สงสัยมั้ยว่ารายได้เราก็เพิ่มขึ้นทุกปี…นี่ก็สิ้นปี เดี๋ยวก็ได้โปรโมท แถมยังมีโบนัส งานจ๊อบมากมาย…แต่ทำไม ไม่รวยสักที?
หลังจากนั่งคิด เดินคิด ยืนคิด นอนคิด (จนเผลอหลับ) ก็พบว่า…
มี 3 สิ่งนี้แหละที่ทำให้เรา (ยัง) ไม่รวย แม้จะมีรายได้เยอะก็ตาม
1. ใช้ มากกว่า ที่หาได้ (มากขึ้น)
พอมีรายได้เยอะ ใครๆ ก็อยากมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กินดี อยู่ดี เที่ยวดี ใช้ของดี แต่ถ้าลองคิดคำนวณสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น กับเงินที่เราใช้มากขึ้นแล้วล่ะก็ จะเห็นชัดเลยว่าเรา ใช้เงินเยอะขึ้น “มากกว่า” รายได้ที่เพิ่มขึ้น
สมมติให้ฝั่งรายได้
…เงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท ได้ปรับขึ้นเป็น 33,000 บาท = เพิ่มขึ้น 10%
แต่รายจ่ายนี่สิ
…เดิมทานก๋วยเตี๋ยว 50 บาท เปลี่ยนเป็นราเมงชามละ 100 บาท = เพิ่มขึ้น 100%
…เดิมนั่งรถไฟฟ้า 50 บาท เปลี่ยนเป็น Taxi 75 บาท = เพิ่มขึ้น 50%
…เดิมซื้อเสื้อผ้าตลาดนัด 299 บาท เปลี่ยนเป็นมีแบรนด์ 900 บาท = เพิ่มขึ้น 200%
…เดิมใส่นาฬิกาทั่วไปหลักพัน บาท เปลี่ยนเป็นแบรนด์เนม หลักหมื่น ฯลฯ
เห็นมั้ยว่ารายได้เพิ่มขึ้น “นิดเดียว” แต่ใช้ชีวิตดีขึ้น “มหาศาล” นอกจากจะไม่มีเงินไปต่อยอดความรวยแล้ว ยังไปเบียดเบียนส่วนอื่นๆ อีกด้วย…จริงมั้ย?
**เคล็ดลับ**
คงคุณภาพชีวิตไว้ให้ใกล้เคียงกับระดับเดิมมากที่สุด แต่ที่ต้องเพิ่มเติมก็คือ “เงินออม + เงินลงทุน”
10% ที่เพิ่มขึ้นน่ะ เอาไป “ให้เงินทำงาน” ดีกว่าจะได้ไม่สงสัยว่า ทำไมไม่รวยสักที?
2. คิดเสมอว่า “ยังไม่พร้อม” (รวย)
ข้ออ้างของคนที่ไม่อยากรวยคือ “ไม่พร้อม”
- อายุยังน้อย
- รายได้ยังไม่เยอะ
- หนี้สินล้นมือ
- ภาระค่าใช้จ่ายเต็มไปหมด
- ไม่กล้าลงทุน…กลัว
ไม่ผิด…ที่เราควรมั่นใจก่อนที่จะเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง แต่การลงทุนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือ “การลงทุนในเวลา” เพราะเวลาหมดแล้วหมดเลย ลงทุนกับสิ่งใดสิ่งนั้นย่อมส่งผลโดยทันที ฝรั่งถึงใช้คำว่า “Present” ที่เขียนเหมือนกันใน 2 ความหมายคือ “ปัจจุบัน” และ “ของขวัญ” ดังนั้นหากเรามัวแต่รอ รอ รอ และรอ (พร้อม) ก็เท่ากับเรา “เลื่อนเวลารวย” ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ตอกย้ำความสำคัญของเวลาก็คือ
หากเริ่มต้นเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท แล้วนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 10%/ปี
เริ่มตอนอายุ 20 ปี… ในวันที่เขาอายุ 60 ปีจะมีเงิน 5,300,000 บาท
เริ่มตอนอายุ 30 ปี… ในวันที่เขาอายุ 60 ปีจะมีเงิน 1,900,000 บาท
เริ่มตอนอายุ 40 ปี… ในวันที่เขาอายุ 60 ปีจะมีเงิน 680,000 บาท
เริ่มตอนอายุ 50 ปี… ในวันที่เขาอายุ 60 ปีจะมีเงิน 190,000 บาทเท่านั้น…
หรือถ้าอยากมีเงิน 5,300,000 บาทในวัยเกษียณ…หากลงทุนได้ผลตอบแทน 10%/ปี เช่นเดิม
เริ่มตอนอายุ 20 ปี… ลงทุนเพียงเดือนละ 1,000 บาท
เริ่มตอนอายุ 30 ปี… ลงทุนเดือนละ 2,600 บาท
เริ่มตอนอายุ 40 ปี… ลงทุนเดือนละ 7,700 บาท
เริ่มตอนอายุ 50 ปี… ต้องลงทุนมากถึง เดือนละ 27,000 บาท
เห็นมั้ยว่า “ลงทุนก่อน รวยกว่า” จริงๆ เพราะถ้าเรามัวแต่พร่ำบ่นว่ายังไม่พร้อม (รวย) ก็เท่ากับเราถอยห่างโอกาสของความมั่งคั่งมากขึ้นอีก 1 ก้าว
**เคล็ดลับ**
ถ้ามีหนี้…ใช้หนี้ให้หมด (หรือโปะหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง)
ถ้าไม่เคยรู้ว่าสุขภาพการเงินตัวเองเป็นยังไง…จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และสินทรัพย์-หนี้สิน ทั้งหมดที่มี
ถ้ามีเงินน้อย…สมัยนี้เริ่มต้นลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” ได้ขั้นต่ำแค่ 500 บาทต่อเดือน
ถ้าไม่มีความรู้…ให้มีอาชีพ (ผู้จัดการกองทุน) บริหารเงินให้ผ่าน “กองทุนรวม” หรือให้นักวางแผนการเงินคอยดูแลก็ได้
ถ้าไม่มีเวลา…ทำทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติ หักบัญชีลงทุนทุกเดือน ซึ่งมีทั้งหุ้น กองทุนรวม และทองคำ
3. ใช้แต่ “แรงทำเงิน” ไม่ยอมให้ “เงินทำงาน”
อายุการทำงานของเราแต่ละคนเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ปีเท่านั้น (เริ่มทำงาน 25 ปี เกษียณ 60 ปี) ยกเว้นคนบางกลุ่มที่มีศักยภาพ เจ้าของธุรกิจ นายตัวเอง หรือทำอาชีพอิสระ ที่อายุงานอาจนานกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คำถามก็คือเราจะใช้แรงกาย “หาเงิน” ไปตลอด 35 ปีเลยหรือ??
จริงอยู่ที่การทุ่มเทเวลา หยาดเหงื่อ แรงกาย มันสมอง ของเราเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะได้สร้างคุณค่า ผ่านผลงานที่ออกมาแล้ว ยังทำให้เรามี “ทุน” ไปต่อยอดความั่งคั่งอีกด้วย แต่อย่าลืมว่าคนไม่ใช่เครื่องจักร บางครั้งเราอาจต้องการ…
- พักผ่อน
- ท่องเที่ยว
- ทำในสิ่งที่รัก
- มีอิสรภาพทางการเงิน
- หรือแค่…อยากจะ “ขี้เกียจ”
ถ้าเรามัวแต่ “ใช้แรงทำเงิน” จะทำตามความต้องการของตัวเองได้อย่างไร? อีกทั้งตัวเราก็เหนื่อยกับการ “ใช้แรงทำเงิน” มากขนาดนี้ ทำไมเราไม่ใช้ “ให้เงินทำงาน” เพื่อสร้างดอกผลให้กับเราบ้าง?
**เคล็ดลับ**
เริ่มต้นให้เงินทำงานตั้งแต่วันนี้…ผ่าน “สินทรัพย์” ที่สร้างดอก(เบี้ย) ออก(เงินปัน)ผล ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อสังหาฯ ทองคำ ฯลฯ
ง่ายที่สุดก็คือการใช้ “กองทุนรวมดัชนี” (ในเมืองไทยมักเป็นการลงทุนใน SET50 หรือหุ้นที่มีขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง และเอ่ยชื่อไปคนไทยก็รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี ทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ผู้นำด้านพลังงาน โรงพยาบาลชั้นนำ ร้านค้าปลีกติดแอร์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ) มีข้อดีตรงที่
- เข้าใจง่าย (ทุกคนรู้จัก และเข้าใจธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนใน SET50)
- ค่าธรรมเนียมน้อย (ประมาณ 1%) เพราะกองทุนหุ้นทั่วไปมีค่าธรรมเนียมที่มากกว่านั้น
- กระจายการลงทุน (ผ่านอุตสาหกรรมหลักที่หลากหลาย)
- ใช้เงินลงทุนน้อย (โดยทั่วไปเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินเพียง 1,000.- มีบางแห่งเท่านั้นที่เริ่มต้น 500.- หรือไม่ก็ 2,000.-)
รู้แบบนี้แล้วอย่าลืม…ใช้น้อยกว่าที่หา – เริ่มรวย – ด้วยการ “ให้เงินทำงาน” กันดีกว่า…ไม่ว่ารายได้จะมากจะน้อย ก็เริ่มจากเป็นเศรษฐีตัวน้อยได้เหมือนกัน ^___*