เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรม Healthcare หลาย ๆ คนน่าจะรู้สึกว่าเป็น Mega Trend ที่น่าจะเติบโตในระยะยาว ไม่ว่าจะจากเทรนด์รักสุขภาพ สังคมผู้สูงอายุ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้วงการก้าวหน้า มีกองทุนหลายกองที่ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ วันนี้เราขอคัด 4 กองมาเปรียบเทียบกันว่าโดดเด่นด้านไหนบ้าง

ส่วนแรก: พอร์ตกองทุน

กองที่ 1: BCARE

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

หน้าพอร์ตของ Wellington Global Health Care Equity Fund
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ที่มา: Wellington Management

  • กองนี้จาก บลจ.บัวหลวง ถือว่าเป็นกองที่ชื่อน่าจะคุ้นหูหลายคนพอสมควร เพราะถือเป็นกองทุน Healthcare แห่งแรกของไทยเลยทีเดียว จดทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2550 นับอายุคร่าว ๆ ก็ 10 กว่าปีแล้ว
  • กองทุน BCARE ลงทุนใน Master Fund ชื่อ Wellington Global Health Care Equity Fund โดยจะมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Healthcare ทั่วโลก
  • แม้จะมีนโยบายลงทุนทั่วโลกแต่พอร์ตการลงทุนของ Master Fund นั้นจะกระจุกตัวอยู่ที่สหรัฐฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ อยู่ที่ 76.3% รองลงมาคือยุโรปที่ทิ้งห่าง อยู่ที่ 14.6%
  • อุตสาหกรรมที่ Master Fund เน้นเป็นหลักคือ Biopharma (ทั้งหุ้นเล็ก-ใหญ่ รวมกันเป็น 45.5%) และ Medical Tech (28.2%)
  • หุ้น 10 อันดับแรกเป็นหุ้นสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยหุ้นอันดับ 1 คือ UnitedHealth Group (5.9%) บริษัท Healthcare ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขายทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและประกัน ในปี 2019 มีรายได้ $2.4 แสนล้าน มีกำไรอยู่ที่ $1.4 หมื่นล้าน โดยปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทเติบโตนั้นหลัก ๆ มาจาก Optum ซึ่งเป็นบริการด้านสุขภาพ

กองที่ 2: KFHEALTH-A

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

หน้าพอร์ตของ JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ที่มา: J.P.Morgan Asset Management

  • เป็นกองทุนจาก บลจ.กรุงศรี มี 2 Class ให้เลือก หากเลือกเป็น A จะไม่ได้รับปันผล ถ้าอยากได้รับปันผลสามารถเลือกลง KFHEALTH-D แทนได้
  • ใน Fund Fact Sheet บอกว่ากองนี้ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจ แต่อันที่จริงในเชิงปฏิบัติกองนี้ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ผู้ลงทุนจึงควรรับความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้
  • สำหรับใครที่ต้องการอยากให้มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ก็สามารถไปพิจารณากอง KFHHCARE-A (ไม่จ่ายปันผล) และ KFHHCARE-D (จ่ายปันผล) แทนได้ ลงทุนในกองแม่เดียวกัน
  • ลงทุนใน Master Fund ชื่อ JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund, Class C (acc) – USD เน้นลงทุนในบริษัท Healthcare ทั่วโลก และเน้นหนักไปทางธุรกิจยา (Pharmaceutical 31.2%) เป็นหลัก รองลงมาคือเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology 25.2%) และ Medical Tech (22.3%)
  • เนื่องจากลงทุนเน้นไปที่บริษัทยา หลาย ๆ ชื่อบริษัทจึงเป็นที่คุ้นหูอยู่บ้าง เช่น Roche (5.8%) Johnson & Johnson (4.7%) Bristol-Myers Squibb (4.5%) Novartis (3.7%) นอกจากนี้ใน 10 อันดับแรกยังมีบริษัทประกันที่เราคุ้นชื่อกันอย่าง Cigna (3.4%)
  • หลัก ๆ กองทุนจะลงทุนในหุ้นใหญ่ที่มีมูลค่า 1 แสนล้านดอลล่าร์ขึ้นไป (47%) รองลงมาคือระดับหนึ่งหมื่นล้านถึงหนึ่งแสนล้านดอลล่าร์ (35.35%) ซึ่งหุ้นใหญ่ก็จะมีความมั่นคงสูงกว่า แต่อาจจะเติบโตไม่เท่าหุ้นเล็ก
  • ลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 75.9% รองลงมาคือยุโรปและตะวันออกกลาง (ไม่นับรวมสหราชอาณาจักร) ทิ้งห่างอยู่ที่ 15.7%

กองที่ 3: UOBSHC

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

หน้าพอร์ตของ United Global Healthcare Fund
ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2563
ที่มา: UOB Asset Management

  • กองทุนจาก บลจ.ยูโอบี ลงทุนใน Master Fund ชื่อ United Global Healthcare Fund
  • กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในบริษัท Healthcare หลาย ๆ ประเภท ครอบคลุมหลัก ๆ 4 ด้านคือ 1) เทคโนโลยีทางการแพทย์ 2) การคิดค้นและผลิตยา 3) การให้บริการทางการแพทย์ และ 4) เทคโนโลยีชีวภาพ
  • เห็นชื่อกองทุนแม่เป็นแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วผู้จัดการกองทุนมาจาก บลจ. Wellington ด้วยเหตุนี้อาจจะรู้สึกว่าพอร์ตการลงทุนนั้นคล้าย ๆ กับกอง Wellington Global Health Care Equity Fund
  • หลัก ๆ ในพอร์ตจะลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology 26.48%) อุปกรณ์ Health Care (22.67%) และ ธุรกิจยา (Pharmaceutical 22.29%)
  • ลงทุนกระจุกตัวในสหรัฐฯ (68.30%) รองลงมาคือสหราชอาณาจักร (5.55%)
  • UnitedHealth Group เป็นหุ้นที่ถือน้ำหนักเยอะสุดที่ 5.9% รองลงมาก็จะเป็นบริษัทยาที่คุ้นชื่อกันอย่าง Pfizer

กองที่ 4: KT-HEALTHCARE-A

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

หน้าพอร์ตของ Janus Global Life Sciences Fund
ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2563
ที่มา: Janus Henderson Investors

  • กองทุนจาก บลจ.กรุงไทย ลงทุนใน Master Fund ชื่อ Janus Global Life Sciences Fund เน้นการลงทุนในบริษัททั่วโลกที่ตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences) ที่จะช่วยรักษาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต
  • ในพอร์ตหลัก ๆ จะลงทุนในธุรกิจยา (Pharmaceutical 35.3%) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology 29.7%) และอุปกรณ์ Health Care (14%) โดยจะพยายามเกลี่ยกระจายไปทุก ๆ อุตสาหกรรมย่อย
  • มีการทำ Value At Risk ให้หุ้นแต่ละตัว โดยหุ้นตัวหนึ่งจะต้องไม่ทำให้พอร์ตขาดทุนเกิน 1% ตัวอย่างเช่น หากมีการประเมินว่าหุ้นตัวหนึ่งสามารถขาดทุนได้มากสุด 50% แปลว่าสามารถลงทุนในหุ้นได้แค่ 2% ของพอร์ต
  • หลัก ๆ กองทุนจะลงทุนในหุ้นใหญ่ที่มีมูลค่า 1 แสนล้านดอลล่าร์ขึ้นไป (37%) รองลงมาคือระดับหนึ่งหมื่นล้านดอลล่าร์ถึงห้าหมื่นล้านดอลล่าร์ (19.4%)

สรุป จุดเด่นพอร์ตของแต่ละกอง

  • ทุกกองทุนลงทุนใน Master Fund ที่บริหารงานแบบ Active มุ่งหวังเอาชนะดัชนีชี้วัด
  • BCARE, KFHEALTH-A และ KT-HEALTHCARE-A มีดัชนีเปรียบเทียบคือ MSCI World Healthcare Index (Total Return Net) สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับเป็นสกุลเงินบาท ส่วน UOBSHC เป็น MSCI AC World Health Care Index สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับเป็นสกุลเงินบาท
  • ทุกกองยกเว้น KFHEALTH-A จะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • แม้จะมีนโยบายลงทุนทั่วโลก แต่ทั้ง 4 กองก็เน้นลงทุนในสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งก็พอเข้าใจได้เพราะบริษัท Healthcare ส่วนใหญ่ก็อยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้นหากใครมีหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในพอร์ตค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว อาจจะชะลอการซื้อกองทุน Healthcare นิดนึง
  • พอร์ตของกองแม่ BCARE และ UOBSHC มีความคล้ายกันส่วนหนึ่งเพราะผู้จัดการกองทุนคือ Wellington เหมือนกัน พอร์ตก็จะเน้นลงทุนในกลุ่ม Biotech/Biopharma ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการคิดค้นและวิจัยยาใหม่ ๆ มีโอกาสเติบโตสูงหากยานั้นถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย บริษัทก็จะประสบความสำเร็จ นั่นเพราะบริษัทเจ้าของยาก็จะจดสิทธิบัตรไว้ ทำให้รายอื่น ๆ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แต่ข้อเสียของธุรกิจประเภทนี้คืออาจต้องใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก ๆ ของการวิจัย มีความเสี่ยงขาดทุนหากยาไม่ประสบผลสำเร็จ หรืออาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะขายได้
  • KFHEALTH-A และ KT-HEALTHCARE-A จะมีสัดส่วนในธุรกิจยาเยอะหน่อย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็จะมักจะเป็นบริษัทใหญ่ มีความมั่นคง พื้นฐานแกร่ง ฉะนั้นหากเกิดวิกฤตหรือความผันผวนก็จะสามารถทนทานต่อสภาวะไม่แน่นอนได้ แต่โอกาสการเติบโตก็อาจจะไม่สูงเท่าไร

ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบ 4 กอง

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

เปรียบเทียบผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี ของทั้ง 4 กองทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิ.ย. 2563
ที่มา: FINNOMENA

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ดูข้อมูลเปรียบเทียบอื่น ๆ ของทั้ง 4 กองทุน

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

ผลการดำเนินงานแบบปักหมุด ไล่ตั้งแต่ผลตอบแทน, Standard Deviation, Sharpe Ratio และ Max Drawdown
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิ.ย. 2563
ที่มา: FINNOMENA

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

  • หากดูจากกราฟข้างต้น จะเห็นว่า KFHEALTH-A ทำผลงานได้ดีที่สุด แม้กระทั่งตอนที่ตลาดร่วงหนัก ๆ กองนี้ก็ยังร่วงน้อยที่สุด เพราะส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนด้วย ทำให้ผลการดำเนินงานแซงหน้ากองอื่น ๆ ที่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะหากไปดูการเปรียบเทียบกองแม่ ก็จะเจอว่าช่วงที่ลงหนัก ๆ นั้น ติดลบใกล้เคียงกันทุกกอง
  • แต่พอมาดูช่วงตลาดขึ้นเยอะ ๆ (3 เดือนย้อนหลัง) จะพบว่าอีก 3 กองที่เหลือมีผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า เพราะส่วนหนึ่งกองเหล่านี้ลงเยอะกว่า และกองที่ถือ Biopharma เยอะ ๆ อาจจะได้รับอานิสงส์จากข่าววัคซีนโควิด-19 ทำให้พุ่งขึ้นแรง
  • พอลองมามองในระยะ 1 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนของทั้ง 4 กองถือว่าไม่ต่างกันมาก คร่าว ๆ คืออยู่ระหว่าง 12%-16%
  • แต่เมื่อมาดูความเสี่ยง ตัว Standard Deviation ของ KFHEALTH-A ต่ำกว่ากองอื่น ๆ อย่างมีนัย โดยกองอื่น ๆ จะไปกระจุกที่ 18%-20% ส่วน KFHEALTH-A อยู่ที่ 14.78%
  • นั่นจึงทำให้ Sharpe Ratio หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงของ KFHEALTH-A สูงกว่ากองอื่น ๆ อยู่ที่ 1.35 เท่า
  • เมื่อหันมามอง Max Drawdown ก็จะพบว่าในช่วง 1 ปี KFHEALTH-A มีจุดขาดทุนสูงสุดน้อยกว่ากองอื่น ๆ
  • ค่าความเสี่ยงของ KFHEALTH-A ที่น้อยกว่ากองอื่น ๆ นั้นเพราะโชคดีเจอค่าเงินอ่อน แต่หากดูกันที่นโยบายจริง ๆ กองนี้เสี่ยงกว่าเพื่อน เพราะเจอทั้งความผันผวนของราคาหุ้น และ การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน
  • หากมองในระยะยาว ๆ กองเก่าแก่อย่าง BCARE ก็ทำได้ดี เป็นกองเดียวที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังให้ดูถึง 10 ปี ซึ่งถ้าถือมา 10 ปีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 14.08% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ
  • จาก 3D Diagram จะเห็นได้ว่า BCARE มีสามเหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุด มีค่าผลตอบแทนที่ค่อนข้างเหนือกว่ากองอื่น ๆ ส่วน KFHEALTH-A ดีกว่ากองอื่น ๆ ในแง่ Max Drawdown ที่ต่ำกว่า

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

3D Diagram สรุปภาพรวมของกองทุนเมื่อเทียบกับกองทุนในประเภทเดียวกัน
ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2563
ที่มา: FINNOMENA

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ค่าธรรมเนียมและขั้นต่ำการซื้อ

เปรียบเทียบกองทุน Healthcare 4 กอง: เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเลือกกองไหนดี?

ค่าธรรมเนียมและขั้นต่ำการซื้อของ 4 กองทุน
ที่มา: หนังสือชี้ชวนข้อมูลส่วนสรุปกองทุน

  • ค่าธรรมเนียมรวมของทั้ง 4 กองอยู่ระหว่าง 0.9%-1.9% โดยกองที่ถูกสุดคือ KFHEALTH-A และที่แพงสุดคือ UOBSHC
  • ในฝั่งของค่าธรรมเนียมขาเข้า มีเพียง BCARE ที่ไม่เรียกเก็บ นอกนั้นเก็บ 1.5%
  • แต่ BCARE ก็เป็นกองเดียวที่มีค่าธรรมเนียมขาออก ซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 1% และขั้นต่ำคือ 50 บาท
  • สำหรับขั้นต่ำการลงทุน ถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถ DCA ได้ โดย KFHEALTH-A สูงสุดที่ 2,000 บาท

ลงทุนกองไหนดี?

BCARE: เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกองทุนที่มีประวัติยาว ๆ มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีสัดส่วนบริษัท Biopharma/Biotech ค่อนข้างเยอะ จึงมีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็เสี่ยงสูงเช่นกัน

KFHEALTH-A: เหมาะสำหรับผู้ที่ Conservative หน่อย เพราะมีการถือหุ้นบริษัทยาที่ใหญ่โตและมั่นคงค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้มีค่าความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับกองอื่น ๆ แต่ภาพรวมจะไม่มีการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน

UOBSHC: เนื่องจากมีสัดส่วนบริษัท Biopharma/Biotech ค่อนข้างเยอะ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการโอกาสเติบโตสูง แต่ก็เสี่ยงสูงเช่นกัน กองเพิ่งเปิดไม่นานอาจจะต้องดูกันยาว ๆ และโดยรวม BCARE ที่ลงทุนคล้าย ๆ กันยังมีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดีกว่า

KT-HEALTHCARE-A: เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนทั้งในหุ้น Growth และหุ้น Defensive จึงค่อนข้างมีความสมดุล ผลการดำเนินงานค่อนข้างเกาะกลุ่มไปกับกองอื่น ๆ

ความเสี่ยงที่พึงระวัง

ความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน: เนื่องจากทุกกองทุนมีการไปลงทุนในต่างประเทศ และการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ในบางช่วงเวลาผู้จัดการกองทุนอาจจะไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วนที่สูง

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในอุตสาหกรรม/ประเทศ: เนื่องจากทุกกองทุนลงทุนเจาะจงเฉพาะในอุตสาหกรรม Healthcare จึงมีความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้กองทุนยังลงทุนกระจุกในสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้ลงทุนสามารถพิจารณากระจายการลงทุนในกองทุนเหล่านี้ พร้อมกับกองทุนประเภทอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

ตัวอย่างความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรมก็อย่างเช่น การเมืองสหรัฐฯ ที่พรรคการเมืองมักจะนำ Healthcare ไปเป็นนโยบายในการหาเสียง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างนโยบายก็เช่นการควบคุมราคายา/ราคาการบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงการเข้าไปอุดหนุนการดูแลสุขภาพต่างๆ ซึ่งกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทกลุ่ม Healthcare อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เราอาจจะเจอว่าผลการดำเนินงานของหุ้น Healthcare สหรัฐฯ นั้นจะผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ส่งท้ายด้วยคำอธิบายคำศัพท์เฉพาะ

  • Biopharma นี้แปลเป็นไทยคือยาชีวภาพ ซึ่งผลิตจากสิ่งมีชีวิตและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มักจะมาจากการใช้จุลินทรีย์และเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยยาชีวภาพที่น่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดคืออินซูลิน (สำหรับโรคเบาหวาน) และ โกรท ฮอร์โมน
  • ส่วน Medical Technology แปลไทยก็คือเทคนิคการแพทย์ คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น เครื่อง MRI อวัยวะเทียม แขนขาเทียม เป็นต้น
  • Biotechnology หรือเทคโนโลยีชีวภาพนั้นคือกระบวนการนำสิ่งมีชีวิต หรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ในแง่การแพทย์ก็อย่างเช่นการทำยาชีวภาพ สร้างวัคซีน สร้างชุดเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ

เพื่อนผู้ใจดี
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก AKN Blog

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

ข้อมูลอ้างอิง

*หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ และ Monthly Fund Update

BCARE: วันที่ 31 มีนาคม 2563
Wellington Global Health Care Equity Fund: วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ดูฉบับปัจจุบันได้ที่
BBLAM

KFHEALTH-A: วันที่ 29 พฤษภาคม 2563
JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund: วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ดูฉบับปัจจุบันได้ที่
Krungsri Asset

UOBSHC: วันที่ 29 พฤษภาคม 2563
United Global Healthcare Fund: ประจำเดือนพฤษภาคม 2563
ดูฉบับปัจจุบันได้ที่
UOBAM

KT-HEALTHCARE-A: วันที่ 29 พฤษภาคม 2563
Janus Global Life Sciences Fund: วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ดูฉบับปัจจุบันได้ที่ KTAM

ข้อมูลอื่น ๆ

https://mktpharma.wordpress.com/tag/biopharmaceutical-products/
http://www.healthcarebusinesstech.com/medical-technology/
https://en.wikipedia.org/wiki/UnitedHealth_Group
https://www.forbes.com/sites/brucejapsen/2020/01/15/unitedhealth-medicare-advantage-growth-strongest-ever/#1a940b4a5186
https://www.fiercehealthcare.com/payer/unitedhealth-projects-242b-2019-revenue-offers-2020-guidance-262b-revenue#:~:text=Payer-,UnitedHealth%20projects%20major%20revenue%20boost%20in%202020,back%20of%20continued%20Optum%20growth&text=UnitedHealth%20Group%20projected%20it%20will,top%2Dline%20growth%20in%202020.
https://www.prosofthcm.com/Article/Detail/16803
https://www.ig.com/en/news-and-trade-ideas/biotech-stocks–how-to-invest-and-the-best-companies-to-watch-200415

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน |  กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวด Healthcare  ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย |  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”

TSF2024