เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นมาแบบเกือบ ๆ คูณสองก็ว่าได้
5. เมื่อเทียบกับ Douyin แล้ว ผู้ใช้ Kuaishou โดยเฉลี่ยจะมีอายุน้อยกว่า มีการศึกษาน้อยกว่า และมีความฟู่ฟ่าน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นความท้าทายในการหารายได้จากการยิงโฆษณา หรือการทำ E-Commerce
6. ในฝั่งของผู้ใช้งานนั้น สามารถสร้างไลฟ์สตรีมมิ่งขึ้นมา ผู้ชมก็สามารถซื้อ Virtual Gifts ส่งให้ผู้สตรีมได้ ส่วนในฝั่งของธุรกิจนั้น Kuaishou ก็มีเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มเกมมือถือ ให้คนกดเข้าไปโหลดเล่นได้ จุดนี้ Kuaishou ก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้มา
7. ในส่วนของ E-Commerce นั้น เจ้าของสินค้าสามารถไลฟ์สดเพื่อโปรโมตสินค้าตัวเองได้ ซึ่งถ้าสินค้าขายได้ผ่านแพลตฟอร์ม ตัว Kuaishou ก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเช่นกัน เจ้าของสินค้าจะขายบน Kuaishou ตรง ๆ เลยก็ได้ หรือจะผ่านพาร์ตเนอร์เช่น JD.com หรือ Alibaba ที่เชื่อมกับระบบ Kuaishou ก็ได้
8. Tencent ถือหุ้น Kuaishou อยู่ประมาณ 21.6% ก่อนหน้านี้ในปี 2017 ก็ได้ลงทุนไปกว่า 350 ล้านดอลล่าร์ เพื่อให้ Kuaishou ขยายฐานผู้ใช้ไปยังต่างประเทศมากขึ้น และเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ เข้าไปมากขึ้น
9. เจ้าของ Kuaishou คือ Su Hua อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์จาก Google และ Baidu และ Cheng Yixiao อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์จากบริษัท HP และ Renren
ตัวอย่าง Live Streaming ใน Kuaishou
ที่มา: marketingtochina
เพิ่มเติมเกี่ยวกับการ IPO ของ Kuaishou
1. ในการ IPO ครั้งนี้ Kuaishou ตั้งใจจะออกหุ้นเป็นจำนวนประมาณ 365 ล้านหุ้น ราคาระหว่าง 105-115 ดอลล่าร์ฮ่องกง
2. นอกจากส่วนนี้แล้วยังอาจจะมีการออกหุ้นเพิ่ม ทำให้อาจช่วยเพิ่มเงินระดมทุนได้ถึง 6.2 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งจะนับว่าเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี โดยครั้งก่อนหน้านี้คือการ IPO ของ Saudi Aramco ที่ระดมเงินได้เกือบ 3 หมื่นล้านดอลล่าร์ในเดือนธันวาคม 2019
3. นักลงทุนที่แสดงความสนใจอยากลงทุนใน Kuaishou ก็มีทั้ง Temasek, BlackRock, Fidelity, Invesco และอื่น ๆ
ฐานะการเงินของ Kuaishou
1. จากเอกสารการยื่นขอ IPO นั้น Kuaishou ระบุว่าอยากให้น้ำหนักกับการขยายฐานผู้ใช้ ก่อนจะไปโฟกัสที่กำไร ซึ่งก็แสดงให้เห็นในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020 Kuaishou ขาดทุนอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านดอลล่าร์ จากรายได้ทั้งหมด 3.9 พันล้านดอลล่าร์
2. ตั้งแต่ปี 2017 บริษัทก็ไม่เคยทำกำไรได้อีกเลย แม้ว่าจะสามารถเพิ่มรายได้เป็นเท่าตัวได้ในระหว่างปี 2017-2019 ก็ตาม
3. สัดส่วนรายได้ของ Kuaishou นั้นหลัก ๆ มาจากไลฟ์สตรีมมิ่งเลย โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020 นั้นไลฟ์สตรีมมิ่งคิดเป็น 69% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาก็คือบริการทำการตลาดออนไลน์ (หลัก ๆ คือการโฆษณา) ซึ่งคิดเป็น 28% และที่เหลืออื่น ๆ อีก 3% ทีนี้เหล่านักลงทุนก็เลยเริ่มกังวลว่า Kuaishou พึ่งพารายได้จากไลฟ์สตรีมมิ่งมากไปไหม เพราะเหล่า Influencer ที่ไลฟ์บน Kuaishou ก็มีอยู่ไม่กี่คน
4. การขาดทุนหลัก ๆ นั้นมาจากค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด โดยเฉพาะในปี 2020 ที่ Kuaishou เริ่มบู๊มากขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 Kuaishou ใช้งบไป 2.1 พันล้านดอลล่าร์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งกินไปมากกว่าครึ่งของรายได้บริษัทแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง
1. มาตรการควบคุมบริษัทเทคฯ ที่เข้มงวดจากรัฐบาล: ซึ่งในช่วงปลายปี 2020 นั้นมีกฎใหม่ที่ห้ามไม่ให้วัยรุ่นส่งของขวัญให้ผู้ที่ทำไลฟ์สตรีม มีการจำกัดค่าใช้จ่ายในการซื้อ Virtual Items นอกจากนั้นยังบังคับให้ทุกคนใช้ชื่อจริงบนแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งถ้า Kuaishou ไม่สามารถทำตามมาตรการของรัฐได้ ก็อาจจะเจอค่าปรับ บทลงโทษ หรือแม้กระทั่งไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจนี้ต่อไปได้เลย ซึ่งก็จะกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัท
2. ความสามารถในการทำกำไรระยะยาว: ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่น่าจับตาตรงที่เหล่าผู้สร้างคอนเทนต์หลัก ๆ ของ Kuaishou อาจจะหนีไปทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอื่นก็ได้ สิ่งที่ Kuaishou ทำได้คือพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีงามกับผู้สร้างคอนเทนต์ไว้ และยังต้องสร้างให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานเรื่อย ๆ
ความแตกต่างระหว่าง TikTok และ Kuaishou ที่สื่อต่าง ๆ กล่าวไว้
1. ปรัชญาของ TikTok เน้นไปที่การส่งมอบคอนเทนต์ที่น่าสนใจและตื่นตาตื่นใจที่สุดให้ผู้ใช้งาน ในขณะที่ Kuaishou นั้นจะเน้นไปที่การกระจายสปอรต์ไลต์ไปยังทุก ๆ คน ให้โอกาสทุก ๆ คนมีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ
2. ดังนั้น สิ่งที่ TikTok ทำจึงเป็นการทำให้ผู้ใช้รู้สึกผูกพันกับแพลตฟอร์มผ่านการส่งมอบคอนเทนต์ ไม่ได้สนใจเรื่องการสร้างสังคมออนไลน์มากนัก ในขณะที่ Kuaishou นั้นต่างกันไป เพราะ Kuaishou มองว่าตัวเองเป็นเหมือนแพลตฟอร์มโซเชียลที่ต้องการให้เหล่าผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน มีการพูดคุยกันจริง ๆ นั่นจึงทำให้ Kuaishou มุ่งเน้นไปที่การสร้างให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกผูกพันกับผู้คนที่ใช้ Kuaishou ด้วยกันมากกว่า
เพื่อนผู้ใจดี
ที่มา
https://www.protocol.com/kuaishou-ipo?rebelltitem=4#rebelltitem4
https://positioningmag.com/1317102
https://edition.cnn.com/2021/01/25/tech/kuaishou-hong-kong-ipo-intl-hnk/index.html
https://www.scmp.com/tech/tech-leaders-and-founders/article/3119335/kuaishou-ipo-how-chinas-newest-millennial
https://www.cnbc.com/2021/01/26/kuaishou-hong-kong-ipo-could-raise-over-5-billion.html
https://www.forbes.com/profile/su-hua/?sh=d2d9d4aeea73
https://www.kuaishou.com/en