หลายคนคงรู้จักหลักการจัดพอร์ตตามความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น เป็นคนรับความเสี่ยงได้สูง ก็ลงทุนพอร์ตแบบเสี่ยงสูง คือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงพวกหุ้นได้เยอะ แต่ถ้าเป็นคนรับความเสี่ยงได้ต่ำก็จะต้องลงทุนพอร์ตแบบเสี่ยงต่ำ คือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงพวกหุ้นได้น้อย แต่ว่าการจัดพอร์ตลงทุน ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพียงพอจริงหรือไม่ ?
นอกจากปัจจัยเรื่อง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ วันนี้ผมมีอีก 3 ปัจจัยหลักที่นำมาพิจารณาในการจัดพอร์ตลงทุน
1. ความพร้อมในการรับความเสี่ยง
หากเรามีสถานะการเงินดี หนี้สินน้อย สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในยามปกติ และ มีหน้าที่การงานรวมทั้งรายได้มั่นคงและเติบโตอย่างสม่ำเสมอ นับได้ว่ามีความพร้อมในการรับความเสี่ยงสูง เราสามารถที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นได้เยอะ เนื่องจากถ้าหุ้นขาดทุน หรือ ราคาปรับลดตัวลง เราจะไม่เดือดร้อนมาก
ในทางกลับกัน ถ้าเรายังมีหนี้สินอยู่เยอะ เงินสดสภาพคล่องน้อย ก็นับว่ายังไม่มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงสูง ถ้าเราลงทุนใน สินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นเยอะ เราอาจจะเดือนร้อนได้ถ้าหุ้นขาดทุน หรือ ราคาปรับลดตัวลง เราอาจจำเป็นต้องขายขาดทุนเพื่อนำเงินมาชำระหนี้
และที่สำคัญ ต้องมีแผนปกป้องความเสี่ยงที่จะมามีผลกระทบเงิน เช่น การเจ็บป่วย เราก็ควรจะมีแผนประกันสุขภาพ เพราะระหว่างที่ลงทุน ถ้าเราลงทุนพอร์ตความเสี่ยงสูง เกิดเจ็บป่วยต้องการใช้เงิน เราอาจจำเป็นต้องดึงเงินลงทุนมาใช้ ถ้าขณะนั้นราคาหุ้นลดลง เราอาจจำเป็นต้องขายขาดทุนเพื่อนำเงินมา ชำระค่ารักษาพยาบาล
2. เป้าหมายทางการเงิน
เป้าหมายให้เงินลงทุนเติบโต เช่น การศึกษาบุตร หรือเกษียณอายุ ก็จัดพอร์ตแบบเสี่ยงสูงได้ แต่ถ้าเป้าหมายสร้างกระแสเงินสด เช่นเพื่อใช้หลังเกษียณ ก็จัดพอร์ตแบบเสี่ยงระดับกลาง หรือถ้าต้องการปกป้องเงิน ก็อาจจะจัดพอร์ตแบบเสี่ยงต่ำ
3. ระยะเวลาของเป้าหมาย
หากระยะเวลาของเป้าหมายยาว เช่นการเกษียณอายุ อีก 20 ปี เราก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเช่นหุ้น ได้สัดส่วนที่เยอะได้ แต่ถ้าระยะเวลาเป้าหมายสั้น เช่น เก็บเงินดาวน์บ้านอีก 2 ปี ก็ให้เราเก็บเงินไว้ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำให้เยอะ คือยิ่งระยะเวลาเป้าหมายยาว ก็ยิ่งสามารถจัดพอร์ตแบบเสี่ยงสูงได้
ตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้งาน
นาย ก อายุ 35 ปี ต้องการเกษียณอายุ 60 ปี รับความเสี่ยงได้ปานกลาง
1) ความพร้อมในการรับความเสี่ยง
- มีเงินสดมากกว่า 10 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
- อัตราผ่อนหนี้สินต่างๆ อยู่ที่ 20% ของรายได้ต่อเดือน
- มีแผนประกันสำหรับสุขภาพ
แสดงว่า มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงได้ดี
2) ความสำคัญของเป้าหมายทางการเงิน
- เป็นเรื่องเกษียณ เน้นเรื่องเงินเติบโต
3) ระยะเวลาของเป้าหมาย
- เป้าหมายของนาย ก อีก 25 ปีจะต้องใช้เงิน เป็นเป้าหมายระยะยาวเกิน 10 ปี
แม้ว่า นาย ก จะรับความเสี่ยงได้ปานกลาง แต่ นาย ก มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงและระยะเวลาของเป้าหมาย “ยาว” เป็นเป้าหมายระยะยาว เป้าหมายการเงินเน้นการเติบโต ดังนั้น นาย ก ย่อมสามารถจัดพอร์ตการลงทุนแบบเสี่ยงสูงได้
นาย ข อายุ 25 ปี ต้องการเก็บเงิน 500,000 บาท เป็นค่าดาวน์บ้านอีก 2 ปีข้างหน้า รับความเสี่ยงได้สูง
1) ความพร้อมในการรับความเสี่ยง
- มีเงินสดมากกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
- อัตราผ่อนหนี้สินต่างๆ อยู่ที่ 10% ของรายได้ต่อเดือน
- มีแผนประกันสำหรับสุขภาพ
แสดงว่า มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงได้ดี
2) ความสำคัญของเป้าหมายทางการเงิน
- เน้นปกป้องเงินต้น
3) ระยะเวลาของเป้าหมาย
- เป้าหมายของนาย ข อีก 2 ปีจะต้องใช้เงิน เป็นเป้าหมายระยะ”สั้น”
แม้ว่า นาย ข จะรับความเสี่ยงได้สูง และนอกจากนี้ นาย ข มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงได้ แต่ความสำคัญของเป้าหมายสำคัญ แต่ระยะเวลาของเป้าหมาย “สั้น” และเป้าหมายเน้นเรื่องการปกป้องเงิน ดังนั้น นาย ข ควรจัดพอร์ตการลงทุนแบบเสี่ยงต่ำ
คุณละ จัดพอร์ตการลงทุนแบบใด?
ยังคงจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อย่างเดียวหรือไม่ ?
โดย WealthGuru