"ดอง" อ่อนค่า เมื่อเทียบกับ "บาท" จริงหรือ? (VND weaken against THB?)

ช่วงนี้ได้ยินหลายคนบ่นเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัวทำให้ผลตอบแทนจากตลาดเวียดนามไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ จากต้นปีจนถึงวันที่เขียน ค่าเงินด่องอ่อนค่าเมื่อเทียบกับบาทถึง 7% ไม่เบาทีเดียว หากจะมองกันดูเผินๆสาเหตุของการอ่อนค่าของด่องก็น่าจะเป็นเพราะบาทแข็งค่ามาก

แต่จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นจากปัจจัยสองด้านทั้งจากทางสกุลเงินบาทเอง และ จากเงินด่อง มาเริ่มกันที่ค่าเงินบาทก่อนนะคะ

1. ในช่วงปลายปีที่แล้วหลังจาก โดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นและค่าเงินดอลล่าก็พุ่งตัวสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกาจากที่ทรัมพ์ให้สัญญาในเรื่องสร้างกำแพงที่ชายแดนอเมริกากับแม็กซิโก ปรับปรุงและเปลี่ยนประกันสุขภาพ ObamaCare เป็นระบบใหม่ที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา แต่แปดเดือนต่อมาคำสัญญาเหล่านั้นก็เหมือนเป็นแค่ลมปากเป่า ในขณะที่บารมีทางการเมืองของทรัมพ์นับวันจะถดถอยลงทุกที ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายปรับประมาณการ GDP growth ของอเมริกาลงเป็น 2% จากเดิม 2.5%

2. กลับมามองที่นโยบายการเงินของอเมริกาและยุโรป ทั้ง FED และ ECB ต่างก็ปรับดอกเบี้ยขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ Real Rate หรือดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) กลับมาเป็นบวก ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาทางโยกย้ายเงินออก

3. ในขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (ดอกเบี้ยระยะสั้นลบอัตราเงินเฟ้อ) กลับมีค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับของประเทศในภูมิภาคเอเชีย สร้างความดึงดูดใจต่อนักลงทุนต่างชาติ แห่กันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทยลดลงตามลำดับ

4. เท่านั้นยังไม่พอ ภาคการส่งออกของไทยก็ทำผลงานได้ดีกว่าที่คิด ส่งผลให้ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account or CA) มากขึ้นไปอีก และนี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุปสงค์ของบาทมากขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกมีเงินสกุลต่างประเทศเพื่อจะแลกเป็นบาทมากขึ้นนั่นเอง

ทีนี้มาดูเงินด่องมั่ง การที่บาทแข็งค่าและด่องอ่อนค่าได้สร้างช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างค่าเงินทั้งสอง อย่างไรก็ดีหากดูดีๆแล้วการที่ด่องอ่อนค่าไม่ค่อยจะเกี่ยวกับไทยบาทสักเท่าไหร่ หากแต่มันคือมาตรการควบคุม (ทาง State Bank of Vietnam (SBV) หรือแบงค์ชาติเวียดนามเขาให้เรียกว่า “การจัดการ”) ค่าเงินด่องเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันกับคู่ค้าทั่วโลกและรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ให้มีเสถียรภาพ

ตั้งแต่ 2016 SBV เปลี่ยนมาใช้ระบบการจัดการค่าเงินแบบลอยตัว คือ VND mid-rate สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้โดยอยู่ภายใน 3% trading band และค่าเงินด่องจะถูกคำนวณทุกวันโดยวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. Weighted average ของเงินด่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการซื้อขายกันระหว่างแบงค์เวียดนามในแต่ละวัน
  2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศคู่ค้า หรือประเทศที่มีการค้าขาย ลงทุน กู้หรือให้กู้กับเวียดนาม ซึ่งก็คือ USD, EUR, CNY, JPY, SGD, KRW, TWD และ GBP
  3. การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจมหภาคและเป้านโยบายทางการเงินของรัฐบาลเวียดนาม

โดยรัฐบาลเชื่อว่าการจัดการค่าเงินให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันอย่างนุ่มนวลนั้นดีกว่าเมื่อเทียบกับวิธีเก่าที่ปรับเปลี่ยนค่าเงินครั้งใหญ่เป็นคราวๆไปซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรค่าเงินได้โอกาสสร้างความเสียหายแก่ด่องได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

จะเห็นได้ชัดว่า SBV ชอบความมีเสถียรภาพของค่าเงินโดยจะรักษาค่าเงินด่องให้อยู่ใน band เล็กๆซึ่งจะอ่อนค่าปีละ 1-2% เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในตลาด เนื่องจาก FX reserve ของเวียดนามมีอยู่เพียง USD 42 พันล้าน (คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 10 อาทิตย์เท่านั้น) ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดใน ASEAN ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะเข้าแทรกแซงค่าเงินด่องโดยใช้ FX reserveที่มีอยู่ และเนื่องจาก SBV ก็ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารระบบการเงินของประเทศ และยังต้องรับคำสั่งจากรัฐบาล SBV หรือแบงค์ชาติก็จะไม่ชอบให้ค่าเงินด่องแข็งค่าเนื่องจากจะไปกระทบการส่งออกและการเติบโตทางเศรษกิจของเวียดนาม โดยมาตรการที่ SBV ทำเพื่อดึงค่าเงินให้อ่อนตัวลงคือการเพิ่ม money supply ในตลาด หรือการพิมพ์แบงค์เพิ่มนั่นเอง

จังหวะที่บาทแข็งค่าและด่องอ่อนค่า ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน แต่ก็สร้างผลตอบแทนที่ลดลงให้กับนักลงทุนในหุ้นเวียดนามหลายๆท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนอยากเชิญให้ท่านลองมองการลงทุนในเวียดนามเป็นการลงทุนระยะยาวที่ไม่ควรมี Mark-to-Market เพราะนอกจากลักษณะของหุ้นเวียดนามที่มีความคล่องตัวต่ำแล้ว อย่าลืมนะคะว่าหากจุดประสงค์ในการลงทุนในเวียดนามของท่านคือการได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจเวียดนาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีเดียวแน่ๆ เราคงจะอยู่ในนี้กันอีกไกล มามองยาวกันดีกว่าค่ะ

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/notes/vietnam-investment-memo-by-kanchuya/vnd-weaken-against-thb