02_INVESTOR_OASIS_Template-Starbuck03

ลองนึกชื่อหุ้นหรือสินค้าระดับโลกที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้กัน ชนิดที่ว่ามี “แฟนพันธุ์แท้” ต้องเข้าใช้บริการไม่ว่าจะรูปแบบของการซื้อขายหรือขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันกันดู..

APPLE….สินค้าดี สาวกเหนียวแน่น ราคาหุ้นก็หล่อ
GOOGLE..โคตรบริษัทระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ สุดยอดแห่ง innovative company ที่พัฒนาจาก search engine ธรรมดาๆ ที่ตอนนี้กลายเป็นเหมือนแหล่งขุมทรัพย์ของเหล่าคนชอบค้นหาความรู้ทุกรูปแบบ
FACEBOOK…ใครเคยดูถูกพี่มาร์คเค้าไว้ ผมว่าตอนนี้ต้องคิดใหม่ให้หนักๆ ผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อม active user ระดับร้อยล้านพันล้านคนทั่วโลก ลองคิดภาพว่าวันไหน Facebook เกิดมลายหายขึ้นมา ผมว่าสะเทือนทุกหย่อมหญ้าแน่นอน ธุรกิจเล็กๆน้อยๆ ไปถึงใหญ่ที่โตจากช่องทางแห่งนี้ คงเครียด

…วันนี้กระผมนายวีคิด เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ขอนำเสนอหุ้นระดับโลกอีกตัวนึง ที่คนยังไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก หรือไม่ค่อยสังเกตราคาหุ้นตัวนี้กันเท่าไหร่…

หุ้นตัวนี้…หลายๆคนเสพย์ติดสินค้าของบริษัทแห่งนี้มากๆ เรียกได้ว่า วันไหนไม่ได้เสียตังค์ให้เจ้าสิ่งนี้ วันนั้นสมองคงไม่แล่น

..หุ้น SBUX หรือ STARBUCKS (สตาร์บัคส์) นั่นเองครับ..

เชื่อหรือไม่ว่าหุ้นตัวนี้ ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้ระดับที่เรียกว่า ดีโคตร ดีมาก ดีสุดๆ อีกตัวนึงเลยทีเดียว

มาลองดูประวัติคร่าวๆของหุ้นตัวผ่านโลโก้บนถ้วยกาแฟที่เปลี่ยนไปแล้วถึง 4 รูปแบบกันครับ

Starbucks-1024x546

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนโลโก้แต่ละครั้งของสตาร์บัคส์นั้น มีนัยยะสำคัญต่อบริษัทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลโก้ที่เริ่มใช้เมื่อปี 1992 ครับ…

ปี 1992 เป็นปีที่ Starbucks ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ โดยใช้ชื่อย่อเท่ห์ๆว่า SBUX (ผมเรียกหล่อๆว่า สะ-บั๊ค)

โดยราคา IPO (Initial Public Offering) ของหุ้น SBUX  ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2535 หรือ ปี ค.ศ. 1992 นั้น อยู่ที่ราคา 17 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อหุ้น (หรือ 0.27 เหรียญดอลล่าห์ต่อหุ้น หลังจากการแตกพาร์ทั้งหมด 6 ครั้งนับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นมาจนถึง ณ ปัจจุบัน) โดยราคาหุ้น SBUX ปิดที่ 21.50 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อหุ้น (หรือ 0.34 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อหุ้นหลังปรับพาร์ใหม่) ..แค่เริ่มต้นก็เปิดตัวหล่อเลยน่ะเรา!

มาดูกันว่า การแตกพาร์ทั้ง 6 ครั้งของหุ้น SBUX นั้นเป็นอย่างไรกันบ้างครับ

Starbucks-Stock-Split

คาดว่าเหตุผลที่มีการแตกพาร์ถึง 6 ครั้งนั้น คงเพราะต้องการเพิ่มสภาพคล่องในตัวหุ้น SBUX อาจจะจากความต้องการของนักลงทุนทั่วไปหรือแม้กระทั่งกองทุนต่างๆที่ต้องการเข้ามาถือหุ้น SBUX ในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะครับ

ถามว่าทำไมถึงต้องการซื้อเยอะ…มาลองดูราคาหุ้นตั้งแต่เข้าตลาดวันแรกเมื่อปี 1992 จนถึงปัจจุบัน (กราฟล่าสุด ณ วันที่ 6/11/2015)

Starbucks-Chart

..บอกเลยว่า…นี่มัน 1 ในโคตรหุ้นอีกตัวที่ควรค่าแก่การศึกษามากๆครับ…

คิดภาพแบบหล่อๆน่ะครับ…ถ้าเราถือ IPO หุ้นตัวนี้ที่ราคาหลังปรับพาร์ใหม่แล้วที่ 0.27 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อหุ้น แล้วยังไม่ขายจนถึงวันนี้…

แค่ในส่วนของส่วนต่างกำไรเพียวๆ (Capital Gain) ไม่นับพวกปันหุ้นหรือหุ้นฟรีต่างๆ

ณ ราคาปิดเมื่อวันที่ 6/11/2015 ที่ 61.97 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อหุ้น จะให้ผลตอบแทนแล้วทันทีราวๆ 22,951.85% (อ้างอิงตัวเลขจากกราฟที่ให้มาน่ะครับ)

ดูปากวีคิดน่ะครับ….สองหมื่นสองพันเก้าร้อยห้าสิบเอ็ดจุดแปดห้าเปอร์เซนต์!!!!!

ถือหุ้นทนๆ 23 ปี ได้ผลตอบแทนแบบนี้…ถ้ารู้แบบนี้น่ะ ถ้ารู้งี้ๆๆๆ ฮ่าๆ อย่าคิดมากครับ ของแบบนี้เอาเป็นบทเรียนเผื่อเราจะเจอหุ้นแนวนี้อีกในอนาคต ไม่เสียหายที่จะเรียนรู้จากมัน

มาดูเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นตัวนี้อยู่ในระดับ all time high ณ ปัจจุบันกันดีกว่าครับ (ความคิดเห็นส่วนตัวของผมน่ะครับ)

1) การจ่ายเงินปันผลที่แทบจะเรียกว่าผู้ถือหุ้นไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ (dividend yield ราวๆ 1.4%) เนื่องจากบริษัทมีนโยบายเอากำไรไปลงทุนต่อ (reinvestment) ในการขยายสาขาร้าน ซึ่งอันนี้ถึอว่าเป็นจุดแข็งอย่างนึงของบริษัท เพราะการขยายสาขานั้น นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

2) Brand Royalty อันนี้ถือว่าสำคัญ เพราะสาวกของกาแฟ Starbucks นั้น เรียกได้ว่า …พรึ่บ!!!  อันนี้จึงทำให้การมีสาขาเยอะของ Starbucks ไม่ต้องห่วงว่าจะรายได้หด เพราะยิ่งขยายสาขาเท่าไหร่ ยิ่งสร้างแฟนพันธุ์แท้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

3) การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ Starbucks สังเกตได้จากการปรับเปลี่ยนโลโก้ครั้งล่าสุดที่ตัดเอาคำว่า Starbucks และ Coffee ออกไป อันนี้เป็นเจตนาชัดเจนที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าบริษัทนั้นพร้อมที่จะทำอะไรที่มากกว่าเป็นเพียงร้านขายกาแฟ เราอาจจะเห็นสินค้าใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆดีๆ จาก Starbucks ในอนาคตอีกก็เป็นได้ครับ

4) งบการเงินที่แข็งแกร่งเสมอมาของบริษัทไม่ว่าจะในแง่ของยอดขาย กำไร ตัวเลขสำคัญทางการเงินต่างๆ ที่ออกมาในระดับที่ดีเลยทีเดียว จึงสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างดี อันนี้ก็เป็นอีกข้อที่สำคัญ เพราะบริษัทดีนั้น นอกจากราคาหุ้นจะต้องดีแล้ว งบการเงินควรจะต้องดีคู่กันไป (ไม่ใช่งบดี ราคาห่วย งบห่วย ราคาดี)

5) หลายคนอาจจะห่วงว่าการลงทุนขยายสาขาเยอะๆ จะนำมาซึ่งหนี้เงินกู้มหาศาลเช่นกัน อันนี้เรามาลองดูข้อมูลจาก http://investor.starbucks.com/phoenix.zhtml?c=99518&p=irol-faq#33639 ที่บอกเรื่อง debt rating ของหุ้น SBUX กันว่าสถาบันจัดอันดับดังๆนั้น เค้าให้ deb rating ของ SBUX อยู่ที่ระดับไหนบ้าง

S&P: A- (long-term rating) and A-2 (short-term rating)
Moody’s: A3 (long-term rating) and P2 (short-term rating)
Fitch: A- (long-term rating) and F2 (short-term rating)

เป็นไงครับ..อยู่ในระดับที่ไว้ใจได้เลยทีเดียว

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า หุ้นกาแฟระดับโลกตัวนี้ที่มี Market Cap ระดับ US$94,591 mn (นับตัวเลขไม่ไหว เยอะมากเหลือกัน) จะเป็นหุ้นเพชรเม็ดงามอีกตัวนึง ที่เราอาจจะหาจังหวะเข้าซื้อในยามที่ตลาด panic หรือเกิด crisis ในข้อแม้ที่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในแง่ของพื้นฐานบริษัทรวมไปถึงนโยบายการลงทุนของบริษัทครับ

บทความนี้ เป็นบทความแรกที่วีคิดลองเขียนขึ้นมาเกี่ยวกับหุ้นต่างประเทศลักษณะนี้ (ปกติกราฟเพียวๆ) คราวหน้าจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจกว่านี้เรื่อยๆครับ

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน!!

ขอบคุณที่ติดตามครับ

TSF2024