เมื่อวันที่ 15 ก.ย. Wharton Alumni Club จัด Dinner Talk โดย Gerald Baker บรรณาธิการบริหาร Wall Street Journal มีประเด็นน่าสนใจมาสรุปให้ฟังดังนี้ครับ
- ในฝั่ง Clinton พรรคเดโมแครตมีข้อได้เปรียบในแง่ฐานคะแนนเสียง โดยพรรคชนะคะแนน Popular Vote ในการเลือกตั้งจำนวน 5 ใน 6 ครั้งที่ผ่านมา และจากสถิติ เดโมแครตรักษาฐานคะแนน Electoral Votes จำนวน 244 ที่นั่งได้อย่างเหนียวแน่น (ผู้ชนะต้องได้มากกว่า 270 ที่นั่ง) ในขณะที่พรรครีพับริกันของ Trump มีฐานคะแนนเพียง 110 ที่นั่ง ประกอบกับพรรคเดโมแครตเป็นที่นิยมของทุกกลุ่มที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่โตขึ้นเรื่อยๆ ตามโครงสร้างประชากรสหรัฐฯ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดย Trump ได้คะแนนจากคน Hispanic เพียง 15% เท่านั้น
- อย่างไรก็ดี ความเสียเปรียบของ Clinton คือ กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง (Desire for Change) โดยสถิติในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา มีเพียงครั้งเดียวที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เป็นประธานาธิบดี 3 สมัยติดกัน นอกนั้นพรรคจะได้ครองอำนาจอย่างมากสุดคือ 2 สมัย … ที่ผ่านมาโอบาม่าจากเดโมแครตอยู่มา 2 สมัยแล้ว จึงมีแนวโน้มสูงที่คนจะเลือกรีพับริกันเพียงเพื่อต้องการเปลี่ยนพรรคการเมือง
- สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นทั้งๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวหลังวิกฤตแล้วเติบโตยาวนานหลายปี แต่จากสถิติพบว่า รอบนี้เป็นการฟื้นตัวที่ช้าที่สุด (The Weakest Recovery) โดยเศรษฐกิจโตเพียง 2% เท่านั้น คนอเมริกันจำนวนมากรู้สึกว่า ประโยชน์ของการฟื้นตัวไปตกอยู่กับกลุ่มคนรวย และรู้สึกว่า สหรัฐฯ มีฐานะที่ “ด้อย” ลง ทั้งในและต่างประเทศ กำลังโดนจีนและรัสเซียแซงหน้า ผลโพลบอกว่า 73% ของคนอเมริกันมองว่าประเทศกำลังก้าวเดินผิดทาง (US is in the wrong track) ซึ่ง Trump หาเสียงโดยเกาะกระแสนี้ วาดภาพว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอ คนตกงานเยอะ (ทั้งๆ ที่อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบหลายปี) ใช้คำพูดที่ “โดนใจ” คน มีผลโพลระบุว่า 75% ของคนที่ฟัง Trump เห็นด้วยกับสิ่งที่เค้าพูด ในขณะที่ Clinton หาเสียงในภาพค่อนข้างบวก เศรษฐกิจอเมริกาดีแล้ว ฯลฯ ผลโพลบอกว่า มีเพียง 35% เท่านั้นที่เห็นคล้อยตามเธอ
- เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่แคนดิเดททั้ง 2 คนโดนกระแส “ไม่ชอบ” สูงมาก ผลโพลบอกว่า คน 56% ไม่ชอบ Clinton อาจจะเลือก Trump และ 63% ไม่ชอบ Trump จึงอาจจะหันไปเลือก Clinton … เมื่อถูกถามว่า เวลาคิดถึง Trump จะนึกถึงอะไร คนตอบว่านึกถึง “ความหวาดกลัว, อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย, ไม่น่าเชื่อถือ, อยากหนีไปอยู่แคนาดา” และเมื่อถูกถามถึง Clinton คนตอบว่านึกถึง “การโกหก, ล้อมรอบด้วยคนโกง, อยากหนีไปอยู่แคนาดา” …เอาละสิ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี คนอเมริกันก็อยากหนีไปอยู่แคนาดา !!!
- การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีส่วนคล้าย Brexit คือ มีกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ การค้าระหว่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Anti-globalization, anti-trade, anti-immigration) เพราะคนมองว่า แรงงานต่างชาติมาแย่งงานของคนท้องถิ่น ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ก็ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ทำให้คนอเมริกันมีงานทำน้อยลง Trump พยายามปลุกปั่นกระแสรักชาติ ต่อต้านการค้าระหว่างประเทศ ประกาศนโยบายจ้างงาน 10 ล้านตำแหน่งเพื่อเน้นการผลิตในประเทศ กล่าวหาว่า จีนและเม็กซิโกเอาเปรียบสหรัฐฯ สิ่งที่น่าห่วงคือ ทั้ง Clinton และ Trump หาเสียงว่าจะไม่สนับสนุน TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลง
- อีกส่วนที่จะคล้าย Brexit คือ ผลคะแนนจะสูสีมาก ในระยะหลัง Clinton นำเพียง 2% เท่านั้น การทายผลจึงทำได้ยาก นอกจากนี้ ให้จับตาดูแคนดิเดทรายที่ 3 คือ Gary Johnson ขณะนี้ได้คะแนนประมาณ 10-12% นับว่าสูงอยู่ และอาจจะเป็น Gary นี่แหละที่ชี้ชะตาผู้ชนะ ย้อนไปครั้งหนึ่ง Al Gore แพ้ที่รัฐ Florida เพียง 500 คะแนน เพียงเพราะโดยผู้สมัครรายที่ 3 แย่งคะแนนไป Dickinson Law เขียนเกี่ยวกับหัวข้อนี้
- เรื่องแปลกก็คือ แม้กระแสจะต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” แต่กลับเป็นการเลือกประธานาธิบดีที่อายุมากทั้งคู่ หาก Trump ชนะ จะเป็น ปธน.ที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (70 ปี) หาก Clinton (68 ปี) ก็จะมาเป็นอันดับ 2 รองจาก Ronald Reagan
เรียบเรียงโดย วิน พรหมแพทย์, CFA
ที่มา : https://www.facebook.com/wininvestingpro/posts/1086541261454045:0