Index-Fund02

คำถามยอดฮิตของ “ว่าที่นักลงทุน” ในยุคปัจจุบันก็คือ…จะเริ่มต้นยังไงดี?

เงินน่ะมี…
ข้อดี (ของหุ้น) ก็รู้
แต่จะให้ทำอะไรก่อน-หลัง?
งงไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก…
หลายคำถาม หลากข้อสงสัย ที่ไม่มีคำตอบใดใช้ได้กับทุกคนเช่นนี้ คำตอบที่ได้ย่อมต่างออกไป…
อยู่ที่ใครเป็นผู้ตอบคำถาม 😉
ในฐานะมนุษย์บ้ากองทุนรวมคนหนึ่ง (ไม่ใช่ ‘มนุษย์ป้า’ นะ 55) เมื่อมีคนมาถามว่า ถ้าจะลงทุนควรเริ่มยังไง…สิ่งที่ตอบไปอย่างมั่นใจคืออยากให้ใช้ “กองทุนดัชนี”

คำแนะนำของผมง่ายมาก…
แบ่งเงินลงทุน 10% ไว้ในตราสารหนี้ระยะสั้น
และอีก 90% ใน “กองทุนดัชนี” ที่มีต้นทุนต่ำๆ

ผมเชื่อว่านโยบายการลงทุนนี้…
จะทำให้ “ผลของการลงทุนระยะยาวดีกับนักลงทุนส่วนใหญ่”
และดีกว่าบรรดานักลงทุนสถาบันที่เก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ

Warren Buffett-


 

จริงๆ แล้ว “กองทุนรวม” สามารถแบ่งสไตล์การลงทุนกว้างๆ ได้เป็น 2 รูปแบบคือ

  1. Active คือการลงทุนที่มีเป้าหมาย “เอาชนะ” ตลาด ดัชนี หรือ อุตสาหกรรม ที่เป็นตัวเปรียบเทียบ
  2. Passive คือการลงทุนเพียงเพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้ “ล้อไปกับ” ตลาด ดัชนี หรือ อุตสาหกรรม ที่เป็นตัวเปรียบเทียบ

ซึ่ง “กองทุนดัชนี” ถือเป็นการลงทุนแบบ Passive อย่างเช่น กองทุนดัชนี SET50 ในบ้านเราก็จะมีเป้าหมายการลงทุนคือ “ทำผลตอบแทนให้ล้อไปกับดัชนี SET 50”

กองทุนนั้นอาจลงทุนหุ้นทั้ง 50 ตัวเหมือนดัชนี SET 50 เป๊ะ หรือไม่ก็อาจลงทุนในหุ้นบางตัว เพื่อให้ได้สัดส่วน เท่าๆ กับดัชนี SET 50

หากคุณกำลังตั้งคำถามว่า…แล้วมันดียังไง? ทำไมต้องเริ่มที่กองทุนแบบนี้?
3 ข้อนี้คือคำอธิบาย (เข้าใจง่าย, กระจายการลงทุน, ค่าธรรมเนียมต่ำ)

เข้าใจง่าย (+)

Warren Buffett และ Bill Gates พูดเสมอว่า จงทำเรื่องเงินให้ ‘ง่าย’ เข้าไว้ เพราะถ้ายากก็คงไม่มีใครอยากลงมือทำ

ความง่ายของ “กองทุนดัชนี SET 50″ ก็คือหากเราอยากรู้ว่ากองทุนรวมที่เราใส่เงินเข้าไปลงทุนเป็นอย่างไร…ก็ดูได้จาก “ดัชนี SET 50” ทึ่มีรายงานตลอดเวลาผ่านช่องทางต่างๆ และผลการดำเนินงานของกองทุนก็มักจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของดัชนี

ขณะที่กองทุนหุ้นประเภทอื่น หรือหุ้นรายตัวที่เราลงทุนเองอาจไม่ได้ล้อไปตามดัชนี เนื่องจากนโยบายการลงทุน หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ ‘ว่าที่นักลงทุน’ สับสน งงงวย ไม่เข้าใจ กระทั่งตัดสินใจผิดๆ ถูกๆ ไปโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนั้นหุ้นที่อยู่ใน “กองทุนดัชนี SET 50″ ก็คือ 50 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักดี ซื้อสินค้าหรือใช้บริการเป็นประจำ และนั่นก็จะทำให้เรารู้ว่าเราถือหุ้นอะไรอยู่ หรือลงทุนเป็นเจ้าของกิจการอะไรบ้าง (อยากรู้ว่ามีบริษัทไหนลองเข้าไปดู ‘รายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี’ บนเว็บ www.set.or.th ได้เลย) ซึ่งจะมีการปรับหุ้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ทุกๆ 6 เดือน

กระจายการลงทุน (+)

‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน’ (พูดเร็วๆด้วย) ได้ยินประโยคนี้ทีไร ความมั่นใจลดลงทุกที แต่นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง เพราะคงไม่มีการลงทุนไหนให้ผลตอบแทนดีเลิศโดยปราศจากความเสี่ยง! (ถ้ามีกระซิบบอกเฟิร์นบ้างนะคะ ^^)

แต่เดี๋ยวก่อน…ความเสี่ยงที่ว่า เราเองก็บริการจัดการได้ง่ายๆ ด้วยการ “กระจายการลงทุน” เหมือนสุภาษิตที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าเดียวกัน” พูดง่ายๆ ก็คืออย่าทุ่มหมดหน้าตัก กับอะไรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

การซื้อหุ้นรายตัวก็เปรียบเสมือนเราใส่ไข่ทุกใบ (เงินทั้งหมด) ไว้ในตระกร้าเดียว (หุ้นตัวเดียว) ซึ่งความเสี่ยงย่อมสูงกว่าการกระจายเงินไปลงทุนหุ้น 50 ตัวใน “กองทุนดัชนี SET 50″ ยกเว้นแต่เรามีเงินมากพอที่จะซื้อหุ้นหลายๆ ตัวเพื่อกระจายการลงทุน หรือศึกษาข้อมูลมาแน่นพอที่จะทุ่มกับสุดยอดหุ้นเพียงไม่กี่ตัว…

แต่ถ้ามีเงินไม่มากนัก ความรู้ยังไม่แน่นพอ การใช้เงินจำนวนเท่ากันลงทุนใน “กองทุนดัชนี SET 50″ (บางกองทุนรวมเริ่มต้นที่ 1,000 บาท) ก็น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

ค่าธรรมเนียมต่ำ (+)

นี่คือข้อเด่นสำคัญของ “กองทุนดัชนี” บนโลกใบนี้ เพราะเมื่อลงทุนตาม (น้ำหนัก) ดัชนี ผู้จัดการกองทุนก็ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องเลือกหุ้นให้ปวดหัว หรือไม่ต้องมัวหากลยุทธ์ที่จะชนะตลาด เมื่อใช้พลังไม่เยอะ…ก็เลยไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมแยะ และจากค่าเฉลี่ย กองทุนดัชนี SET 50 ในบ้านเราประมาณ 10 กองทุน (ไม่นับรวมกองทุน LTF-RMF) ก็คิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 1% ขณะที่กองทุนหุ้นทั่วไปมีค่าธรรมเนียมที่มากกว่านั้น

แม้ว่าจะ ‘เข้าใจง่าย กระจายการลงทุน และค่าธรรมเนียมต่ำ’ แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ
“กองทุนดัชนี” ก็มี 2 ข้อด้อยที่เราควรรู้ไว้เช่นกัน (มั่นคงแต่เชื่องช้า, ไม่ใช่ผู้ชนะ)

มั่นคงแต่เชื่องช้า (-)

อย่างที่ทราบกันดีว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ มีความมั่นคงสูง รายได้สม่ำเสมอ ความเสี่ยงที่จะล้มละลายก็ต่ำ แต่นั่นก็เป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อย เพราะความใหญ่นี่เองที่ทำให้การเติบโตของบริษัทเหล่านี้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่โดดเด่นโตไวเหมือนหุ้นขนาดเล็ก หรือหุ้นขนาดกลาง (Small & Medium)

ดังนั้นในระยะ 1 ปีให้หลัง…แม้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะสดใส แต่หุ้นใหญ่ๆ ก็ไม่ค่อยขยับไปไหน เพราะบริษัทขนาดเล็กและกลางต่างหากที่เติบโตได้อย่างโดดเด่น และน่าสนใจ กระทั่งนานาบลจ. ต่างตบเท้าทยอยออกกองทุนประเภทนี้กันยกใหญ่ ซึ่งหากใครลงทุนใน กองทุนดัชนี SET 50 ไว้…อาจ “ไม่ได้ดั่งใจ” ก็เป็นได้

ไม่ใช่ผู้ชนะ (-)

เพราะเป้าหมายหลักของ “กองทุนดัชนี” คือการลงทุนเพื่อให้ไดเผลตอบแทน  “ล้อไปกับ” ตลาด ดัชนี หรืออุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากมากที่กองทุนประเภทนี้ จะโดดเด่น เด้งดึ๋ง เป็นที่หนึ่ง ชนะใครต่อใคร…

“ว่าที่นักลงทุน” จึงควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า หากรักจะลงทุนในกองทุนดัชนีแล้ว…จงอย่าหวังให้เขาทำผลงานโดดเด่น เฉกเช่นกองทุนที่มีเป้าหมาย “เอาชนะ” ตลาดอย่าง Active Fund เพราะเจ้า “กองทุนดัชนี” หาได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตอบวัตถุประสงค์นั้นไม่

รู้แบบนี้แล้ว…ลองช่างน้ำหนัก ข้อเด่น-ข้อด้อย ของ “กองทุนดัชนี” ดูว่าถูกจริตกับเราในฐานะ “เจ้าของเงิน” มากน้อยแค่ไหน…และถ้าคำตอบคือ “มันใช่อ่ะ” สัปดาห์หน้าเฟิร์นจะมาล้วง แคะ แกะ (แต่ไม่เกา) กองทุนดัชนี SET 50 ในเมืองไทยให้ดูว่า…กองไหนเจ๋งจริง!

บทความจาก www.set.or.th