ต้องเข้าใจก่อนว่ากระบวนการผลิตชิป 1 อันมีขั้นตอนซับซ้อนมากในโรงงาน โดยเป็นการเปลี่ยนแผ่นซิลิคอน (วัตถุดิบตั้งต้น) ให้กลายเป็นชิปคุณภาพสูงนำไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์หรือมือถือได้ จะใช้ระยะเวลาในการผลิตทั้งหมดประมาณ 3 – 4 เดือน
กระบวนการดังกล่าวต้องการเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องทำความสะอาดแผ่นซิลิคอน เครื่องตรวจสอบจุดบกพร่อง และไฮไลท์อยู่ที่ “เครื่องฉายแสงลงบนแผ่นชิป” ที่เป็นตัวช่วยให้โรงงานสามารถผลิตชิปขนาดเล็กลง (ประสิทธิภาพสูงขึ้น) สำเร็จ ซึ่งเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการผลิตในอนาคตมีเพียงบริษัทเดียวที่สร้างได้ บริษัทดังกล่าวก็คือ “ASML” ตัวแทนอุตสาหกรรมไฮเทคจากเนเธอร์แลนด์
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเครื่องฉายแสงลงบนแผ่นชิปมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากเครื่องจักรนี้เป็นตัวกำหนดว่าชิปรุ่นใหม่จะสามารถผลิตให้เล็กลงได้หรือไม่
3 บริษัทเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดคือ ASML, Canon, Nikon (2 เจ้าหลังก็คือบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตกล้องถ่ายรูปนั่นเอง)
แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ภาพยิ่งชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเทคโนโลยี EUV ที่จำเป็นต่อเครื่องฉายแสงของการผลิตชิปให้ขนาดเล็กลง มีเพียง ASML เท่านั้นที่สามารถคิดค้นสำเร็จ และพร้อมสร้างเครื่องจักรขายให้โรงงานชิปรายใหญ่อย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) นำไปทดสอบได้ก่อน
เมื่อสถานการณ์ชัดเจนว่าเครื่องจักรนี้ใช้งานได้จริง จำเป็นต่อกระบวนการผลิตชิปในอนาคต และมี ASML เท่านั้นที่สามารถสร้างได้ บริษัทจึงเริ่มแผนการดันราคาขายเครื่องจักรทันที !
ช่วงปี 2018 บริษัทตั้งราคาเครื่องจักร EUV เครื่องละ 3,700 ล้านบาท แต่กลับบอกว่าราคานี้บริษัทยังขายขาดทุนอยู่ ! ขอขึ้นราคาเป็น 4,800 ล้านบาทในปี 2020 และไม่พอบอกราคาปีนี้ขอขึ้นเป็นเครื่องละ 6,000 ล้านบาท ตามคุณภาพที่เพิ่มขึ้นของมัน (BottomLiner ลองประเมินดูแล้วอีกไม่นานเจ้าเครื่อง EUV ราคาจะพุ่งไปถึง 10,000 ล้านบาทเลย !!)
ราคาเครื่องจักรขึ้นเอา ๆ แล้วอย่างนี้โรงงานชิปยังจะยอมซื้อใช่ไหม ?
เรื่องนี้ต้องมองไปที่ลูกค้าปลายทางของ Supply Chain ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราที่ซื้อมือถือหรือกลุ่มผู้บริการ Data Center ที่ซื้อชิปคุณภาพสูงไปประมวลผลและเก็บข้อมูล
ตราบใดที่ผู้บริโภคต้องการมือถือคุณภาพสูงขึ้น เช่น ใช้งานเครือข่าย 5G ได้ หรือถ่ายรูปชัดสุด ๆ (กล้องหลัง 5 ตัว) ย่อมต้องการชิปคุณภาพสูงขึ้นเพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานดังกล่าว เช่นเดียวกันกับ Data Center ที่ต้องปรับตัวเข้ายุคธุรกิจ Big Data ต้องการชิปตัวโหด ๆ มาประมวลผลและเก็บข้อมูลที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมหาศาลในอนาคตอันใกล้
เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคปลายทางยังมีแนวโน้มจะจ่ายแพงขึ้นเพื่อได้ชิปคุณภาพสูง หรือมองไปถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ต่างเร่งแข่งขันกันทางเทคโนโลยี สถานการณ์ทั้งหมดเป็นตัวเร่งยอดขายให้ ASML อีกทาง
รายได้ของ ASML
ปี 2018 : 12,537 ล้านดอลลาร์
ปี 2019 : 13,258 ล้านดอลลาร์
ปี 2020 : 17,076 ล้านดอลลาร์
บริษัทประกาศรายได้ไตรมาส 1 ปี 2021 โต +89% YoY 5,132 ล้านดอลลาร์ Gross Margin อยู่ที่ 53.9%
บริษัทให้เหตุผลรายได้ที่โตมากในไตรมาสนี้ มาจากความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกกลุ่มตลาดทั้ง 5G, AI และ High Performance Computing ทำให้การจองเครื่องผลิตชิปในไตรมาสแรกอยู่ที่ 5,687 ล้านดอลลาร์ เป็นเครื่อง EUV ถึง 2,783 ล้านดอลลาร์ (ประมาณครึ่งนึง) และบริษัทคาดการณ์รายได้ทั้งปี 2021 นี้จะเติบโตสูงถึง +30%
BottomLiner
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/4635252389823192