จริงหรือไม่ นักลงทุนต้อง IQ ดี
จริงหรือไม่ นักลงทุนต้องเทิคนิคอันซับซ้อนเพื่อให้ได้ผลตอบดี
ในธรรมะข้อแรก จากบทความครั้งที่แล้ว คือ อิทธิบาท 4 กระบวนการสร้างความสำเร็จ
ก็มาถึงข้อที่ 2 ใน 5 ข้อของธรรมะเพื่อการลงทุนอย่างมีความสุข ขอเริ่มกันเลยนะครับ
ข้อที่ 2 ปัญญา 3 ประการ ที่สร้างความสำเร็จที่สุดในชีวิต
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจความหมายของปัญญากันก่อน…
ปัญญา นั้นหมายถึง ความฉลาด รอบรู้ ความเข้าใจชัดในสิ่งต่าง ๆ
ซึ่งเป็นความรู้ทั่วถึงเหตุผล รู้อย่างชัดเจนในบาปบุญคุณโทษ รู้วิชา รู้จัึกกาลเทศะ ผู้มีปัญญานั้นไม่จำเป็นว่าจะเป็นว่าจะเป็นคนรวย หน้าตาดี ฐานะดี จบการศึกษาสูง ที่มี IQ (สติปัญญา) สูง
จริงๆ แล้วคนธรรมดาอย่างท่านทั้งหลาย หรือคนที่จบป.4 ก็สามารถเป็นผู้มีปัญญาทั้งในด้าน IQ และความฉลาดทางอารมณ์ EQ ได้เช่นเดียวกัน
ผู้มีปัญญา นั้นจะประกอบการพัฒนาปัญญา 3 ประการ ซึ่งนำไปสู่การเป็นผู้มีปัญญาสูงสุดได้
1. สุตมยปัญญา
เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ฟัง ได้อ่าน ได้เรียนรู้เรื่องราวจากปัญญาของผู้อื่น เช่น นักลงทุนเรียนรู้การ investment จากกูรูต่างๆ แต่ละแนวแบบ Value Investment , Momentum Trade
บ้างครั้งนักลงทุนได้รายชื่อหุ้นจาก page หรือ นักวิเคราะห์ต่างๆ ลำพัง สุตมยปัญญา ไม่อาจทำให้ชนะตลาดและทำกำไรได้มาก เพราะ สุตมยปัญญา คือการเชื่อ แต่ไม่ได้คิดวิเคราะห์
ทำให้บ่อยครั้งนักลงทุนหลงผิดว่า ทำไมนักลงทุนก็ใช้วิธีแบบ VI หรือ trend following ตามที่นักวิเคราะห์ หรือ กูรูบอก ก็ยังแพ้ตลาด ขาดทุน
2. จินตมยปัญญา
เป็นปัญญาที่เกิดจาการเอาสุตมยปัญญาที่ได้เรียนรู้ มาพิจารณาดูว่ามีเหตุผลควรเชื่อถือได้หรือไม่ เราเริ่มนำวิธีต่างๆ ที่เรียนรู้มาพิจารณาดูว่ามีเหตุผลควรเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น…
พิจารณาหุ้นที่นักวิเคราะห์ บอกว่าดีนั้น ดีจริงไหม ?
พิจารณาหุ้นที่นักกูรูตาม page ต่างๆ บอกว่าดีนั้น ดีจริงไหม ?
พิจารณาว่าการลงทุนแบบ Value Investment ดีจริงไหม มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ?
พิจารณาว่าการลงทุนแบบ Technical Analysis ดีจริงไหม มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ?
3. ภาวนามยปัญญา
เป็นปัญญาที่เกิดจาการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก สุตมยปัญญา และจิตมยปัญญา ซึ่งจะเป็นไปในรูปแบบของการ รู้ – คิด – ทำ
ขั้นนี้ เราเริ่มนำวิธีที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือดี นำมาทำปฏิบัติดูว่า แบบไหนเหมาะกับเรานำปัญญาความรู้จากคนอื่น นำมาพัฒนาเป็นแบบฉบับของตัวเอง
การใช้ภาวนามยปัญญา ต้องมาคู่กับความเพียร เพราะกว่าเราจะพบวิธีการที่เป็นแบบของเราอาจจะต้องเวลา ซึ่งจะต้องอดทน เช่น Warren Buffett นำวิธีการของ เบนจามิน เกรแฮม และ ฟิลิป ฟิชเชอร์ มาปรับประยุกต์เข้าด้วยกัน หรือ Mark Minervini ก็นำวิธีของ CANSLIM มาประยุกต์
ผมขอยกตัวอย่าง
มีนักลงทุนท่านหนึ่ง post ใน Pantip ว่า ทำอย่างไรดีติดหุ้น ECL ที่ประมาณ 4.5 บาท
เพราะไปเชื่อนักวิเคราะห์ที่บอกว่า ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 8 บาท
เห็นได้ว่า นักลงทุนท่านนี้ จะใช้แค่เพียง สุตมยปัญญา เท่านั้นในการซื้อหุ้น
คือใช้ความเชื่อกูรู แล้วซื้อ
นักลงทุนท่านนี้อาจจะพัฒนาตัวเองโดยการใช้ จินตมยปัญญา ในการอ่านบทวิเคราะห์ว่า มีเหตุผลหรือไม่ที่ราคาเป้าหมายจะถึง 8 บาท อะไรเป็นสมมติฐานที่ใช้คำนวณ เช่น ขนาดของสินเชื่อ และ PE ที่ใช้
แต่การวิเคราะห์และคำนวณได้ดี จะต้องมาจาก ภาวนามยปัญญา คือจะต้องมีประสบการณ์ในการทำ valuation ประสบการณ์ผิดถูกจะสอน
ดังนั้นการพัฒนาปัญญาของการลงทุนนั้นเราต้องใช้ปัญญาทั้ง 3 ประการนี้ด้วยกัน
เพราะถ้ามีแต่ “สุตมยปัญญา” นั้นท้ายทีสุดแล้วจะเป็นผู้หลงในความรู้เท่านั้น
เพราะถ้ามีแต่ “จิตมยปัญญา” กับ “สุตมยปัญญา” นั้นท้ายที่สุดแล้วจะเป็นผู้ยึดติดในอัตตา ว่าตัวนี้เป็นผู้มีปัญญามาพอแล้ว
มีอิทธิบาท 4 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนอย่างมีความสุข
มีปัญญา 3 ประการ ที่สร้างความสำเร็จในการลงทุน
สมพจน์ พัดสุวรรณ
Wealthguru