เรื่องเล่า อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนาม ที่คุณยังไม่รู้

วันนี้อยากจะเล่าให้ฟังถึง ประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงกันเมื่อเร็วๆนี้ คือเรื่องกฏหมายใหม่ของรัฐบาลเวียดนาม (Decree 116) ว่าด้วย เงื่อนไขสำหรับผู้ผลิต, ประกอบและนำเข้ารถยนต์รวมทั้งเงื่อนไขในการรับประกันและบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ กฏหมายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยเริ่มจากวันที่ 1 มกราคม 2018 เนื้อหาของประกาศที่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผู้นำเข้ารถยนต์เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ฟอร์ด มิตซูบิชิ คือการที่ผู้นำเข้ารถยนต์ (Completely Build Unit – CBU) ต้องผ่านมาตรการตรวจสอบคุณภาพจากแหล่งผลิตเช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ทั้งยังต้องถูกตรวจคุณภาพอีกรอบโดยกรมตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ของเวียดนาม นอกจากนั้นรถนำเข้าแต่ละล๊อตจะต้องได้รับการตรวจสอบการปล่อยมลพิษ (Emission) และตรวจความปลอดภัยในการขับขี่ (Technical Safety) โดยวิธีสุ่มตรวจ เงื่อนไขเหล่านี้เองคือสาเหตุที่ทำให้ค่ายรถยนต์ใหญ่เช่นโตโยต้าและฮอนด้าออกมาประกาศว่าจะหยุดการส่งออกรถจากไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไปเวียดนามทั้งหมดในทันทีเนื่องจาก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกฏหมายใหม่นั้นสูงถึง USD 10,000 และอาจใช้เวลาร่วม 2 เดือนในการตรวจสอบคุณภาพตามที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเงื่อนไขไว้

การประกาศกฏหมายใหม่ของรัฐในครั้งนี้สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนาม ส่งผลกระทบไปถึงบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะโตโยต้าที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 23% และประเทศผู้ส่งออกรถยนต์เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ในปี 2017 โตโยต้าได้หยุดสายการผลิตรถรุ่น Fortuner SUV ที่จังหวัด Vinh Phuc และฮอนด้ายกเลิกการผลิตรถรุ่น Civic ในประเทศเวียดนาม ทั้งสองค่ายหันไปเพิ่มกำลังการผลิตนอกเวียดนามเพื่อหวังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำข้อตกลงลดภาษีนำเข้ารถยนต์ (Completely Built Unit หรือ CBU) จากประเทศอาเซียนเหลือ 0% และจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2018 บริษัทรถยนต์ข้ามชาติทั้งหลายจึงหันมาปิดสายการผลิตรถรุ่นยอดฮิตในเวียดนามและไปเพิ่มกำลังการผลิตในฐานการผลิตเดิมคือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

และเนื่องจากการนำชิ้นส่วนเข้าไปประกอบในประเทศเวียดนามยังจะต้องเจอภาษีนำเข้าที่สูงถึง 30% – 45% ซึ่งได้มีการคำนวณกันว่าหากภาษีนำเข้าของ Completely Build Units จากประเทศในอาเซียนลดเหลือ 0% ราคารถยนต์นำเข้าอาจจะถูกกว่ารถที่ผลิตในประเทศถึง 20% เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากจากต่างประเทศซึ่งรัฐบาลยังคิดภาษีในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับภาษีนำเข้า 0% ของ Completely Build Units จากประเทศในอาเซียน นี่คือสาเหตุว่าทำไมบริษัทรถยนต์จึงย้ายการผลิตออกจากเวียดนามหลังจากมีการประกาศสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าของ CBU

จากการลดกำแพงภาษีนำเข้าสำหรับรถ CBU เหลือ 0% มาถึงการออกมาตรการกีดกันทางภาษีโดยทำให้ยาก และแพงขึ้น สำหรับผู้นำเข้าที่จะมีโอกาสได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น สร้างความสับสนทั้งเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายกับบริษัทรถยนต์ข้ามชาติเป็นอันมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่โตโยต้าและฮอนด้าออกมาประกาศกร้าวจะหยุดส่งรถยนต์นำเข้าไปเวียดนามเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดธุรกิจก็ยังต้องดำเนินต่อไป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คงจะพออนุมานได้ว่าในอนาคตบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ฮอนด้า มิซูบิชิ หรือ ฟอร์ดคงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลับมาเริ่มตั้งสายการผลิตที่เวียดนามใหม่ นั่นหมายความว่าเงินลงทุนของบริษัทรถยนต์ข้ามชาติเหล่านี้ก็จะไหลออกจากไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียมาสู่เวียดนาม

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟัง

อันที่จริงแล้วเรื่องมันยาว จึงจะขอเล่าถึงที่มาที่ไปและสาเหตุของการออก Decree 116 ในบทความนี้และจะคุยถึงผลกระทบต่อบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศ (Truong Hai Auto or THACO) และเรื่องราวของบริษัทในบทความต่อไป

ขอเริ่มจากข้อตกลงระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อลดกำแพงภาษีนำเข้าจาก 40% เป็น 30% ในปี 2016 และได้ลดเหลือ 0% ซึ่งมามีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2018 ข้อตกลงฉบับนี้ให้ประโยชน์กับประเทศผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกเช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียและบริษัทรถยนต์ข้ามชาติที่มีฐานการผลิตในอาเซียน

ในขณะเดียวกันประเทศกำลังเติบโตเช่นเวียดนามที่อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศยังไม่เข้มแข็งพอที่จะสามารถรองรับการส่งออกได้ หากแต่มีกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% (จากความต้องการรถยนต์ภายในประเทศในปี 2015 ที่ 3แสนคันจะเพิ่มเป็น 9แสนคันในปี 2025) จะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้ารถยนต์ (Net Importer)ไปโดยปริยาย

หลังจากข้อตกลงลดกำแพงภาษีถูกประกาศออกมา ค่ายรถทั้งญี่ปุ่น อเมริกาและยุโรปต่างวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตรอไว้สำหรับปี 2018 ทางฝั่งผู้บริโภคชาวเวียดนามพอรู้ว่ากำแพงภาษีจะลดลงเป็น 0% ในปี 2018 ก็เก็บเงินไม่ซื้อรถในปี 2017 เพื่อรอไปซื้อในปี 2018 ด้วยคาดว่าราคารถจะลดลงหลังจากมาตรการภาษีถูกนำมาใช้ ส่งผลให้ยอดขายรถปี 2017 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 271,834 คันในปี 2016 เหลือ 250,619 คันในปี 2017 คิดเป็น -8% (ค่อยมากระเตื้องขึ้นหลังจาก Decree 116 ถูกประกาศในเดือนตุลาคม 2017)

สถานการณ์มันก็ควรเป็นไปตามนั้นแต่หากศึกษาลงไปลึกกว่านั้นแล้วอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของเวียดนามนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมนำร่องของประเทศ รัฐบาลหวังว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศจะเปลี่ยนสถานะของประเทศเวียดนามจากผู้ผลิตสินค้าพื้นฐานไปสู่ผู้ผลิตสินค้าเพิ่มคุณค่า (Value-Added Products) และยังใส่แผนนี้ไว้ในแผนพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดนี้ หลังจากรัฐบาลได้ทำข้อตกลงลดกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์จากกลุ่มประเทศอาเซียนเหลือ 0% รัฐบาลก็สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าหาทางที่จะบรรเทาการเติบโตอย่างมีนัยยะของรถยนต์นำเข้า

ส่วนทางผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเช่น THACO ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ถึง 41.5% ในปี 2016 ถือเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ในเวียดนามทั้งรถเก๋ง รถtruck และรถบัส ก็มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศอะไรออกมาจากรัฐบาลที่เป็นชิ้นเป็นอัน

THACO มั่นใจถึงขนาดประกาศเพิ่มกำลังการผลิตทั้งรถเก๋ง (Passenger Cars) 83.3% และรถบัส (Commercial Vehicles) อีก 4 เท่าในต้นปี 2017 นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2018 THACO แจ้งว่าบริษัทได้รับเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของ BMW & Mini ในเวียดนามและมีแผนจะลงทุนสร้างโชว์รูม BMW 15 แห่งเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

นอกเหนือจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าในต้นเดือนกันยายน 2017 ก่อน Decree 116 จะประกาศเพียงไม่ถึงเดือน Vin Group (VIC) ก็ออกมาประกาศว่าบริษัทได้เริ่มเฟสแรกของการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่ Hai Phong เมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนามและจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น USD3.5 พันล้าน โดยจะเริ่มผลิตรถคันแรกได้ภายใน 24 เดือน และมีแผนจะผลิตรถยนต์ 500,000 คันภายในปี 2025 ท่ามกลางความกังขาของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ว่าจะไปรอดหรือไม่ ช่างเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเหลือเกิน

หากไม่มั่นใจจริงๆว่ารัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศและไม่ปล่อยให้ผู้ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้ง THACO และ VIC คงจะไม่กล้าลงทุนมหาศาลขนาดนี้

ทั้งนี้นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศต่างก็เข้ามาวิพากวิจารณ์ การลดกำแพงภาษีนำเข้า CBU ให้เหลือ 0% ในกลุ่มประเทศอาเซียนกันอย่างเมามันส์ว่า จะเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและรัฐบาลควรออกนโยบายเพื่อเกื้อหนุนผู้ผลิตในประเทศอย่างน้อยก็ควรลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ ตามที่กล่าวมาข้างต้นหากภาษีนำเข้า CBU เหลือ 0% ในขณะที่ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ยังคงอยู่ที่เดิม จะทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีต้นทุนที่สูงกว่าผู้นำเข้า CBU เหตุก็เพราะ Localization Rate ของผู้ผลิตรถเก๋ง (Passenger Cars) ในประเทศยังอยู่ต่ำกว่า 20% ส่วนมากผู้ผลิตจะนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มาจากต่างประเทศเนื่องจากยังไม่สามารถผลิตได้เอง จุดนี้เองที่สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ผลิตในประเทศ

แต่แล้วในที่สุดในเดือนธันวาคม 2017 รัฐบาลก็ได้ออกประกาศอีกฉบับเพื่อลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ให้เหลือ 0% สำหรับรถที่มีเครื่องยนต์ 2,000cc หรือรถยนต์ 9 ที่นั่งลงไปซึ่งนับเป็น 70% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ประกาศนี้แก้ปัญหาต้นทุนที่เหลื่อมล้ำของบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศและต่างประเทศในขณะที่ Decree 116 แก้ความกังวลเรื่องจำนวนรถนำเข้าจะเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด เพราะไปกีดกันเขาโดยใช้วิธีเพิ่มค่าใช้จ่ายและบวกเวลาในดำเนินงานแทน

ทั้ง Decree 116 และประกาศลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ให้เหลือ 0% ที่รัฐบาลประกาศออกมาเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศและต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ต่อไปโดยมุ่งหวังที่จะกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไปสู่ประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ THACO และ VIC ที่ดูเหมือนจะรู้ในสิ่งที่บริษัทรถยนต์ข้ามชาติไม่รู้

แน่นอน อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวียดนามยังไปได้อีกไกลมากแต่ดูเหมือนมวยยกนี้มีแม่ยกเป็นรัฐบาลเวียดนาม โตโยต้าก็โตโยต้าเถอะ คงจะยากที่จะเอาชนะศึกครั้งนี้ได้

หมายเหตุ : THACO นั้นเป็นบริษัทนอกตลาดที่มีความน่าสนใจมากทีเดียว เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการจนครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด เราจะเห็นรถบัส และรถtruck ยี่ห้อ THACO ในทุกจังหวัดในเวียดนาม เชื่อหรือไม่ว่าบริษัทเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วนี่เอง หากมีโอกาสจะขอเล่าความเป็นมาและความน่าสนใจของบริษัทให้ฟังค่ะ อ้อ มีข่าวลือว่า THACO อาจจะ IPO ปีนี้ (แต่ก็มีข่าวลือแบบนี้แทบทุกปีนับตั้งแต่ 2011 แล้ว)

โดย VIETNAM INVESTMENT MEMO BY KANCHUYA