ไม่ว่ายุคสมัยไหน ประเด็นเรื่องการสร้างเงินสร้างรายได้ ยังเป็นหัวข้อที่คนเราพูดคุยกันมากที่สุด ไม่ใช่เพราะเงินสำคัญที่สุด แต่เพราะทุกจังหวะของชีวิตต้องใช้เงิน ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น แต่การทำงานซึ่งเปรียบไปก็คล้ายการวิ่งระยะไกลนั้น กลับไม่ใช่หลักประกันความมั่นคง ทั้งๆ ที่คนเราใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตไปกับการหาเงิน
- บางคนทำงานเหนื่อยทั้งชีวิต ตอนเกษียณกลับไม่มีชีวิตแบบที่อยากเป็น
- บางคนใช้เงินเก็บทั้งชีวิตหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล เพราะเจ็บป่วยจากการทำงานหนักบางคนส่งลูกเรียนจนจบ แต่ไม่มีเงินพอที่จะเกษียณตัวเองได้
- ขณะที่บางคนเก็บเงินทั้งชีวิต แต่ก็ยังเกษียณไม่ได้ ยังพักไม่ได้เสียที
ตัวอย่างเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนหนังม้วนเก่าที่ฉายเวียนวนไม่รู้จบ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็ตาม
ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นหนึ่งในตัวละครที่ต้องรับบทซ้ำกับฉากชีวิตตัวอย่างข้างต้น หัวใจสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ ความมั่นคงทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเราหาเงินได้มากเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารเงินที่หามาให้อยู่กับเรานานที่สุดได้อย่างไร คีย์เวิร์ดคือความมั่นคงและยาวนาน ซึ่งหมายความว่าต้องเริ่มจากฐานรากที่แข็งแรง
ถ้าการทำงานหาเงินเพื่อใช้หล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวเปรียบเหมือนการสร้างบ้านสักหลัง สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดก่อนลงเงินไปกับวัสดุหรือค่าใช้จ่ายใดๆ คือการออกแบบบ้านให้ตรงใจเสียก่อน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบ้านที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่กันอย่างสุขสบาย แต่ละมุมแต่ละห้องสอดคล้องกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ เรียกว่าเป็นบ้านในฝันที่มั่นคงทั้งโครงสร้าง รองรับรูปแบบการใช้ชีวิต และสวยงามน่าอยู่ คุ้มค่ากับเวลาและเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ทุ่มเทลงไป เป็นบ้านที่เราอยากอยู่ไปตลอดชีวิต ไม่ใช่บ้านที่ต้องทนอยู่ไปทั้งชีวิต
การพักอาศัยในบ้านแบบที่เราชอบก็เช่นเดียวกับการวางแผนการเงินในแบบที่เราเลือก ถ้าการสร้างบ้านเริ่มจากการว่าจ้างสถาปนิกให้ออกแบบตามความชอบและรูปแบบการใช้ชีวิต
การวางแผนการเงินก็จำเป็นต้องมีสถาปนิกทางการเงินช่วยออกแบบการเงินตามความต้องการ เป้าหมาย และไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัวเช่นกัน
เป็นการออกแบบการเงินเฉพาะแต่ละคน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ ซึ่งการออกแบบการเงินรายบุคคลเช่นนี้ ย่อมแตกต่างจากการเดินเข้าธนาคารนู้น แล้วออกธนาคารนี้เพื่อหาซื้อกองทุน หุ้นกู้ หรือประกัน และพอเอาเข้าจริงก็ยังมองไม่เห็นภาพเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง เปรียบไปก็คล้ายการเดินหาซื้อกระเบื้อง ฝักบัว หรือก๊อกน้ำอย่างไร้ทิศทางโดยยังไม่มีแบบบ้าน วัสดุที่ซื้อมาอาจไม่เข้ากับดีไซน์หรือการใช้งาน จนอาจกลายเป็นเสียเงินฟรีในที่สุด
การบริหารเงินในกองทุน หุ้นกู้ หรือประกัน ที่สถาบันการเงินเสนอขาย ไม่ใช่ไม่ดี แต่สินค้าทางการเงินเหล่านี้แม้จะออกแบบมากว้างๆ สำหรับทุกคน แต่ “ความทั่วไป” อาจไม่ตอบโจทย์ตามเป้าประสงค์ทางการเงินของเราโดยตรง ลองนึกภาพการเลือกซื้อบ้านจากโครงการบ้านจัดสรร กับบ้านที่มีสถาปนิกออกแบบให้เราโดยตรง ความสวยงาม อยู่สบาย และความสุขของการอยู่อาศัยย่อมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คำว่า “สถาปนิกทางการเงิน” เกิดขึ้นจากเป้าหมายที่ผมอยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจระบบการทำงานของที่ปรึกษาทางการเงินอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้เสนอขายกองทุน ประกัน หรือสินค้าการเงินของสถาบันแห่งใดเพียงแห่งเดียวเป็นหลัก แต่คือการออกแบบการบริหารเงินตามเป้าหมายทางการเงินให้เหมาะสมทั้งตามจำนวนเงิน สินทรัพย์ อายุ อาชีพ ความเสี่ยง และระดับความรู้ความเข้าใจของลูกค้า แล้วจึงนำเสนอทางเลือกหลายทางเพื่อให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือกสินค้าทางการเงินที่ตรงใจตัวเองมากที่สุด และในระหว่างการก่อสร้าง (เริ่มลงเงิน) ต้องดูแลความคืบหน้าว่าตรงตามแผนที่ออกแบบไว้หรือไม่ ไม่ใช่ออกแบบเสร็จ รับเงิน แล้วแยกย้ายกันไป
คำถามคือสถาปนิกทางการเงินซึ่งทำหน้าที่วางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงิน ได้รายได้จากไหน มีค่าออกแบบหรือไม่
คำตอบคือมี
สถาปนิกได้ค่าออกแบบบ้านตามวิชาชีพกรณีลูกค้าต้องการเพียงแบบบ้าน แต่ว่าจ้างผู้รับเหมาและดูแลการก่อสร้างเอง กับอีกกรณีเรียกว่า Turnkey Service คือเหมาค่าออกแบบและก่อสร้าง
เช่นเดียวกับสถาปนิกทางการเงินนั้นได้ค่าออกแบบ หากต้องการแบบในการนำทางไปสู่เป้าหมายทางการเงินและนำไปปรับใช้เอง และส่วนของ Turnkey Service จะได้รับเป็นส่วนคอมมิชชั่นจากสินค้าการเงินที่ลูกค้าเลือกซื้อโดยตรง เมื่อลูกค้าลงทุนในสินค้าที่ออกแบบไว้ผ่านสถาปนิก โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าออกแบบหรือค่าธรรมเนียมใดๆ เพิ่มเติมอีก
พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการเก็บเงินซ้ำซ้อนอย่างที่กลัวกัน สถาปนิกทางการเงินจึงไม่ใช่นักขายสินค้าทางการเงิน แต่เป็นผู้ช่วยวางแผนความมั่งคั่งให้ลูกค้า หากสถาปนิกออกแบบบ้านให้ลูกค้าอยู่สุขสบาย สถาปนิกทางการเงินก็เป็นผู้ออกแบบพอร์ตให้ลูกค้ามีหลักประกันที่มั่นคงและอุ่นใจ