ปี 2020 ทั่วโลกต่างเจอวิกฤตโควิดเล่นงานเศรษฐกิจหนัก และนี่เป็นการบีบให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องอัดงบช่วยเหลือขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการแจกเงินให้คนตกงาน
สหรัฐถือเป็นประเทศที่ใช้ปริมาณเงินสู้วิกฤตโควิดมากที่สุดในโลก และดูเหมือนจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีระดับหนึ่ง โดย GDP ที่ติดลบถึง -31% QoQ ในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ฟื้นแรงพลิกกลับ +33% QoQ ทันทีในไตรมาสถัดมา แต่เรื่องนี้ก็ทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณ (ใช้จ่าย > รายได้) ปี 2020 ถึง -20% ของ GDP มากที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยตัวเลขขาดดุลหนักและอำนาจทางการเมืองตกมาอยู่ในมือของพรรค Democrat ทำให้รัฐบาล Joe Biden ใช้โอกาสนี้เตรียมเสนอปรับขึ้นภาษีครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายสุด Classic ว่า “เก็บภาษีคนรวยมาทำให้ชีวิตคนรายได้น้อยดีขึ้น”
รายละเอียดเบื้องต้นที่คาดการณ์ว่าพรรค Democrat จะเสนอขึ้นภาษี เราขอแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ ภาษีฝั่งบุคคลและภาษีฝั่งบริษัท
1. ภาษีบุคคล
– ปรับขึ้นภาษีกำไรและเงินปันผลจากการลงทุน (long-term capital gains and dividends) สำหรับคนที่มีรายรับเกิน 1 ล้านดอลลาร์ ขึ้นเป็น 39.6% (จากเดิม 20%) เรียกได้ว่ากำไรจากหุ้นรัฐขอแบ่งเกือบ 40%
– ปรับขึ้นภาษีรายได้สำหรับคนที่มีรายรับเกิน 4 แสนดอลลาร์ ขึ้นเป็น 39.6% (จากเดิม 37%)
2. ภาษีบริษัท
– ปรับขึ้นภาษีกำไรเป็น 28% (จากเดิม 21%) ซึ่งส่วนนี้รัฐบาล Trump เคยปรับลดภาษีในปี 2017 ทำให้กำไรบริษัทสหรัฐในตลาดหุ้นโตระเบิด แน่นอนว่าถ้ามีการปรับขึ้นจริง กำไรบริษัทในตลาดหุ้นจะกระทบหนัก
– ปรับขึ้นภาษีกำไรบริษัทย่อยในต่างชาติที่มีบริษัทแม่สัญชาติสหรัฐเป็น 21% (จากเดิม 10.5%) ส่วนนี้มีชื่อว่า Global Intangible Low Tax Income (GILTI) เพื่อเอามาเน้นจัดการบริษัท Big Tech ที่มักเก็บกำไรไว้ในบริษัทย่อยต่างแดน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะโดนคิดภาษีเพิ่มขึ้นด้วย
– เก็บภาษีเพิ่ม 10% สำหรับบริษัทสหรัฐที่ไปตั้งฐานการผลิตหรือบริการในต่างประเทศ และนำสินค้าหรือบริการนั้นกลับมาขายให้คนสหรัฐ ซึ่งนี่คือการ Deglobalization ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าทั้งสินค้าและบริการ
– ในทางตรงข้ามกัน จะลดภาษี 10% ให้บริษัทที่ย้ายภาคการผลิตกลับมาในสหรัฐ ตามนโยบาย “Made in America” ของ Biden
อย่างที่เราบอกไปตอนแรกว่าเป้าหมายการขึ้นภาษีครั้งนี้คือ เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนที่จะช่วยเหลือก็มีเช่น
– ลดภาษีบุคคลให้ผู้ที่มีลูกหรือคนแก่ที่ต้องดูแล ประมาน 8,000 ดอลลาร์ต่อลูกหรือคนแก่ 1 คน (มีหลายคนต้องดูแลก็บวกเพิ่มไป)
– ลดภาษีให้ 15,000 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก
– ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ต้องจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยและค่าสาธารณูปโภคเกิน 30% ของรายได้
– ขยายโครงการ Obamacare ช่วยให้คนรายได้น้อยสามารถซื้อประกันสุขภาพได้
แม้การปรับภาษีครั้งนี้ดูเหมือนจะช่วยให้ความเป็นอยู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยดีขึ้น แต่ก็ตีความได้ว่า Democrat หวังเอาใจฐานเสียงตัวเองเช่นเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ Trump มีนโยบายเอาใจฐานเสียง Republican ชัดเจนเช่นกัน
เรียกได้ว่าตอนนี้คือยุคนโยบายประชานิยมนั่นเอง (ทีใครทีมัน)
เราน่าจะได้เห็นรายละเอียดการปรับภาษีชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายนที่รัฐบาล Biden มีกำหนดแสดงแผนงบประมาณปี 2022 และจะเริ่มส่งให้สภาอนุมัติในเดือนพฤษภาคม ซึ่งแน่นอนว่า Republican จะค้านกันแหลก (ส่วนหนึ่งพรรคนี้ไม่ชอบการขึ้นภาษี อีกส่วนก็เพราะเป็นนโยบายฝ่ายตรงข้ามจะยังไงก็ขัดไว้ก่อน) แต่ด้วยการที่ Democrat ครองอำนาจเบ็ดเสร็จในทำเนียบขาว, ส.ส., ส.ว.จึงมีแนวโน้มที่แผนขึ้นภาษีจะได้รับอนุมัติและได้ใช้จริงในปีหน้า
นอกจากนี้ยังเริ่มมีการเสนอไปถึงการเก็บภาษีทรัพย์สิน (Wealth tax) คิดภาษีจาก % ทรัพย์สิน ซึ่งกลุ่มคนรวยจะถูกกระทบหนักมาก แต่ก็ยากที่จะผ่านสภาได้
การขึ้นภาษีหลังงบประมาณขาดดุลหนักคือ template ที่หลายประเทศมักเลือกใช้ โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากกลุ่มคนรวย ซึ่งมักตามมาด้วยการพยายามย้ายทรัพย์สินออกนอก asset ที่เสียภาษีในอัตราสูงหรือกระทั่งย้ายเงินออกนอกประเทศ โดยถ้าเกิดขึ้นจริงจะกระทบกับตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ต้องบอกว่าแผนการรีดภาษีมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก หลังจากรัฐบาลต่างใส่เงินช่วยเหลือเข้ามาพร้อมๆกันในปีที่แล้ว และ “ประเทศไทย” ก็มีโอกาสจะเป็นหนึ่งในนั้น
ในฐานะนักลงทุนถ้าเราปรับ portfolio ให้เหมาะสม คงช่วยลดผลกระทบไปได้เยอะ (หรืออาจได้ประโยชน์ด้วย)
BottomLiner
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/4377062468975520