10 thing before 35-2

คำแนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน เพื่อความมั่นคงของตัวเองและครอบครัวครับ

  1. ศึกษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ ทั้งสิทธิที่ได้จากกองทุนประกันสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาลจากการประกันกลุ่มที่บริษัทมีให้ ดูว่าเราได้รับการคุ้มครองครบถ้วนหรือยัง ไม่ส่วนใดที่ขาดไปก็ต้องดูเพิ่มเติม
  2. ทำประกันให้ครอบคลุม อย่ามัวแต่โฟกัสที่ “ประกันสุขภาพ” แล้วมองข้ามความสำคัญของ “ประกันอุบัติเหตุ” และ “ประกันชีวิต” เมื่อเราอายุน้อย “สินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด คือ ตัวเราเอง” ลองคิดว่าหากเกิดอุบัติเหตุจนทุพพลภาพ เราจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร หรือหากเสียชีวิต ใครจะดูแลพ่อแม่และครอบครัวของเรา
  3. เพิ่มเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว เปิดให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมทบเพิ่มได้ (สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน) โดยนายจ้างไม่ต้องเพิ่มตาม บางคนอาจจะเกี่ยงงอนอยากสมทบเท่านายจ้าง แต่นี่คือ “เงินออม” ของตัวเราเอง ยิ่งออมมากก็ยิ่งมีความมั่นคงทางการเงินมาก เงินสมทบนี้นำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  4. ออมเพิ่มผ่านกองทุน LTF/RMF เป็นช่องทางการออมและการลงทุนระยะยาว อายุเรายังน้อย การลงทุนในหุ้นผ่าน LTF/RMF ตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้เงินออมโตเร็ว และยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  5. หาความรู้เรื่องการลงทุนติดตัว บางคนเก็บเงินเก่งมาก แต่ “ลงทุน” ไม่เป็น เก็บได้เท่าไหร่ก็ฝากธนาคารอย่างเดียว ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย เงินออมโตช้ามาก ควรหาความรู้เรื่องการลงทุน ทำให้เงินออมโตเร็วในระยะยาว สำหรับคนที่มีงานประจำและไม่มีเวลา แนะนำให้ออมเงินผ่าน “กองทุนรวม” ยกให้มืออาชีพบริหารเงินแทนเราดีกว่าครับ
  6. เตรียมเก็บเงินก้อนสำหรับการซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน หรือ รถ อย่างน้อย “เงินดาวน์” ควรเป็นเงินที่เราเก็บเอง เพราะถ้ากู้เงินมาดาวน์ด้วย เราจะเป็นหนี้ซ้ำซ้อน ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อีกอัน คือ ค่าเล่าเรียนลูก ควรเตรียมเก็บไว้เลย
  7. คิดให้รอบคอบก่อนจะเรียนต่อปริญญาโท อย่าเรียนเพียงหวังใบปริญญา แต่ควรเรียนเพื่อต่อยอดความรู้สำหรับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเรียนเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อนใหม่ หากฐานะการเงินยังไม่มั่นคง ควรเลือกเรียนหลักสูตร part-time ที่ช่วยให้เราสามารถเรียนไปและทำงานไปได้
  8. อย่าเอาอย่างเพื่อน เห็นเพื่อนที่ออฟฟิศซื้อจักรยานราคาแพงมาก็อยากได้บ้าง หรือเห็นเพื่อนบ้านไปเที่ยวยุโรปทุกปีก็อยากไปบ้าง ให้เตือนตัวเองเสมอว่า ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน และอย่าลืมว่า เพื่อนบางคนมันก็ทำไปเพราะอยากอวด แต่เบื้องหลังมันก็เป็นหนี้หัวโตเหมือนกัน  https://site.co.tz/
  9. ตกลงกับแฟนเรื่องเงินให้ชัดเจนตั้งแต่ “ก่อน” แต่งงาน โดยธรรมชาติคู่สมรสส่วนมากจะมีรายได้หรือฐานะทางการเงินไม่เท่ากัน หากไม่ตกลงกันตั้งแต่แรกแล้วไปคาดหวังว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเท่ากัน จะทำให้เกิดทะเลาะกันได้ เราจึงควรคุยกับแฟนให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนแต่งงานว่า ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไร ใครจะผ่อนบ้าน ใครจะผ่อนรถ แล้วควรจะมีเงินตรงกลางที่เป็นค่าใช้จ่ายร่วมกันของครอบครัว
  10. อย่า “ทุ่ม” กับลูกคนแรกมากเกินไป ธรรมชาติของพ่อแม่ทุกคนที่จะ “เห่อ” ลูกคนแรก อยากดูแลอย่างดีที่สุด อยากซื้อเสื้อผ้า ของเล่น และของใช้ส่วนตัวอย่างดีให้ลูก แม้จะตั้งใจมีลูกคนเดียว แต่อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายของลูกยังจะตามมาอีกมหาศาลกว่าเค้าจะเรียนจบมีงานทำและมีรายได้ของตัวเอง

เขียนโดย วิน พรหมแพทย์, CFA โดยเรียบเรียงจาก http://www.businessinsider.com แต่ดัดแปลงให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น

TSF2024