ตอบข้อสงสัย ควรรู้อะไรก่อนลงทุนใน ETF บ้าง?

กองทุน ETF หรือ Exchange-Traded Fund ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์การลงทุนที่ในประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่ในต่างประเทศนั้นได้รับความนิยมมานานแล้ว หลายคนอาจจะเคยได้ยินถึงข้อดีของ ETF ว่า ซื้อขายได้เหมือนหุ้น ทำให้สามารถซื้อได้ราคา Real-Time ไม่ต้องรอเวลาสิ้นวันทำการเหมือนกองทุนรวม อีกทั้งเราในฐานะผู้ลงทุนก็ไม่ต้องเลือกหุ้นเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนไป เรียกได้ว่า ETF เหมือนจะรวมจุดเด่นของทั้งหุ้นและกองทุนรวมไว้ในที่เดียว 

ในประเทศไทยเอง ยังมี ETF ไม่มาก ตัวเลขจาก SET ณ วันที่ 27 เมษายน 2563 คือ 17 กอง ต่างจากในต่างประเทศที่มีจำนวนมากกว่า ได้รับความนิยมมากกว่า แค่ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ก็ปาไปแล้ว 1,000 กอง และจำนวนกองทุน ETF ทั่วโลกก็เพิ่มจำนวนขึ้นตลอด แตะระดับ 6,970 กองในปี 2019

แต่ก่อนที่เราจะตื่นเต้นกับสินทรัพย์ชนิดนี้ วันนี้เราเลยอยากมาเล่าให้ฟังว่า มีรายละเอียดอะไรที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ETF อีกบ้าง?

ถาม: ใครกันเป็นผู้จัดตั้งกองทุน ETF?

ตอบ: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. เป็นผู้จัดตั้ง ETF รวมถึงบริหารจัดการ แต่การซื้อขาย สามารถทำได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนเวลาซื้อหุ้นเลย ไม่ต้องซื้อขายผ่าน บลจ. นั่นเพราะ ETF ได้ทำการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดรองเรียบร้อยแล้ว

ถาม: ETF สามารถอ้างอิงกับสินทรัพย์อะไรบ้าง?

ตอบ: ส่วนใหญ่ ETF จะลงทุนให้ผลตอบแทนเหมือนหรือใกล้เคียงดัชนีของสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ น้ำมัน ค่าเงิน โดยจะเน้นการลงทุนแบบ Passive ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนนั้นล้อไปกับตลาด ในฝั่งของดัชนีหุ้น ยังแยกย่อยไปอีกว่าลงทุนตามดัชนีใหญ่ (เช่น S&P500) หรือลงทุนตามดัชนีของแต่ละอุตสาหกรรม (เช่น อาหาร เทคโนโลยี ยา) จะว่าไปแล้ว สินทรัพย์ที่ ETF ลงทุนก็คล้าย ๆ กองทุนรวมดัชนีนั่นเอง 

ถาม: อ้าว แล้วแบบนี้ ลงทุนใน ETF กับกองทุนรวมดัชนีก็ไม่ต่างกันสิ?

ตอบ: ถ้าในแง่สินทรัพย์ก็ไม่ต่างกันเท่าไร แต่อย่าลืมว่า ETF สามารถซื้อขายได้แบบ Real Time เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ผู้ที่ซื้อถูกจังหวะ ขายถูกจังหวะระหว่างวัน ใครที่ไม่อยากรอลุ้นราคา NAV ท้ายวัน ETF ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

ถาม: ทำไมค่าธรรมเนียม ETF ถึงถูกกว่ากองทุนรวม?

ตอบ: ในฝั่งของค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ ของ ETF จะถูกกว่ากองทุนที่ส่วนใหญ่เป็น Active เพราะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Passive อิงไปกับดัชนีเลย ไม่ได้มุ่งหวังจะเอาชนะดัชนี ผู้จัดการกองทุนจึงไม่ต้องทำการรีเสิร์ช วิเคราะห์ หรือซื้อขายกองทุนมากเท่ากองทุน Active 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดค่าธรรมเนียม ETF คือการที่ผู้ซื้อ-ขายสามารถซื้อขายกันโดยตรงได้โดยไม่ต้องผ่าน บลจ. เหมือนกองทุนรวม ที่หากเราต้องการซื้อ-ขายกองทุน ทาง บลจ. ก็จะต้องคอยจัดการ ทางผู้จัดการกองทุนจะต้องเข้าไปซื้อ-ขายสินทรัพย์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น

ในฝั่งของค่าธรรมเนียมที่ซื้อขาย ก็จะเหมือนเวลาซื้อหุ้น ในประเทศไทยหากใช้บริการโบรกเกอร์ผ่านอินเตอร์เน็ตจะอยู่ที่ประมาณ 0.15% แต่บางเจ้าอาจจะมีขั้นต่ำวันละ 50 บาท ดังนั้นเราสามารถลองตรวจสอบดูก่อนว่าโบรกเกอร์เจ้านั้นมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต่อวันหรือไม่ หากเป็นกองทุนรวม Active ค่าธรรมเนียมการซื้อขายจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 0.5%-1% ส่วนกองทุน Passive ก็จะต่ำกว่า บางเจ้าอาจจะไม่เก็บขาเข้า-ออกเลย หากลังเลระหว่าง ETF กับกองทุน Passive ก็อาจจะลองนำกองทุนดังกล่าวมาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมกันดู โดยหาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุน หรือจะเปรียบเทียบผ่าน https://www.finnomena.com/fund ก็ได้เช่นกัน

ถาม: ขั้นต่ำในการซื้อ ETF อยู่ที่เท่าไร?

ตอบ: ในประเทศไทยนั้นเหมือนหุ้นเลย นั่นก็คืออย่างน้อย 100 หน่วย หรือที่เรียกว่า 1 Board Lot โดยราคา 1 หน่วยของกองทุน ETF แต่ละกองก็จะต่างกันไป โดยการเคลื่อนไหวของราคาจะเพิ่มขึ้น-ลดลงทีละ 0.01 บาท  ไม่เหมือนหุ้นที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละตัว ส่วนในต่างประเทศนั้น ต้องซื้ออย่างน้อย 1 หน่วย

ถาม: ซื้อ ETF มีโอกาสขาดทุนมากไหม?

ตอบ: ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ETF ก็เช่นกัน เพียงแต่เราสามารถทำความเข้าใจความเสี่ยงได้ด้วยการศึกษาสินทรัพย์ที่ ETF ไปอ้างอิง เพราะผลการดำเนินงานจะวิ่งล้อกับดัชนี ไม่ผันผวนจากดัชนีมาก เรียกอีกแบบว่า ETF มุ่งหวังจะลด Tracking Error ให้น้อยที่สุด จึงเป็นการดีหากเราติดตามข่าวการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์นั้น ๆ ที่ ETF อ้างอิง

ถาม: สภาพคล่องของ ETF มาจากไหน ซื้อมาได้แล้วจะขายได้ไหม?

ตอบ: ETF จะมีผู้ดูแลสภาพคล่องอยู่ หรือที่เรียกว่า Market Maker ซึ่งจะคอยเสนอราคาซื้อขาย (Bid-Offer) หน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างวัน นอกจาก Market Maker ก็ยังมี Participant Dealer (หรือ Authorised Participants) ซึ่งยังช่วยเอื้ออำนวยสภาพคล่องด้วยการเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุน (Creation & Redemption) กับ บลจ. ผู้ออก ETF นั้น ๆ ทำให้มีหน่วยลงทุนเพียงพอหากคนต้องการซื้อ ETF เยอะ หรือมีเงินเพียงพอหากคนต้องการขาย ETF เยอะ เราจึงมั่นใจได้ว่าถ้าเราอยากซื้อหรือขาย ก็จะมีหน่วยลงทุนที่รองรับตรงนี้อยู่ โดย Market Maker บางคนก็อาจจะเป็น Participant Dealer ด้วยเช่นกัน

ที่ต้องมี Market Maker และ Participant Dealer ก็เพื่อให้มั่นใจว่าราคาของ ETF นั้น ๆ เคลื่อนไหวสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหน่วยลงทุน ตรงนี้จะไม่เหมือนกับหุ้นที่ราคาอ้างอิงกับ Demand & Supply ของผู้ซื้อ-ขายล้วน ๆ ไม่ได้มีใครมาช่วยดูแลว่าตอนนี้ราคาแพงเกินไปแล้วนะ ไม่ได้สะท้อนมูลค่ากิจการที่แท้จริง

ตอบข้อสงสัย ควรรู้อะไรก่อนลงทุนใน ETF บ้าง?

ถาม: ปกติเวลาซื้อกองทุนเราจะรู้ NAV แต่ถ้าเป็น ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า NAV ตอนนี้เป็นเท่าไร?

ตอบ: สำหรับ ETF นั้นนอกจากจะมี NAV ท้ายวันเหมือนกองทุนรวม ยังมีเพิ่มเติมมาอีกคือ iNAV (Indicative Net Asset Value) แทน ซึ่งจะเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยระหว่างวันแบบโดยประมาณ ความต่างก็คือ iNAV จะเปลี่ยนแปลงแบบ Real-Time ตลอดวัน อัปเดตทุก 15-30 วินาที ไม่เหมือน NAV กองทุนรวมที่จะอัปเดตเมื่อสิ้นวัน ซึ่ง Market Maker ก็จะพยายามทำให้ราคา Bid-Offer ใกล้เคียงกับ iNAV ที่สุด

เพราะฉะนั้น iNAV จึงไม่ใช่ราคาซื้อ-ขาย ETF นะ ก็เหมือนที่ NAV ไม่ใช่ราคาซื้อขายกองทุนนั่นแหละ เราต้องดู Bid-Offer แยกไปอีกที อย่างไรก็ต้องมี Bid-Offer Spread หรือความต่างระหว่างราคาซื้อ-ราคาขาย แต่เราสามารถดู iNAV เพื่อพิจารณาได้ว่า เราควรซื้อหรือขายที่ราคานี้หรือไม่ ราคานี้แพงกว่าหรือถูกกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่? โดยราคา iNAV สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ บลจ. ที่ออก ETF นั้น ๆ เลย

ถาม: ดูข้อมูลย้อนหลังของ ETF ที่ไหนดี?

ตอบ: ถ้าเป็น ETF ในไทย สามารถดูข้อมูลได้ที่ Settrade.com หรือ https://www.finnomena.com/fund  แล้วพิมพ์ชื่อกองทุนที่ต้องการดู แต่ถ้าเป็นกองทุน ETF ต่างประเทศ ก็มีหลากหลายเว็บ เราได้รวบรวมมาแล้วที่นี่ แจกโพย 11 เว็บไซต์ ครบทุกเรื่องด้าน ETF

ถาม: สนใจอยากเปิดพอร์ตซื้อขาย ETF ได้ที่ไหน

ตอบ: สามารถเปิดพอร์ตซื้อขายได้ตามโบรกเกอร์ทั่วไปเลย และหากในอนาคตทาง FINNOMENA เปิดให้ลงทุนใน ETF  ต่างประเทศ ทางทีมงานจะแจ้งให้ทราบ โดยตอนนี้ระบบเปิดให้ลงทะเบียนรับข่าวใหม่อีกครั้งแล้ว (ท่านใดประสบปัญหาลงทะเบียนไม่ติด ทีมงานได้แก้ไขระบบแล้ว รบกวนลองลงทะเบียนอีกรอบนะครับ) หากสนใจ สามารถลงชื่อได้ที่ https://www.finnomena.com/etf-guidebook เพื่อรับข่าวสาร หาก FINNOMENA เปิดให้ลงทุนใน ETF นะ : )

เพื่อนผู้ใจดี

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.flexshares.com/etfadv/documents/education.pdf
https://www.vanguard.co.uk/documents/adv/literature/etfs-in-action-part-i-the-girders-nuts-and-bolts.pdf
https://www.blackrock.com/corporate/literature/whitepaper/viewpoint-etf-primary-trading-role-of-authorized-participants-march-2017.pdf
https://www.rbcgam.com/documents/en/articles/what-is-the-role-of-the-market-maker-for-etfs.pdf
https://bear-investor.com/2018/06/25/etf-preliminary/
https://www.set.or.th/education/th/begin/etf_content01.pdf
https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=etf
https://www.set.or.th/education/th/begin/etf_content02.pdf
https://www.thebalance.com/etf-fees-deducted-from-your-investment-4156849
https://www.investopedia.com/articles/exchangetradedfunds/08/etf-periodic-investment.asp
https://www.statista.com/statistics/278249/global-number-of-etfs/

TSF2024